ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)

ความหมาย ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)

Rhabdomyolysis หรือภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อลายส่วนที่เสียหายสลายตัวแล้วปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจทำให้ไตวายได้ หากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยควรพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

Rhabdomyolysis

อาการของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

Rhabdomyolysis อาจส่งผลให้ผู้ป่วยแต่ละรายแสดงอาการแตกต่างกัน ซึ่งอาจมีอาการทางกล้ามเนื้อร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยอาการที่สำคัญ มีดังนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่บริเวณแขนขา และเคลื่อนไหวลำบาก
  • ปวดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ หลังส่วนล่าง หรือต้นขา
  • ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเหมือนน้ำโคล่า

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย
  • รู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย มีไข้
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ
  • มีรอยฟกช้ำตามตัว
  • ปวดตามข้อ
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • สับสน กระวนกระวาย
  • ชัก หมดสติ

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

Rhabdomyolysis เกิดจากกล้ามเนื้อลายส่วนที่เสียหายสลายตัวแล้วปล่อยสารไมโอโกลบินเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหากมีสารนี้ในปริมาณมากเกินไปจะส่งผลให้ไตเกิดความเสียหายได้

โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมของกล้ามเนื้อ
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เช่น ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันผิดปกติ ขาดความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน หรือไฮโปไทรอยด์
  • ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
  • อุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะมีไข้สูง โรคลมแดด ไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
  • กล้ามเนื้อขาดเลือดหรือตาย กล้ามเนื้อสั่นอย่างรุนแรง กล้ามเนื้ออักเสบ อาการชักเกร็ง
  • การออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมาก หรือการออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอย่างวิ่งมาราธอน
  • อุบัติเหตุ เช่น รถชน ไฟช็อต หรือฟ้าผ่า เป็นต้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ เริม และเอชไอวี เป็นต้น
  • การได้รับสารพิษ เช่น พิษงูกัด เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิดอย่างยากลุ่มสแตติน เช่น อะทอร์วาสแตติน โรสวาสแตติน และปราวาสแตติน เป็นต้น หรือยาอื่น ๆ เช่น ยาสลบแบบสูดดม เซฟาโลสปอริน โคลชิซิน หรืออิริโทรมัยซิน เป็นต้น
  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • การใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน โคเคน เฮโรอีน ยาอีหรือเอ็คซ์ตาซี เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยตรวจดูอาการกดเจ็บของกล้ามเนื้อลายมัดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด อีกทั้งอาจต้องตรวจหาสารต่าง ๆ ในเลือดและปัสสาวะ ดังนี้

  • โพแทสเซียม ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อเกิดความเสียหาย
  • แคลเซียม การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อส่งผลให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดลดน้อยลง
  • ครีอะตินีน เป็นสารที่เกิดจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ โดยถูกกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางไต
  • ครีเอทีนไคเนส เป็นเอนไซม์ที่พบในกล้ามเนื้อลาย สมอง และหัวใจ โดยจะตรวจพบสารนี้ในปริมาณสูงหากกล้ามเนื้อเกิดการสลายตัว
  • ไมโอโกลบิน เป็นโปรตีนที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของกล้ามเนื้อเช่นกัน

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลอาการและรักษาตัวเองได้ที่บ้านด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ลดการออกแรง พักผ่อนมาก ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อฟื้นตัว ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเหลวในปริมาณมากเพื่อป้องกันไตเสียหาย เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาจต้องรักษาตัวในหน่วยไอซียูหรือห้องดูแลผู้ป่วยหนัก เพื่อให้ได้รับการดูแลและรักษาอาการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ดังนี้

  • การให้สารน้ำทดแทน เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยแพทย์อาจให้น้ำเกลือหรือสารน้ำที่ผสมยาไบคาร์บอเนตแก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ เพื่อทดแทนของเหลวในร่างกายและช่วยกำจัดสารไมโอโกลบินออกจากไต ซึ่งช่วยรักษาการทำงานของหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
  • การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาไบคาร์บอเนตหรือยาขับปัสสาวะบางชนิดเพื่อช่วยให้ไตทำงานเป็นปกติร่วมกับรักษาภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียมในเลือดสูง หรือแคลเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
  • การฟอกไต ใช้ทดแทนการทำงานของไตเพื่อช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกายในกรณีที่เนื้อไตเสียหายหรือเกิดไตวายเฉียบพลัน
  • การผ่าตัด ใช้รักษาความตึงหรือแรงกดที่ทำให้เกิดภาวะขาดการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเส้นประสาทเสียหายหรือกล้ามเนื้อตายจากภาวะความดันในกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ
  • การรักษาอื่น ๆ แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาอื่น ๆ หากผู้ป่วย Rhabdomyolysis กำลังใช้ยารักษาโรคหรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือภาวะไทรอยด์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหยุดใช้ยาหรือปรับยาให้เหมาะสม

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติได้ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารหรือกิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงภายหลังการรักษา รวมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำอีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

ภาวะแทรกซ้อนของ Rhabdomyolysis ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ความดันในกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และอาจทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นเสียหาย
  • ขาดสมดุลของสารต่าง ๆ ในเลือดจนอาจเป็นอันตรายได้ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงที่อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้นได้ เป็นต้น
  • ตับทำงานผิดปกติ
  • ไตเสียหายถาวรหากเนื้อไตเสียหายมาก หรือไตวายเฉียบพลัน
  • ช็อกจากภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • เสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

การป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

โดยทั่วไป Rhabdomyolysis สามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำทันทีเมื่อรู้สึกกระหาย พกน้ำดื่มติดตัวไว้เสมอเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย เพื่อให้ปัสสาวะเจือจางและช่วยให้ไตขับสารไมโอโกลบินออกจากร่างกาย
  • ดื่มน้ำในปริมาณมากขึ้นหากออกแรงมากจนกล้ามเนื้อเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บ โดยผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อเสื่อมอาจดื่มน้ำมากกว่าคนทั่วไปหลังทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ
  • ไปพบแพทย์หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าตนเองอาจป่วยเป็น Rhabdomyolysis