แพลง (Sprain)

ความหมาย แพลง (Sprain)

แพลง (Sprain) เป็นอาการบาดเจ็บของเอ็นกระดูก เนื่องจากการฉีกขาดหรือเหยียดตึงมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเกิดอาการเจ็บ ปวด และบวมตามมา โดยการรักษาอาการแพลงก็จะมีตั้งแต่แค่การดูแลตัวเองที่บ้าน ไปจนถึงการรักษาทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

อาการแพลงสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย แต่ส่วนหลัก ๆ ที่มักพบการเกิดอาการแพลงได้บ่อยก็จะเป็นบริเวณข้อเท้า หัวเข่า และข้อมือ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการที่อวัยวะดังกล่าวเกิดการบิดหมุนขณะลื่นล้ม หรือเกิดจากการใช้อวัยวะดังกล่าวรับน้ำหนักขณะล้ม

แพลง

อาการแพลง 

ผู้ที่มีอาการแพลงมักจะพบอาการในลักษณะเจ็บและปวดบริเวณที่มีอาการแพลงทันที แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาการจะค่อย ๆ เกิดในภายหลัง โดยในบางครั้งอาจได้ยินเสียงดังในข้อขณะที่ได้รับการกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บร่วมด้วย แต่หากอาการรุนแรงผู้ป่วยก็อาจไม่สามารถขยับหรือใช้งานข้อต่อได้ จากนั้น บริเวณที่แพลงก็จะเริ่มมีการบวมและช้ำตามมา

ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างออกไปได้ตามความรุนแรงของการได้รับบาดเจ็บในผู้ป่วยแต่ละราย อาการส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่อาการเจ็บหรือปวดอาจคงอยู่ได้นานเกือบสัปดาห์

หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรืออาการรุนแรงหนักกว่าเดิม เช่น คาดว่ากระดูกอาจหักหรือเอ็นฉีกขาด กดบริเวณกระดูกแล้วรู้สึกเจ็บ ขาหรือข้อต่อมีลักษณะที่ผิดรูปทรงไปจากเดิม รู้สึกชา ปวดอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินหรือลงน้ำหนักที่เท้าได้ อาการเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของอาการแพลง

อาการแพลงสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนส่งผลให้ข้อต่อหรือเอ็นยึดเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม เช่น ลื่นล้ม โดนกระแทก การบิดหมุนหรือพลิกของข้อต่อ รวมไปถึงการทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ ในท่าทางที่ไม่ถูกลักษณะ

โดยเหตุที่นำไปสู่การเกิดอาการแพลงได้บ่อยมักมาจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะในผู้ที่เล่นกีฬาเป็นครั้งแรกและเด็ก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจากการปะทะอย่างรุนแรงในระหว่างการเล่นกีฬา การไม่อบอุ่นร่างกายหรือยืดกล้ามเนื้อก่อนเล่น ไปจนถึงการฝึกซ้อมอย่างหนัก

ส่วนกรณีอื่นที่อาจพบได้ก็เช่น

  • การที่กล้ามเนื้อและข้อต่อไม่แข็งแรง เมื่อขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่นได้น้อยลง จึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่ายมากขึ้น 
  • อิริยาบถที่ผิดลักษณะ เช่น การทำท่าทางและลงน้ำหนักผิดขณะเดินและวิ่ง การทำท่าลงที่ผิดลักษณะในขณะกระโดด หรือการทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักบริเวณเท้าด้านนอกมากเกินไป
  • เท้าผิดรูปหรือใช้รองเท้าไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เอ็นข้อเท้าด้านนอกเหยียดตึงหรือเกิดการฉีกขาดได้ง่าย โดยเฉพาะการวิ่งหรือเดินบนพื้นที่ขรุขระ
  • อาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้มากจนเกินไปจนเหนื่อยล้าอาจทำให้ความสามารถในการรองรับข้อต่อได้ไม่ดีเพียงพอ และเกิดความยากลำบากในการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย   

การวินิจฉัยอาการแพลง

ในการวินิจฉัยอาการแพลง แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ การใช้ยา ประวัติการบาดเจ็บ อาการที่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอาการแพลง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์ รวมถึงอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายร่วมด้วย เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มาจากอาการแพลงเป็นหลัก 

จากนั้นจะเป็นการตรวจอื่น ๆ ดังนี้

การตรวจร่างกายทั่วไป

แพทย์จะตรวจดูบริเวณที่คาดว่าน่าจะเกิดอาการแพลง โดยดูลักษณะและความรุนแรงของอาการ เช่น อาการบวมแดง กดแล้วรู้สึกเจ็บ ในบางรายอาจรุนแรงจนกระดูกหัก รวมถึงดูการเคลื่อนไหวและการลงน้ำหนักกับข้อต่อบริเวณนั้น

นอกจากนี้อาจมีการตรวจชีพจร และระบบรับความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของเส้นประสาทและหลอดเลือด หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก อาจมีการตรวจความแข็งแรงของเอ็นว่าทำให้เกิดอาการข้อหลวมหรือไม่ (Joint Instability) เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจนัยและทำการรักษาขั้นต่อไปได้  

การเอกซเรย์

วิธีนี้เป็นการตรวจดูสภาพของกระดูกว่าเกิดรอยร้าวหรือหักหรือไม่ เนื่องจากในบางกรณีการตรวจร่างกายทั่วไปอาจไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน โดยแพทย์มักใช้วิธีนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บ รูปร่างกระดูกผิดเพี้ยนไปจากเดิม เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก หรือผู้ป่วยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป 

ทั้งนี้ การเอกซเรย์อาจเป็นได้ทั้งการเอกซเรย์กระดูกธรรมดา ซีที สแกน (Computer Tomography: CT) หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละรายและดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาอาการแพลง

อาการแพลงสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยตัวเองและการรักษาทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง 

การดูแลตัวเอง

อาการแพลงที่ไม่รุนแรงสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • หยุดพักการเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดอาการแพลงอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยเลี่ยงกิจกรรมปกติที่เคยทำแล้วกระทบกระเทือนต่อข้อต่อและกล้ามเนื้อใกล้เคียงบางกิจกรรม เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและปรับสภาพได้ทัน แต่ไม่ควรหยุดทำกิจกรรมทั้งหมด บางรายอาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือเข้าเฝือกในช่วงแรก
  • ประคบเย็นบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บทันที โดยประคบประมาณ 15–20 นาที ทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น เนื่องจากความเย็นจะลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ป้องกันเนื้อเยื่อเกิดความเสียหาย และลดอาการปวดบวม ทั้งนี้ การประคบมากไปอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้เช่นกัน
  • พันหรือกดบริเวณที่บาดเจ็บ ผู้ป่วยสามารถพันบริเวณที่เกิดอาการแพลงด้วยผ้ายืดพันแผลที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยลดอาการบวมและเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรรัดแน่นมากเกินไปหรือรัดไว้ในขณะนอนหลับ ทั้งนี้ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัย 
  • ยกบริเวณที่เกิดอาการบาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เมื่อเกิดอาการแพลง ให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนอนลง จากนั้นใช้หมอนหนุนบริเวณนั้นให้อยู่สูงกว่าระดับของหัวใจ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของของเหลวที่จะยิ่งทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น

หลังจากการปฐมพยาบาลในขั้นต้นแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังคงมีอาการปวด บวม หรือเจ็บอยู่ ผู้ป่วยควรเริ่มมีการเคลื่อนไหวหรือใช้อวัยวะส่วนนั้นให้มากขึ้น หากมีอาการปวดมากก็สามารถรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (Non Steroidal Anti Inflammatory Drug: NSAIDs) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากของยาอย่างเคร่งครัด เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงและอาการแพ้ยาได้

ก่อนกลับไปทำกิจกรรมปกติควรต้องรอจนกว่าอาการหายดี และมีการฟื้นฟูข้อต่อและกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรงก่อนเริ่มเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายบางประเภท โดยผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยบาดเจ็บบริเวณเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้ง และมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาหรือขยับเขยื้อนข้อต่อได้ มีไข้ขึ้น บริเวณผิวหนังเกิดการบวมแดงร้อน หรือเกิดอาการแพลงขั้นรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที 

การรักษาทางการแพทย์ 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เช่น

  • กายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่และรุนแรง อาจได้รับการแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ทำให้ข้อต่อกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และฝึกความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาเพื่อช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเอ็นยึดกระดูกที่เกิดความเสียหาย โดยต้องพิจารณาความรุนแรงของการบาดเจ็บและผลลัพธ์หลังการผ่าตัดว่าสามารถกลับมาเป็นปกติได้มากน้อยแค่ไหน การผ่าตัดจึงอาจไม่จำเป็นในทุกกรณีแม้ว่าเส้นเอ็นกระดูกเกิดการฉีดขาดทั้งหมด 

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพลง

อาการแพลงมักไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้น แต่หากผู้ป่วยปล่อยให้เกิดอาการแพลงขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่รักษาให้หายอย่างต่อเนื่อง หรือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อบริเวณที่มีอาการแพลงเร็วเกินไป ก็อาจมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง หรือพัฒนาความรุนแรงกลายเป็นโรคข้ออักเสบได้

การป้องกันอาการแพลง

การบาดเจ็บอาจเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวันและมาจากหลายสาเหตุ การปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพลงได้

  • อบอุ่นร่างกายและยืดเส้นยืดสายก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเป็นการวิ่งเหยาะ ๆ หายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ขยับร่างกายไปมาเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อเกิดการยืดตัวมากขึ้น
  • ควรเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ขนาดไม่คับหรือหลวมจนเกินไป เลือกให้ถูกกับประเภทของกีฬาแต่ละชนิด และควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่หากเกิดการชำรุดหรือส้นสึก  
  • ควรปรับโปรแกรมการออกกำลังกายให้เกิดความสมดุล โดยมีการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ฝึกความแข็งแรง และความยืดหยุ่น 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงอยู่เสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ในขณะที่ร่างกายเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพลงขึ้นได้ง่าย
  • ระมัดระวังในการเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบ
  • ในการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพลง ควรมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการลื่นล้มบ่อย ๆ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน