งาดำ งาขาว กับประโยชน์ทางสุขภาพ

งาดำและงาขาวเป็นเมล็ดของพืชชนิดหนึ่งที่ภายในอุดมไปด้วยน้ำมัน และยังเป็นแหล่งของโปรตีน สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินที่หลากหลาย ด้วยสารอาหารพร้อมคุณค่าที่มีอยู่มากมายทำให้เชื่อกันว่างาดำและงาขาวนั้นมีสรรพคุณในการรักษาโรคนานาชนิด

งาดำ

หลายคนรับประทานงาดำหรืองาขาวเพราะเชื่อในคุณประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น รักษาเบาหวาน อัลไซเมอร์ มะเร็ง ข้อเข่าอักเสบ กระดูกเสื่อม วัยทอง ภาวะมีบุตรยาก ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวด ท้องผูก ป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนน้ำมันงานั้นถูกนำมาใช้ทาเพื่อชะลอความเสื่อมโทรมของผิวหนัง รักษาผมร่วง คลายความกังวล ฯลฯ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าประโยชน์เหล่านี้เป็นเรื่องจริง และปัจจุบันทางการแพทย์แนะนำให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้วหรือยัง

ประโยชน์ทางโภชนาการของงาดำและงาขาว

อาการไอ จากการระบุประสิทธิภาพการรักษาโรคของเมล็ดงาโดยฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าช่วยบรรเทาอาการไอ นับเป็นประโยชน์ข้อเดียวของงาดำและงาขาวที่มีข้อมูลมากที่สุดในปัจจุบัน โดยอยู่ในระดับที่อาจได้ผล (Possibly Effective) ต่างจากโรคชนิดอื่น ๆ ที่ยังศึกษาไม่มากพอจะระบุประสิทธิภาพในการรักษาได้ (Insufficient Evidence)

การศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของงาดำและงาขาวที่ช่วยรักษาอาการไอ เป็นการทดลองในเด็กอายุ 2-12 ปี จำนวน 107 คน ที่มีอาการไอจากโรคหวัด โดยให้รับประทานน้ำมันงา 5 มิลลิลิตรก่อนนอนติดต่อกัน 3 วัน เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของการไอ ผลลัพธ์พบว่าในวันแรกอาการไอของเด็กที่รับประทานน้ำมันงาดีขึ้นกว่ากลุ่มรับประทานยาหลอก แต่อยู่ในระดับไม่มากนัก และเมื่อผ่านไป 3 วัน เด็กทั้ง 2 กลุ่มต่างมีอาการดีขึ้น และไม่พบว่าการใช้น้ำมันงาก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ หากต้องการใช้แก้อาการไอจึงน่าจะใช้ได้อย่างปลอดภัยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนนอนดังการทดลอง

ลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำมันงาเป็นหนึ่งในน้ำมันจากพืชที่กล่าวกันว่าดีต่อสุขภาพ โดยเชื่อว่าอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันชนิดดีที่อาจช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลและในน้ำมันงานี้ยังพบไขมันอิ่มตัวในปริมาณน้อย

งานวิจัยหนึ่งยืนยันถึงประสิทธิภาพด้านนี้ของน้ำมันงาเปรียบเทียบกับน้ำมันมะกอก โดยให้ผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง 48 คนเข้าโปรแกรมรับประทานอาหารเพื่อลดคอเลสเตอรอลเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจึงรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันงาบริสุทธิ์ทุกวันแทนน้ำมันชนิดอื่นในปริมาณ 60 กรัม อีก 1 เดือน ผลลัพธ์ชี้ว่าน้ำมันงาและน้ำมันมะกอกต่างช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ แต่น้ำมันงาจะช่วยให้ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์และไขมันชนิดไม่ดีในเลือดลดลงได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งส่งผลให้ระดับไขมันดีในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักและรอบเอวลดลงเช่นเดียวกันกับกลุ่มบริโภคน้ำมันมะกอก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการแนะนำให้ใช้น้ำมันงาลดระดับคอเลสเตอรอลอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังจัดเป็นหนึ่งในอาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานในปริมาณมาก ๆ เพราะต้องการใช้รักษาโรคใด ๆ จึงไม่ควรอย่างยิ่ง ควรใช้สำหรับปรุงอาหารแทนน้ำมันชนิดอื่นเท่านั้น

เบาหวาน จากการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมันงาเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานอย่างยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) ในผู้ป่วยเบาหวานระดับไม่รุนแรงถึงระดับรุนแรงปานกลาง โดยให้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับน้ำมันงาแทนน้ำมันชนิดอื่น ๆ จากอาหาร กลุ่มที่ 2 ได้รับไกลเบนคลาไมด์ 5 มิลลิกรัมต่อวัน และกลุ่มสุดท้ายได้รับน้ำมันงาผสมกับยาไกลเบนคลาไมด์ ใช้เวลาทั้งหมด 60 วัน ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันงาทำงานร่วมกับยาไกลเบนคลาไมด์ได้ดี โดยส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากขึ้นและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

น้ำมันงามีคุณสมบัติลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริงหรือไม่ คงต้องรอผลสรุปในอนาคตที่อาจช่วยรับรองได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการลองใช้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจ เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำและเป็นอันตรายได้

ความดันโลหิตสูง ประสิทธิภาพของการใช้น้ำมันงากับการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงนั้นมีการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยจำนวน 32 คน ใช้น้ำมันงาประกอบอาหารแทนน้ำมันชนิดอื่นเป็นเวลา 45 วัน ซึ่งผลการทดลองบ่งชี้ว่าการใช้น้ำมันงาช่วยให้ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงลดต่ำลง รวมถึงลดปฏิกิริยาระหว่างไขมันกับออกซิเจน และเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งส่งผลดีต่อร่างกาย

คาดว่าหากในอนาคตมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันงาในด้านนี้ อาจระบุได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าน้ำมันงาช่วยลดความดันโลหิตได้จริงหรือไม่ และเป็นเพราะการทำงานของสารชนิดใด อย่างไร

ป้องกันโรคหัวใจ เมื่อกล่าวว่าการรับประทานงาอาจช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือลดระดับไขมันในเลือดลง อีกโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเดียวกันคือโรคเกี่ยวกับหัวใจทั้งหลาย อย่างไรก็ดี สำหรับการศึกษาคุณประโยชน์จากการใช้งาป้องกันโรคหัวใจโดยตรงนั้นยังไม่พบว่างาดำหรืองาขาวช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้ และงานวิจัยเกี่ยวกับการลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าการบริโภคงาดำหรืองาขาวจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดซึ่งทุกคนสามารถทำได้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดไขมัน โซเดียม น้ำตาล และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

โรคหลอดเลือดในสมอง เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ด้วยเหตุนี้งาดำหรืองาขาวที่ได้รับการกล่าวถึงสรรพคุณลดไขมัน ความดันโลหิต และลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงถูกอนุมานว่าจะส่งผลดีต่อการรักษาหรือป้องกันโรคนี้ไปด้วย ทั้งที่ยังไม่ปรากฏว่ามีการศึกษาที่เชื่อถือได้ในด้านนี้โดยตรง

เพิ่มน้ำหนักตัวในผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ประโยชน์ข้อนี้ของงาดำและและงาขาวมีการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ 63 คน รับประทานอาหารพร้อมใช้ที่ทำจากถั่วลูกไก่และเมล็ดงาวันละ 500 กรัม หรือคิดเป็นพลังงานเท่ากับประมาน 2,600 แคลอรี อาหารดังกล่าวมีส่วนช่วยให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และน่าจะมีประสิทธิภาพคุ้มค่าต่อราคาต้นทุนมากกว่าอาหารเสริมโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีนั้นเกิดจากงาที่เป็นส่วนประกอบหรือไม่นั้นยังคงต้องทดลองกันต่อไปก่อนจะมีการแนะนำให้ใช้ได้จริง

โรคกระดูกอ่อนในเด็ก งานวิจัยหนึ่งทดลองว่าการเพิ่มอาหารบางชนิดจะช่วยให้เด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อนจากการขาดแคลเซียมได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยอาสาสมัครทั้งหมดเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี จำนวน 41 คน ทุกคนรับประทานอาหารเพิ่มเติมจากข้าว 5 ชนิด ได้แก่ หินปูน 1 กรัมต่อข้าว 1 กิโลกรัม ปลาเล็กมีกระดูกแทนปลาใหญ่ กากเมล็ดงา 5 กรัม ใบผัก 100 กรัม หรือนม 100 กรัม ซึ่งผลปรากฏว่าอาหารเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นมากนัก เพียงแต่ดีขึ้นกว่าเดิม ทางผู้วิจัยจึงแนะนำว่าการรับประทานอาหารเหล่านี้เพิ่มเติมอาจมีประสิทธิภาพคุ้มราคาและเป็นตัวเลือกการรักษาในระยะยาว ทั้งนี้ประโยชน์ของงาและอาหารดังกล่าวที่ส่งผลต่อโรคกระดูกอ่อนยังคงคลุมเครือ หากต้องการลองรับประทานตามควรปฏิบัติอย่างเหมาะสม

โรคข้อเสื่อม เชื่อกันว่างาดำอาจเป็นทางเลือกเสริมในการรักษาโรคนี้ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษากับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 50 คน ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มจำนวนเท่า ๆ กัน กลุ่มแรกรับการรักษาตามมาตรฐานปกติ ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานงาวันละ 40 กรัม นาน 2 เดือนควบคู่กับการใช้ยารักษาโรค ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่าในอาการของผู้ป่วยกลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อมที่รับประทานงานั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้งาร่วมรักษากับโรคนี้ยังไม่มีการแนะนำอย่างเป็นมาตรฐานเพราะมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่น้อยเกินไป

โรคข้ออักเสบ การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันงาในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคข้ออักเสบพบว่าการรับประทานน้ำมันงา 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกวันต่อเนื่องนาน 28 วัน มีประโยชน์ในการช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระและสารเคมีที่ก่อการอักเสบในร่างกายของผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการผ่อนคลายของของหลอดเลือดแดงเอออร์ตา และมีแนวโน้มที่จะลดการบวมของเท้าด้านหลัง ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้งาดำจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบได้จริงหรือไม่คงต้องรอผลการศึกษาในอนาคตที่แน่นอนกว่านี้ต่อไป

วัยทอง หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นภาวะของความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจจากการที่ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป อาจได้ใช้ประโยชน์จากสารเซซามิน (Sesamin) ในเมล็ดงาที่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกจุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนไปเป็นสารสำคัญอย่างเอนเทอโรแลกโตน (Enterolactone) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนและมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตเจนของเพศหญิงอย่างไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens)

สำหรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มีการให้หญิงวัยหมดประจำเดือน 26 คน รับประทานงาดำทุกวันวันละ 50 กรัม นาน 5 สัปดาห์ พบว่ามีประโยชน์ต่อระดับไขมันในเลือดที่ลดลงและเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย รวมถึงอาจเป็นผลดีต่อระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามคุณสมบัติเกี่ยวกับการมีฤทธิ์เป็นสารเอนเทอโรแลกโตนหรือไฟโตเอสโตรเจนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดในตอนนี้

แผลไหม้ เนื่องจากงาดำและงาขาวมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ จึงเชื่อว่าอาจส่งผลต่อการรักษาแผลไหม้ โดยงานวิจัยหนึ่งแนะนำว่าการใช้ขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันงา เบต้าซิโตสเตอรอล (Beta-sitosterol) เบอเบอรีน (Berberine) และส่วนผสมอื่น ๆ รักษาแผลไหม้ ทุก 4 ชั่วโมงช่วยเพิ่มการรักษาตัวของแผลและลดอาการเจ็บบริเวณบาดแผลของผู้ป่วย 211 คนที่ต้องได้รับการรักษาแผลแบบประคับประคอง ทว่าวิธีนี้ยังไม่อาจยืนยันประสิทธิภาพการรักษาได้อย่างแน่ชัด

ท้องผูก งาดำและงาขาวนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง โดยเมล็ดงา 1 ช้อนโต๊ะประกอบด้วยเส้นใยอาหารถึง 1.1 กรัม ในขณะที่เมล็ดฟักทองประมาณ 60 กรัมนั้นประกอบเส้นใยอาหารเพียง 5 กรัม ด้วยเหตุนี้งาดำและงาขาวจึงได้รับความนิยมในฐานะอาหารช่วยแก้ท้องผูก ซึ่งจะช่วยได้จริงหรือไม่นั้นยังเป็นที่สงสัย เพราะในปัจจุบัน ไม่มีผลวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านนี้ของเมล็ดงาเกิดขึ้น

ลำไส้เล็กอุดตัน มีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณในการรักษาโรคนี้ของงากับผู้ป่วยโรคลำไส้เล็กอุดตันบางส่วนทั้งหมด 64 คน ผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่าน้ำมันงาเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและได้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ โดยพบว่าช่วยให้อัตราการผ่าตัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเท่านี้ยังไม่น่าเชื่อถือพอ จึงไม่มีการแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกในการรักษา เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โรค

ภาวะมีบุตรยาก อีกหนึ่งสรรพคุณที่ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหามีลูกยากต่างสรรหางาดำหรืองาขาวมาลองใช้ เกี่ยวกับข้อนี้มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่างาดำหรืองาขาวอาจเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยต่อชายที่มีลูกยาก หลังจากการรับประทานงาดำ 0.5 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือนสามารถช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวและจำนวนของสเปิร์มในชายจำนวน 25 คน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ต่อการรักษาภาวะมีบุตรยากของงาก็ยังคงต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปก่อนจะนำมาใช้ได้อย่างมั่นใจ

อัลไซเมอร์ มีการกล่าวถึงคุณสมบัตินี้ของงาดำอย่างแพร่หลาย โดยอ้างงานวิจัยงานหนึ่งที่แนะนำว่าการรับประทานแคปซูลสารสกัดจากงาดำช่วยให้ผู้สูงอายุมีความทรงจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้น แต่แหล่งที่มาของงานวิจัยนี้ถือว่าไม่น่าเชื่อถือเท่าไรนัก และยังเป็นการศึกษาในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ไม่ใช่ผู้มีอาการของโรคสมองเสื่อมแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาประสิทธิภาพของงาดำต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเอมอร์โดยตรงนั้นยังไม่เกิดขึ้นในมนุษย์ และไม่อาจสรุปคุณประโยชน์ด้านนี้ของงาดำและงาขาวได้

มะเร็งเต้านม คุณประโยชน์ของงาเกี่ยวกับการช่วยรักษาโรคมะเร็งนั้น มีเพียงการทดลองกับเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการ โดยพบว่าเมื่อนำสารเซซามินซึ่งเป็นสารที่พบได้จากงาดำและงาขาวมาใช้ สามารถช่วยกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งจากเต้านมมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษาแต่เพียงในห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังถือว่าไม่เพียงพอที่จะยืนยันคุณสมบัติของงาดำในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง เพราะขาดการศึกษาโดยตรงในมนุษย์ที่เชื่อถือได้มากกว่า

ช่วยคลายกังวล ผลิตภัณฑ์น้ำมันงาหลายชนิดมีการกล่าวอ้างสรรพคุณช่วยคลายความวิตกกังวลและหากนวดตัวด้วยน้ำมันงาจะทำให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น ทว่าปัจจุบัน ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่พบข้อมูลที่น่าเชื่อถือของน้ำมันงาในด้านนี้ และหากต้องการลองพิสูจน์ด้วยตนเอง ควรทำอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย

ประโยชน์น้ำมันงาต่อการทาบนผิวหนัง

ส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารก การนวดทารกด้วยน้ำมันงากล่าวกันว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการเติบโต ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ทดลองนวดน้ำมันให้ทารกอายุประทาณ 6 สัปดาห์ น้ำหนักมากกว่า 3,000 กรัม โดยน้ำมันที่นำมาใช้ทดสอบ ได้แก่ น้ำมันสมุนไพร น้ำมันงา น้ำมันมัสตาร์ด หรือน้ำมันแร่ธาตุ ปรากฏว่าการนวดทารกด้วยน้ำมันเหล่านี้ต่างช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกน้อยและทำให้นอนหลับดีหลังจากนวด แต่น้ำมันที่แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ในด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญคือน้ำมันงา ทั้งนี้ยังไม่มีการแนะนำให้นำวิธีนี้มาใช้กับทารกอย่างแพร่หลายเพราะยังไม่อาจระบุประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน

ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบจากการทำเคมีบำบัด การใช้น้ำมันงาทาภายนอกอาจมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการทำเคมีบำบัด จากการที่ให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่รับการรักษาด้วยยาเคมี จำนวน 60 คน ทาน้ำมันงาครั้งละ 10 หยด วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน โดยน้ำมันงาช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดดำอักเสบจากการฉีดยาได้ ทว่ากว่าที่จะมีการแนะนำให้ใช้น้ำมันงาในกรณีนี้อย่างแพร่หลายนั้นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

โรคสะเก็ดเงิน หลายคนเชื่อว่าการใช้น้ำมันงาทาลงบริเวณผิวหนังที่เป็นสะเก็ดจะช่วยรักษาโรคนี้ได้ ซึ่งไม่มีข้อมูลใดที่น่าเชื่อถือบ่งบอกถึงการทำงานของน้ำมันงาในด้านนี้ได้ และผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้ยังไม่มีปรากฏให้เห็น ผู้ป่วยที่ต้องการลองใช้เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของน้ำมันงาต่อโรคนี้ควรใช้อย่างระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาก่อนใช้ด้วยเป็นดีที่สุด

บรรเทาอาการปวด การนวดด้วยน้ำมันงาเป็นหนึ่งในเคล็ดวิธีรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกายที่ใช้กันมาก เป็นที่สงสัยว่าน้ำมันงานี้มีคุณสมบัติบรรเทาอาการเจ็บที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ทางวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลทั้งหมด 150 คน โดยกลุ่มหนึ่งให้การรักษาด้วยการทาน้ำมันงาควบคู่ไปกับการรักษาปกติ ส่วนอีกกลุ่มให้การดูแลรักษาปกติเพียงอย่างเดียว ผลปรากฏว่าน้ำมันงาช่วยลดความรุนแรงของความเจ็บและส่งผลให้คนไข้รับประทานยาแก้ปวดน้อยลง ซึ่งหากต่อไปมีหลักฐานยืนยันได้ว่าน้ำมันงาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้จริง จะเป็นประโยชน์มากทีเดียวเพราะมีราคาถูก ใช้ง่าย และจากการทดลองดังกล่าวยังไม่พบผลข้างเคียง

ชะลอการเสื่อมโทรมของผิวหนัง ด้วยคุณสมบัติของงาดำและงาขาวที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม และวิตามินต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีคุณสมบัติในการซ่อมแซมและสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวพรรณ รวมทั้งลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยกักเก็บออกซิเจน ทำให้เป็นผลดีต่อการคงความอ่อนเยาว์และชะลอความเสื่อมโทรมของผิวหนัง ทว่าประโยชน์ที่กล่าวมานี้ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยโดยตรงที่ยืนยันได้ และยังมีความน่าเชื่อถือน้อยเกินกว่าจะปักใจเชื่อว่างาดำมีประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณให้อ่อนเยาว์

กำจัดหูด ดอกของต้นงาหรือที่เรียกว่าดอกงานั้นมีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าสามารถช่วยรักษาหูดได้หากนำมาถูบริเวณที่เกิดหูดหรือนำมาต้มน้ำแล้วใช้ล้างหูด อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่างาดำหรืองาขาวจะช่วยได้จริงหรือไม่ ช่วยได้อย่างไร และยังไม่ใช่วิธีที่แพทย์แนะนำ

ประโยชน์ต่อสุขภาพเหงือกและฟัน

เหงือกอักเสบ ความเชื่อนี้มีที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในอินเดียที่ว่ากล่าวว่าการอมน้ำมันไว้ในปากจะช่วยให้สุขภาพเหงือกและฟันแข็งแรง ลดกลิ่นปาก การมีเลือดออกในปาก คอแห้ง ริมฝีปากแตก ต่อมาทางวิทยาศาสตร์เองได้มีการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการนี้ งานวิจัยหนึ่งใช้อาสาสมัครที่มีอาการเหงือกอักเสบจากคราบจุลินทรีย์ กลุ่มทดลองแรกให้อมน้ำมันงา ในขณะที่อีกกลุ่มบ้วนน้ำยาบ้วนปากกำจัดแบคทีเรีย (Chlorhexidine) ทุกวันนาน 10 วัน ปรากฏว่าทั้งการอมน้ำมันงาและการบ้วนปากด้วยน้ำยาต่างสามารถช่วยลดคราบสะสมของจุลินทรีย์และลดจำนวนจุลินทรีย์ในช่องปากลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันเคล็ดลับอมน้ำมันงาจึงเป็นหนึ่งในวิธีธรรมชาติสำหรับการรักษาเหงือกอักเสบที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย แต่การวิจัยดังกล่าวยังไม่เพียงพอจะพิสูจน์คุณสมบัติข้อนี้ของน้ำมันงาได้ หากต้องการลองทำตามควรทำด้วยความเหมาะสมและระมัดระวัง

ประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะ

ลดผมขาดหลุดร่วง อีกหนึ่งสรรพคุณที่ได้รับความนิยมของงาดำและงาขาว โดยเชื่อว่าจะช่วยรับมือกับปัญหาผมขาดหลุดร่วง บำรุงผมให้ดกดำ โดยเฉพาะงาดำที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บำรุงผมต่าง ๆ จำนวนมาก แต่แม้จะได้รับความนิยมมากเพียงใด ข้อเท็จจริงที่จะช่วยยืนยันคุณประโยชน์ข้อนี้กลับยังมีไม่พอ และไม่อาจอธิบายได้ว่างาดำหรืองาขาวช่วยลดการขาดร่วงและเพิ่มความดำของผมได้อย่างไร คงต้องรอให้มีการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัตินี้ของงาดำโดยตรงเสียก่อน

ข้อแนะนำในการใช้งาดำและงาขาว

งาดำและงาขาวที่นำมาปรุงในอาหารเพื่อรับประทานนั้นปลอดภัยต่อร่างกายสำหรับคนส่วนใหญ่ ส่วนการใช้งาในรูปแบบการรับประทานผ่านสายให้อาหารทางรูจมูกไปยังกระเพาะอาหารหรือใช้การใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของน้ำมันงาในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็อาจไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่เพื่อความปลอดภัยไม่ควรใช้นานเกินกว่า 20 วัน ทว่าการรับประทานหรือใช้ในลักษณะอื่น ๆ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยได้ ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษหากอยู่ในภาวะต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรสามารถรับประทานงาดำและงาขาวได้อย่างค่อนข้างปลอดภัยเมื่อได้รับในปริมาณปกติจากอาหาร แต่ไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อรักษาโรคชนิดใด ๆ เพราะยังไม่มีข้อมูลน่าเชื่อถือรับรองความปลอดภัย
  • เด็ก ๆ เองรับประทานงาดำและงาขาวที่พบในอาหารปกติได้โดยไม่น่าจะเป็นอันตรายใด ๆ ส่วนการใช้เพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น อาการ ไอ อาจปลอดภัยหากใช้เพียงช่วงสั้น ๆ โดยให้รับประทานน้ำมันงา 5 มิลลิลิตรก่อนนอนติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังการรับประทานงาดำและงาขาว เพราะอาจส่งผลให้ระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำเกินพอดี
  • การรับประทานงาดำและงาขาวอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไปในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว
  • เนื่องจากงาดำและงาขาวอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดขณะผ่าตัดหรือหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ จึงควรหยุดรับประทานงาดำในฐานะอาหารเพื่อรักษาโรคบางชนิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ปริมาณการใช้ที่แนะนำ

ปัจจุบันการรับประทานหรือใช้งานั้นยังไม่มีคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณที่ควรใช้ เพราะทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะระบุปริมาณการใช้ โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ประวัติสุขภาพ โรคและภาวะต่าง ๆ ดังนั้น ก่อนการทดลองรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากงาดำและงาขาวจึงต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง และระลึกไว้เสมอว่าสมุนไพรหรืออาหารเสริมที่อ้างว่าผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติทั้งหลายล้วนอาจทำปฏิกิริยากับยาหรือส่งผลต่อภาวะที่เป็นอยู่ และเกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น