ภาวะเลือดออกในข้อ (Hemarthrosis)

ความหมาย ภาวะเลือดออกในข้อ (Hemarthrosis)

Hemarthrosis หรือภาวะเลือดออกในข้อ เป็นภาวะที่หลอดเลือดภายในข้อต่อได้รับความเสียหายทำให้มีเลือดออกหรือมีเลือดคั่งบริเวณข้อ มักเกิดที่ข้อต่อบริเวณหัวไหล่หรือหัวเข่า ผู้ที่มีภาวะ Hemarthrosis จะมีอาการเจ็บปวด บวม และช้ำบริเวณข้อ รวมถึงอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ภาวะ Hemarthrosis มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับการบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding Disorders) เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุดด้วย

ภาวะเลือดออกในข้อ (Hemarthrosis)

อาการ Hemarthrosis

ระดับความรุนแรงของภาวะ Hemarthrosis มีตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง โดยอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นถ้ามีเลือดออกในปริมาณมาก อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • รู้สึกอุ่นบริเวณข้อ
  • รู้สึกปวดบริเวณข้อ หรือเสียวแปลบในข้อ
  • ผิวหนังบริเวณข้อบวมแดง มีรอยฟกช้ำ เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • รู้สึกข้อตึง ฝืดแข็ง ไม่สามารถยืดหรืองอได้เต็มที่

ภาวะ Hemarthrosis จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Hemarthrosis ได้ง่าย

สาเหตุของ Hemarthrosis

ภาวะ Hemarthrosis สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น

  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างโปรตีนที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียขั้นรุนแรงที่อาจเกิดภาวะ Hemarthrosis มากถึง 1–2 ครั้ง/สัปดาห์
  • การรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) 
  • มีภาวะขาดวิตามินเค (Vitamin K)
  • เป็นโรคไตหรือโรคตับขั้นรุนแรง

ภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะ Hemarthrosis

  • อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณข้อ เช่น กล้ามเนื้อเอ็นเคล็ด แพลง หรือฉีกขาด ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
  • การเป็นโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Septic Arthritis) ที่มักส่งผลให้ข้อต่อกระดูกเสื่อมสภาพและเกิดการฉีกขาดของกระดูกอ่อนหรือหมอนรองกระดูก
  • การขยายตัวของเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง (Neoplasms) ที่อาจกีดขวางหลอดเลือดหรือขยายตัวเบียดหลอดเลือดจนหลอดเลือดฉีกขาด แล้วทำให้เกิดภาวะ Hemarthrosis
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบริเวณข้อ โดยเฉพาะหัวเข่า

การวินิจฉัย Hemarthrosis

การวินิจฉัย Hemarthrosis ในเบื้องต้น แพทย์จะถามประวัติทางการแพทย์ อาการบาดเจ็บล่าสุด ประวัติการเป็นโรคฮีโมฟีเลียของคนในครอบครัว และตรวจบริเวณข้อที่มีอาการเจ็บปวด บวม หรือฟกช้ำ 

รวมถึงมีการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดภาวะ Hemarthrosis และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เช่น 

  • การเอกซเรย์ (X-Rays) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูความเสียหายของเนื้อเยื่อหรือกระดูกอ่อน 
  • การเจาะระบายน้ำในข้อ (Joint Aspiration) โดยเจาะเข็มเข้าไปที่บริเวณข้อเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำในข้อไปตรวจ โดยน้ำในข้อที่อาจบ่งบอกว่าเกิดภาวะ Hemarthrosis มักจะมีสีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาล อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเป็นโรคข้อเสื่อมอยู่แล้ว แพทย์จะไม่ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณของโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

การรักษา Hemarthrosis

วิธีการรักษา Hemarthrosis ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ด้วย ในกรณีที่สาเหตุการเกิดภาวะนี้มาจากอาการบาดเจ็บทั่วไป แพทย์จะเน้นการรักษาไปที่การบรรเทาความเจ็บปวดและลดอาการบวม ในกรณีที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ การรักษาจะเน้นไปที่การหยุดการไหลของเลือดเป็นหลัก

การรักษาเบื้องต้น

การรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการปฐมพยาบาลเพื่อลดอาการบาดเจ็บและอาการบวมตามหลักการ RICE ซึ่งย่อมาจาก 

  • Rest การพัก ผู้ป่วยจะต้องงดการเคลื่อนไหวของข้อที่เกิดอาการบาดเจ็บโดยใช้ไม้ค้ำหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงแทน
  • Ice การประคบเย็น
  • Compression การใช้ผ้ายืดพันยึดรอบบริเวณที่บาดเจ็บ 
  • Elevation การยกบริเวณที่บาดเจ็บขึ้นสูง

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจจะจ่ายยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้เลือดแข็งตัวในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) จะช่วยยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือด แต่ยากลุ่มที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ปัจจุบันมีการรักษาเชิงป้องกันโดยฉีดโปรตีนแฟคเตอร์ที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว (Prophylactic factor replacement therapy) โดยจะให้ในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

ผู้ที่มีภาวะ Hemarthrosis ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดรับประทานเอง เพราะยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองหลายชนิดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลได้ยากขึ้น เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่มีภาวะ Hemarthrosis รุนแรง หรือใช้เมื่อวิธีการรักษาอื่นไม่ได้ผล โดยอาจเป็นการผ่าตัดเยื่อหุ้มข้อ (Synovectomy) หรือการผ่าตัดใส่ข้อเทียมเพื่อช่วยลดความเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก และสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายและเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อข้อ การทำกายภาพบำบัดอาจใช้เป็นวิธีรักษาเดี่ยว หรือใช้เป็นวิธีรักษาร่วมหลังจากการเจาะระบายน้ำในข้อหรือการผ่าตัดก็ได้ 

นอกจากนี้ยังมีวิธีบำบัดเพื่อลดความเจ็บปวดด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) แต่ไม่นิยมใช้ในการรักษาภาวะนี้

ภาวะแทรกซ้อนของ Hemarthrosis

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Hemarthrosis เกิดซ้ำหรือรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับข้อในระยะยาวได้ เพราะเมื่อมีเลือดออกในข้อจะส่งผลให้เนื้อเยื่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อเอ็น และกระดูกอ่อนในข้อเกิดความเสียหาย เนื้อเยื่อภายในข้ออาจกลายเป็นพังผืดซึ่งจะส่งผลในระยะยาวทำให้เคลื่อนไหวบริเวณข้อไม่สะดวก  

อีกทั้งถ้าเกิดภาวะเลือดออกในข้อขึ้นหนึ่งครั้งแล้วจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกในข้อซ้ำบริเวณเดิมได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อไม่แข็งแรง ปวดเมื่อยตามข้อแม้แต่ตอนอยู่นิ่ง ๆ ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้สะดวก และอาจนำไปสู่การเป็นโรคข้อเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากกระดูกอ่อนถูกทำลายด้วย

การป้องกัน Hemarthrosis

เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิด Hemarthrosis มักมาจากการบาดเจ็บ การเกิดอุบัติเหตุ หรือจากภาวะแทรกซ้อนของโรคฮีโมฟีเลีย การป้องกันจึงเน้นไปที่การระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณข้อ และการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเลือดออกในผู้ที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย เช่น

  • ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอและควบคุมน้ำหนักไม่ให้อยู่ในภาวะอ้วน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันภายในข้อทำให้เกิดการสึกหรอหรือภาวะข้อเสื่อม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิด Hemarthrosis ได้ง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่กระดูกและข้อ
  • ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง และคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่โดยสารรถยนต์
    สวมอุปกรณ์ป้องกันและจัดระเบียบร่างกายให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องเมื่อเล่นกีฬา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
  • ในผู้ที่เป็นโรคฮีโมฟีเลียต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และอาจต้องฉีดโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวตามกำหนดเวลาเป็นประจำเพื่อป้องกันอาการเลือดไหลไม่หยุด