ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)

ความหมาย ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)

Compartment Syndrome หรือ ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น คือภาวะช่องปิดกล้ามเนื้อมีความดันสะสมในระดับที่เป็นอันตราย เนื่องจากพังผืดไม่ขยายตัวอันเป็นผลมาจากการบวมภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ ซึ่งมักพบบริเวณขา แขน และท้อง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวด บวม หรือแสบร้อน เป็นต้น นอกจากนี้ ความดันที่สูงขึ้นอาจปิดกั้นการลำเลียงออกซิเจน สารอาหาร และการไหลเวียนของเลือดไปยังช่องปิดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เซลล์บริเวณนั้นตายและเกิดการขาดเลือดเฉพาะที่ได้

Compartment Syndrome

โดยชนิดของ Compartment Syndrome มีดังนี้

Acute Compartment Syndrome หรือ ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงแบบฉับพลัน เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังจากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น กระดูกแขน หรือขาหัก เป็นต้น

Chronic Compartment Syndrome หรือภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงแบบเรื้อรัง โดยปกติแล้วมักไม่ส่งผลอันตราย มักเกิดขึ้นบริเวณก้น ต้นขา ขาส่วนล่าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าแข้ง ความหนักและความถี่ของการออกกำลังกายเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ ซึ่ง Compartment Syndrome ชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกวัย แต่จะพบมากในคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี

Abdominal Compartment Syndrome หรือความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อท้องสูงที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยขั้นวิกฤติที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

อาการของภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

ความดันสูงที่อยู่ภายในช่องปิดของกล้ามเนื้ออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด เป็นตะคริว หรือรู้สึกชา โดยอาการของจะรุนแรงต่างกันไปตามชนิดของ Compartment Syndrome ดังนี้

Acute Compartment Syndrome โดยทั่วไปแล้วมักทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงขึ้นหากมีการใช้งานหรือยืดกล้ามเนื้อในส่วนที่บาดเจ็บ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้

  • เคลื่อนไหวไม่สะดวก
  • กล้ามเนื้อบวมและช้ำ
  • เป็นเหน็บหรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่ม
  • รู้สึกตึงและปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือรู้สึกว่าอาการปวดมีความรุนแรงมากกว่าการบาดเจ็บที่เห็นหรือที่ควรจะเป็น
  • รู้สึกชา หรือเป็นอัมพาตในส่วนนั้น ๆ ซึ่งทั้งสองอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บแบบถาวร

ทั้งนี้ หากปล่อย Acute Compartment Syndrome ทิ้งไว้โดยไม่รักษาหรือเข้ารับรักษาช้าอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างถาวร และอาจต้องทำการตัดอวัยวะส่วนนั้นออกเนื่องจากเนื้อเยื่อตายอีกด้วย

Chronic (Exertional) Compartment Syndrome อาจมีอาการ เช่น เคลื่อนไหวไม่สะดวก เนื่องจากการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อบวมขึ้น จนสามารถสังเกตเห็นได้ มีอาการชา และมีอาการปวดหรือเป็นตะคริวขณะออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งอาการปวดจะลดลงเมื่อหยุดเคลื่อนไหวหรือหยุดออกกำลังกาย

Abdominal Compartment Syndrome มักส่งผลให้เกิดอาการ อย่างบริเวณท้องมีลักษณะตึงหรือป่องขึ้น เมื่อกดหรือลงน้ำหนักบริเวณท้องผู้ป่วยจะแสดงความรู้สึกเจ็บผ่านทางสีหน้าหรือมีอาการสะดุ้ง ความดันเลือดต่ำ และอาจพบอาการปัสสาวะลดลงหรือไม่ปัสสาวะ

นอกจากนี้ ในกรณีที่ความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อช่องท้องนั้นเพิ่มสูงขึ้นจนปิดกั้นการไหลเวียนเลือดอาจทำให้ลำไส้ ไต ตับ และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องได้รับการบาดเจ็บอย่างถาวร

สาเหตุของภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

Compartment Syndrome เกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้มีเลือดออก หรือของเหลวจากอาการอักเสบสะสมภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความดันภายในร่วมกับพังผืดไม่ขยายตัว โดยความดันที่สะสมในปริมาณมากจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปยังช่องปิดกล้ามเนื้อลดลงจนถูกปิดกั้น  เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทโดยรอบถูกทำลายเนื่องจากได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ สาเหตุภายนอกที่ทำให้เกิด Compartment Syndrome อาจสามารถแบ่งได้ตามชนิดของอาการ ดังนี้

Acute Compartment Syndrome มักเกิดขึ้นหลังการบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
  • การใช้อนาบอลิกสเตียรอยด์ที่มักใช้เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ
  • เกิดจากแผลไหม้
  • ได้รับการบาดเจ็บจากแรงบีบหรือกระแทก
  • เกิดการช้ำของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
  • การออกกำลังกายที่ใช้แรงเยอะรวมถึงท่าที่ใช้แรงยก ซึ่งทำให้เกิดแรงกดมายังอวัยวะ
  • การพันผ้าพันแผลหรือใส่เฝือกที่รัดแน่นจนเกินไป
  • กระดูกหัก
  • รักษากระดูกที่หัก โดยเฝือกที่ใช้นั้นมีขนาดเล็กหรือแน่นจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการได้
  • อาการเคล็ดอย่างรุนแรง
  • แขนและขาเกิดการกดทับเป็นเวลานานในขณะหมดสติ
  • การผ่าตัดหลอดเลือดบริเวณขาหรือแขน

Chronic (Exertional) Compartment Syndrome มักมีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่ใช้แรงเยอะ หรือกีฬาที่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ และต่อเนื่อง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน และการว่ายน้ำ เป็นต้น

Abdominal Compartment Syndrome ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือเกิดขณะอาการป่วยในขั้นวิกฤติและหมดสติ และอาจมีสาเหตุในการเกิดอื่น ๆ ดังนี้

  • แผลไหม้
  • กระดูกเชิงกรานหัก
  • การผ่าตัดช่องท้อง โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไต
  • โรคท้องมานในขั้นรุนแรง หรือมีเลือดออกในช่องท้อง
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด
  • การออกกำลังกายช่วงท้องหนักเกินไป

การวินิจฉัยภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายของผู้ป่วยในบริเวณที่เกิดอาการ อย่างความตึงของกล้ามเนื้อ อาการเจ็บเมื่อกดลงบนกล้ามเนื้อในช่วงปกติและช่วงหลังจากการออกกำลังกาย การบีบบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อประเมินระดับของความปวด หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของ Compartment Syndrome แพทย์จะตรวจวัดระดับความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อ โดยใช้เข็มวัดความดันเจาะไปยังบริเวณที่เกิดอาการในขณะออกกำลังและอาจทำให้เจ็บบริเวณที่ทำการตรวจ และจะวัดผลอีกครั้งหลังจากการออกกำลัง และแพทย์อาจทำการเอกซเรย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกภาวะดังกล่าวออกจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจมีลักษณะอาการคล้ายกัน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีความดันสูงและมีอาการอื่น ๆ ของ Abdominal Compartment Syndrome แพทย์อาจตรวจสอบด้วยการสอดท่อไปยังกระเพาะปัสสาวะเพื่อวัดความดัน

การรักษาภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

วิธีการที่ใช้รักษา Compartment Syndrome นั้น อาจมีความแตกต่างกันไปในตามชนิดของอาการ แต่ล้วนมีจุดประสงค์เดียวคือการลดความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อให้ลดลง ซึ่งหากมีการใส่เฝือกหรือมีการพันแผลควรถอดออกหรือคลายให้หลวมมากยิ่งขึ้นเพื่อลดการกดทับบริเวณที่เกิดอาการ โดยแต่ละชนิดมีวิธีและรูปแบบการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

Acute Compartment Syndrome นั้นจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดพังผืดโดยเร็ว เพื่อระบายความดันภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ และลดการเกิดการบาดเจ็บถาวรหรือการตายของเนื้อเยื่อที่จะนำไปสู่การตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง หากภายในช่องปิดกล้ามเนื้อมีความดันสูงมากแพทย์จะรอให้อาการบวมนั้นลดลงก่อนจึงสามารถเย็บปิดได้ ในบางรายอาจจะต้องปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ในบริเวณที่ผ่าตัด

นอกจากนี้ อาจมีการรักษาแบบประคับประคองเพิ่มเติมด้วย เช่น ให้อวัยวะที่บาดเจ็บอยู่ต่ำกว่าหัวใจเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดเพื่อรักษาสมดุลร่างกาย รวมทั้งใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการ เป็นต้น

Chronic Compartment Syndrome ในขั้นเรื้อรังนี้ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดด่วน เนื่องจากความดันจะค่อย ๆ ลดลงไปเองหลังจากหยุดออกกำลังกายหรือลดการออกแรง โดย Chronic Compartment Syndrome จะมีการรักษา ดังนี้

  • ประคบเย็นหลังจากออกกำลังกาย
  • ใช้รองเท้าสำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะ
  • ทำกายภาพบำบัด
  • เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายเป็นแบบ Cross-Training หรือการออกกำลังกายแบบผสมเพื่อสร้างสมดุลให้กับร่างกาย และควรเลือกกิจกรรมที่ใช้แรงไม่เยอะ
  • เปลี่ยนพื้นผิวในการออกกำลังกาย เนื่องจากบางคนอาจมีอาการบนพื้นผิวที่ต่างกัน หากมีอาการเมื่อวิ่งบนพื้นคอนกรีต ให้เปลี่ยนไปวิ่งในลู่วิ่ง สนามหญ้า หรือสนามหญ้าเทียมแทน
  • ผ่าตัด เมื่อการรักษาในรูปแบบอื่นไม่เป็นผล แพทย์อาจทำการผ่าตัดพังผืดเพื่อลดความดันภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ

Abdominal Compartment Syndrome มีวิธีการรักษา ดังนี้

  • การใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย
  • การใช้ยาเพื่อควบคุมความดันเลือด
  • การฟอกไต
  • ในบางกรณี อาจต้องทำการผ่าตัดช่องท้องเพื่อลดความดัน ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

นอกจากอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่าง อาการปวด บวม ชา หรือแสบร้อนแล้ว Compartment Syndrome อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เนื่องจากส่วนประกอบภายในช่องปิดของกล้ามเนื้อ ขาดเลือด ออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยง โดยชนิด Acute Compartment Syndrome หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • เกิดแผลเป็นในกล้ามเนื้อ การดึงรั้ง และสูญเสียการทำงานของแขนหรือขา
  • เส้นประสาทได้รับความเสียหายอย่างถาวร ทำให้รู้สึกชา อ่อนแรง
  • เกิดการติดเชื้อ
  • กล้ามเนื้อสลาย
  • อาจต้องตัดอวัยวะออก เนื่องจากเนื้อตายเฉพาะส่วน

โดยภาวะแทรกซ้อนเหล่าสามารถเกิดขึ้นกับ Chronic Compartment Syndrome ได้เช่นกัน แต่สามารถพบได้น้อยกว่า

การป้องกันภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น

Compartment Syndrome ยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่ชัด แต่เมื่อมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Acute Compartment Syndrome ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในขั้นรุนแรงได้หากปล่อยทิ้งไว้ และควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ สารเสพติด รวมทั้งอนาบอลิกสเตียรอยด์ที่อาจเป็นสาเหตุในการเกิดภาวะอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใส่เฝือกหรือพันแผล หากมีอาการปวดบวมบริเวณผิวหนังใต้เฝือกหลังจากการใช้ยา ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

สำหรับ Chronic Compartment Syndrome การสร้างความยืดหยุ่นและทนทานให้กับร่างกายอย่างช้า ๆ รวมถึงการสวมรองเท้าให้เหมาะสมกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานั้นอาจช่วยช่วยลดความรุนแรงหรือป้องกันการเกิดของภาวะนี้ได้