Bariatric surgery การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน

Bariatric Surgery เป็นการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วน การผ่าตัดนี้จะช่วยลดขนาดของกระเพาะอาหารหรือลดการดูดซึมสารอาหาร ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยอิ่มเร็วขึ้นและรับประทานอาหารได้น้อยลง

การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนมีหลายรูปแบบ โดยอาจช่วยลดน้ำหนักได้ราว 15-30 เปอร์เซ็นต์จากน้ำหนักเดิม แพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้เมื่อผู้ป่วยรคอ้วนนั้นอยู่ในขั้นรุนแรงและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ Bariatric Surgery ยังอาจใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินด้วย

bariatric surgery

Bariatric Surgery ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง ?

หลัก ๆ แล้ว การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารมักใช้รักษาโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติและบรรเทาปัญหาสุขภาพจากบางโรคที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่มากเกิน ได้แก่

  • โรคอ้วนขั้นที่ 3 โดยอิงจากผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI เกิน 40
  • โรคอ้วนขั้นที่ 2 หรือผู้ที่มีค่า BMI ระหว่าง 35-39 และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดรุนแรง
  • โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนสนใจการการผ่าตัดนี้เพื่อควบคุมน้ำและรูปร่าง ซึ่งแพทย์มักจะไม่แนะนำเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

Bariatric Surgery มีกี่แบบ ?

การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักมีด้วยกัน 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

1. ผ่าตัดใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร (Laparoscopic Adjustable Gastric Band)

วิธีนี้เป็นการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปยังกระเพาะอาหาร โดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นห่วงเพื่อรัดบริเวณส่วนบนของกระเพาะอาหาร ข้อดีของวิธีนี้คือใช้เวลาพักฟื้นน้อยและมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบอื่น โดยห่วงนี้สามารถปรับขนาดของช่องทางเดินอาหารในส่วนที่มีการรัดห่วง อีกทั้งยังถอดออกได้เมื่อสิ้นสุดการรักษาหรือเพื่อเปลี่ยนวิธีการรักษาหากวิธีนี้ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักที่ลดลงอาจไม่มากเท่าวิธีการอื่น และการใส่ห่วงในระยะยาวอาจทำให้ผนังด้านนอกกระเพาะอาหารสึกกร่อนได้

2. ผ่าตัดเชื่อมลำไส้เล็กกับกระเพาะอาหาร (Gastric Bypass)

แพทย์จะเย็บกระเพาะอาหารส่วนบนให้เป็นกระเปาะหรือถุงอาหาร จากนั้นจะผ่าตัดเชื่อมต่อกระเปาะส่วนดังกล่าวเข้ากับลำไส้เล็ก วิธีนี้จะช่วยลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ทำให้อาหารถูกดูดซึมน้อยและลดปริมาณแคลอรี่ที่จะได้รับ โดยการผ่าตัดนี้จะช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าวิธีการรัดกระเพาะอาหาร แต่ในขณะเดียวกัน การได้รับแคลอรี่ลดลงก็รวมถึงการได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ลดลงด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้เล็กได้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้สามารถผ่าตัดแก้ไขกระเพาะอาหารให้กลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ขั้นตอนในการผ่าตัดอาจมีความซับซ้อนและทำได้ยาก

3. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Gastric Sleeve)

แพทย์จะผ่าตัดนำขนาดกระเพาะอาหารเหลือให้เพียงกระเปาะยาวขนาดเล็กเท่านั้น โดยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยในการลดน้ำหนักได้มากกว่าการใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร แต่ก็อาจกระทบกับเรื่องการดูดซึมวิตามินและสารอาหารอื่น ๆ นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อเสียใหญ่คือเมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้วจะไม่สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหารให้กลับมามีขนาดเท่าเดิมได้ เนื่องจากเป็นการตัดกระเพาะอาหารออกไปอย่างถาวร รวมถึงวิธีนี้ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสูงกว่าการใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร

4. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบต่อลำไส้เล็ก (Duodenal Switch)

Duodenal Switch เป็นการผ่าตัดแบบ Gastric Sleeve และ Gastric Bypass ร่วมกัน โดยแพทย์จะทำทั้งการตัดลดขนาดของกระเพาะอาหารออก ขณะเดียวกันก็จะตัดและเย็บกระเพาะอาหารให้เชื่อมกับลำไส้เล็กเพื่อลดการดูดซึมพลังงาน ซึ่งวิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ลดน้ำหนักได้มากที่สุด แต่ก็เสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารมากกว่าการผ่าตัดแบบอื่น

สิ่งที่ควรทำก่อนและหลังเข้ารับการรักษาด้วย Bariatric Surgery

ควรเตรียมตัวเมื่อต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ดังนี้

  • หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ แพทย์จะให้งดสูบบุหรี่ 6 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ไม่มีน้ำตาล และย่อยง่าย อย่างผงโปรตีนผสมน้ำ รวมทั้งแพทย์อาจปรับยาในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
  • แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและเอื้อต่อการผ่าตัด
  • ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่อีกครั้งถึงโรคประจำตัว ยาและอาหารที่แพ้ เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ควรพาญาติหรือเพื่อนไปด้วย เพราะฤทธิ์ของยาสลบและการเสียเลือดอาจทำให้ไม่สามารถเดินทางหรือช่วยเหลือตนเองภายหลังการผ่าตัดได้

หลังจากการผ่าตัด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยเดินหรือทำกิจกรรมเบา ๆ อยู่เสมอเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก หากมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องอาหารการกิน แพทย์และเจ้าหน้าที่อาจแนะนำให้รับประทานผงโปรตีนผสมน้ำติดต่อกัน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนติดต่อกันราว 1-3 เดือน เพื่อลดการทำงานของกระเพาะอาหาร ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเสริมเพื่อฟื้นฟูร่างกายและป้องกันการขาดสารอาหาร

ผลข้างเคียงจาก Bariatric Surgery

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดแผล ท้องเสีย มีเลือดออกที่รอยเย็บบริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กรั่ว เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และติดเชื้อ เป็นต้น บางกรณีอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและอันตรายได้ ซึ่งหากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ มีอาการบวมแดงบริเวณแผลผ่าตัด หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ด้วยขนาดของกระเพาะอาหารที่เล็กลงและมีการดูดซึมที่น้อยลง ในระยะยาวผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางชนิดจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ อย่างภาวะเลือดจาง โรคกระดูกพรุน และนิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาและอาหารเสริมที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องหลังเข้ารับการผ่าตัด

สุดท้ายนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต แม้จะรับประทานอาหารได้น้อยลงเนื่องจากขนาดของกระเพาะอาหารที่เล็กลงแล้ว แต่ก็ไม่ควรละเลยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจช่วยฟื้นฟูความเสียหายของร่างกายที่เกิดจากโรคได้ด้วย