ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction)

ความหมาย ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction)

ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction) หรือที่คนมักเรียกว่าโรคขี้เต็มท้อง เป็นภาวะที่อุจจาระมีลักษณะแห้งและแข็งเกิดการตกค้างอยู่ที่ปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนัก โดยอุจจาระดังกล่าวจะไปอุดตันและกั้นไม่ให้อุจจาระใหม่ถูกขับออก จึงเกิดการสะสมอยู่ภายในลำไส้ใหญ่และไม่สามารถขับอุจจาระได้อย่างปกติ คล้ายกับอาการท้องผูกแต่รุนแรงกว่า

คนส่วนใหญ่ที่มีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานานหรือเรื้อรัง อาการอาจรุนแรงขึ้นและกลายเป็นภาวะอุจจาระอัดแน่นได้ในที่สุด ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือการกำจัดอุจจาระที่ค้างอยู่ภายใน

ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction)

อาการของภาวะอุจจาระอัดแน่น

อาการของภาวะอุจจาระอัดแน่นจะคล้ายกับอาการท้องผูก แต่อาการจะเป็นนานกว่าและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหลายวัน 

อีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น แน่นท้อง ปวดท้อง ปวดเกร็งในช่องท้องโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ท้องอืด ท้องเสีย อุจจาระเล็ด คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ริดสีดวงทวาร ปวดศีรษะ ปวดหลังส่วนล่าง หรือกลิ่นปากเหม็น หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ภาวะร่างกายขาดน้ำ หายใจหอบเร็วผิดปกติ มีไข้ สับสน กระวนกระวาย เลือดออกจากทวารหนัก หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งเป็นอาการรุนแรงที่ควรไปพบแพทย์ทันที 

สาเหตุของภาวะอุจจาระอัดแน่น

ภาวะอุจจาระอัดแน่นมักเกิดในผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังหรือไม่ได้อุจจาระหลายวัน โดยสาเหตุมักมาจากปัจจัยต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์น้อยเกินไป 
  • รับประทานอาหารไขมันสูง 
  • ดื่มน้ำน้อย มีภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • กลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระเองได้เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับลำไส้จากโรคทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้ หรือการผ่าตัดลำไส้
  • ท้องเสียบ่อย อาเจียนอย่างต่อเนื่อง 
  • มีความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน 
  • มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ภาวะไทรอยด์ โรคเบาหวาน หรือภาวะยูรีเมีย (Uremia) ซึ่งเป็นอาการที่เลือดมีปริมาณยูเรียมากผิดปกติ เป็นผลมาจากโรคไต
  • ผลข้างเคียงจากโรคทางระบบประสาท เนื่องจากเส้นประสาทอาจโดนทำลายและส่งผลให้การเคลื่อนไหวของลำไส้บกพร่องได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง และอาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง 
  • ความเครียด 
  • ผลข้างเคียงจากยาบางตัวอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาต้านเศร้า และยาคลายกล้ามเนื้อ 
  • การใช้สารเสพติดหรือใช้ยาระบายผิดวิธี ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอาการผิดปกติของลำไส้และอาการลำไส้แปรปรวน ส่งผลให้เป็นภาวะอุจจาระอัดแน่น

การวินิจฉัยภาวะอุจจาระอัดแน่น

แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายโดยการกดบริเวณท้องที่ป่องหรือแข็งผิดปกติ เพื่อหาตำแหน่งก้อนอุจจาระที่แข็งค้างอยู่ภายใน และตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam) เพื่อคลำหาสิ่งผิดปกติภายใน โดยแพทย์จะสวมถุงมือเคลือบสารหล่อลื่นและสอดนิ้วเข้าไปทางรูทวารหนัก 

จากนั้นจะมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ การอัลตราซาวด์ หรือการทำซีทีสแกน เพื่อยืนยันว่ามีอุจจาระแข็งค้างอยู่ภายในลำไส้จริง รวมถึงอาจมีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) เพื่อดูว่าอาการผิดปกติเกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่

การรักษาภาวะอุจจาระอัดแน่น

การรักษาภาวะอุจจาระอัดแน่นจะเป็นการกำจัดอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้และป้องกันการสะสมอุจจาระขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามความรุนแรงว่าเป็นมานานแค่ไหน และตำแหน่งที่อุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่

วิธีการรักษาทั่วไปคือการรับประทานยาระบาย ซึ่งจะได้ผลดีหากผู้ป่วยไม่ได้ใช้ยาระบายเป็นประจำมาก่อน บางครั้งแพทย์จะให้ใช้ยาเหน็บทวารที่เห็นผลได้เร็วกว่า แต่จะเหมาะกับกรณีที่ความผิดปกติเกิดตรงปลายลำไส้ใหญ่หรือใกล้กับทวารหนัก

ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและยาระบายใช้ไม่ได้ผล มีวิธีการรักษาเพิ่มเติมคือ 

  • การใช้ยาสวนทวาร (Enema) ฉีดสวนเข้าไปทางทวารหนัก ตัวยาจะมีคุณสมบัติหล่อลื่น ทำให้อุจจาระนิ่มจนสามารถขับถ่ายเป็นปกติได้ 
  • การใช้น้ำกลั่นทางการแพทย์ (Water irrigation) โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปทางทวารหนักแล้วปล่อยน้ำกลั่นออกมา เพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ 
  • การกำจัดอุจจาระออกจากไส้ตรงโดยใช้นิ้ว (Manual disimpaction) แพทย์จะกดท้องเพื่อหาตำแหน่งที่มีอุจจาระสะสมอยู่ภายใน และค่อย ๆ ใช้นิ้วที่สวมถุงมือสวนเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อล้วงเอาอุจจาระออกมา

กรณีฉุกเฉินที่พบได้ยากในผู้ป่วยบางรายอาจรักษาโดยการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือการใช้กล้องส่องทางทวารหนักร่วมกับการใช้น้ำเพื่อล้างอุจจาระที่อยู่ภายใน 

นอกเหนือจากการรักษาจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ระวังการใช้ยาระบายผิดวิธี ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อระบบขับถ่ายที่ดีหลังการรักษา 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอุจจาระอัดแน่น

 หากมีอาการและสงสัยว่าเป็นภาวะอุจจาระอัดแน่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบไปพบแพทย์ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายมากกว่าเดิม คือ ภาวะลำไส้อุดตัน จนไม่สามารถผายลมหรืออุจจาระได้ ริดสีดวงทวาร เลือดออกทางทวารหนัก ทวารหนักฉีกขาด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ แผลในลำไส้ใหญ่ ผนังลำไส้ใหญ่ฉีกขาด ลำไส้ทะลุ เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักตาย

การป้องกันภาวะอุจจาระอัดแน่น

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังและภาวะอุจจาระอัดแน่น รวมถึงมีระบบขับถ่ายที่ดี ควรปฏิบัติดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • ดื่มน้ำลูกพรุน กาแฟ หรือชาที่มีฤทธิ์ช่วยระบายตามธรรมชาติ
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ถั่ว กะหล่ำ แครอท ข้าวโพดหวาน กล้วย แอปเปิ้ล และส้ม  
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะเสี่ยงเกิดอาการท้องผูก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  • ไม่กลั้นอุจจาระ ฝึกเข้าห้องน้ำเป็นให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
  • ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise) เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก