ผักและสมุนไพรรักษาเบาหวานได้จริงหรือ ?

พืชผักสมุนไพรหลากหลายชนิดที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งก็มีงานวิจัยบางส่วนที่ศึกษาว่าผักและสมุนไพรรักษาเบาหวานได้จริง อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นพืชผักใกล้ตัวที่หารับประทานได้ง่าย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคนี้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สมุนไพรรักษาเบาหวาน

เบาหวาน (Diabetes) โรคเรื้อรังที่จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินหรือใช้อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกระแสเลือดที่คอยช่วยดูดซึมน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกตินี้ขึ้นจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงและสร้างความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย การควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งนอกจากการรับประทานยาและการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลแล้ว สมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือดทั้งหลายก็ยังได้รับความสนใจและมีการสรรหามารับประทานกันอย่างหลากหลาย

มะระ ผักที่ขึ้นชื่อว่ามีประโยชน์สารพัดและยังถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการป่วยต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน รวมถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในมะระประกอบไปด้วยสารที่มีคุณสมบัติช่วยต้านเบาหวานอย่างน้อย 3 ชนิด คือ คาแรนติน (Charantin) ที่พบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงได้ ส่วนอีก 2 ชนิดได้แก่ สารไวซีน (Vicine) และสารโพลีเพปไทด์พี (Polypeptide-p) ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่คล้ายอินซูลิน นอกจากนี้ยังมีโปรตีนเลคติน (Lectin) ที่สามารถลดความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดลง โดยเชื่อว่าสารนี้เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงหลังจากการรับประทานมะระเข้าไป

สำหรับข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณสมบัติของมะระต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของมะระตระกูลหนึ่งคือมะระขี้นก เปรียบเทียบกับยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งเป็นยาลดน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 4 กลุ่ม ให้รับประทานมะระวันละ 500 กรัม 1,000 กรัม และ 2,000 มิลลิกรัม/วัน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสุดท้ายให้ใช้ยาเมทฟอร์มินในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลาทั้งหมด 4 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่รับประทานมะระวันละ 2,000 มิลลิกรัม/วัน มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างชัดเจน แต่เมื่อเทียบกับการใช้เมทฟอร์มินแล้ว ประสิทธิภาพในการรักษาของมะระยังมีน้อยกว่า อย่างไรก็ดี งานวิจัยเก่า ๆ บางงานเองก็กล่าวว่าการรับประทานมะระน่าจะมีความเกี่ยวโยงกับการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผลการศึกษาที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามก็มีเช่นกัน เช่น งานวิจัยหนึ่งศึกษากลุ่มผู้ทดลองอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือมีพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดี โดยให้รับประทานแคปซูลมะระหลังมื้ออาหารวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด เป็นเวลา 3 เดือนเพิ่มเติมจากยารักษาเบาหวานที่ใช้อยู่ ผลลัพธ์พบว่า เมื่อเทียบกับยาหลอก แคปซูลมะระอาจส่งผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดเพียงเล็กน้อย จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านนี้ของมะระ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังต้องมีการศึกษาที่มีรูปแบบรัดกุมและน่าเชื่อถือเพียงพอมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อทราบถึงประโยชน์ของมะระที่น่าจะเป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวานดังนี้แล้ว หลายคนคงต้องการลองรับประทานสมุนไพรทางเลือกชนิดนี้ดู ซึ่งก็อาจไม่เสียหายอะไรหากมีการปรึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้กับแพทย์แล้ว เนื่องจากมะระอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • การรับประทานมะระอาจไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าสารบางชนิดในผลหรือเมล็ดของมะระอาจสามารถทำให้มีเลือดประจำเดือนผิดปกติและเกิดการแท้งลูกได้ ส่วนหญิงที่ให้นมบุตรก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงจะเป็นการดีที่สุด
  • ไม่ควรรับประทานมะระเป็นอาหารเกินกว่า 55 กรัมโดยประมาณ หรือเทียบเป็นมะระขี้นกจำนวน 2 ลูกต่อวัน เพราะการรับประทานมากเกินอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องอ่อน ๆ หรือท้องเสียได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการใช้มะระในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าการรับประทานมะระควบคู่กับยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่จะปลอดภัย เพราะการรับประทานทั้งยารักษาโรคเบาหวานและมะระอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป ควรรับประทานอย่างระมัดระวังและหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
  • การรับประทานมะระที่มีคุณประโยชน์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดร่วมกับสมุนไพรหรือพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเดียวกันนี้อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำจนเป็นอันตรายได้เช่นเดียวกัน ได้แก่ กระเทียม เมล็ดลูกซัด โสม กรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-lipoic acid) โครเมียม (Chromium) กัวร์กัม (Guar gum) ยาไซเลียม (Psyllium) และอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยด้วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือที่เรียกว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้า โดยเป็นโรคที่คาดว่าจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดท้อง และถึงขั้นเกิดภาวะโคม่าได้ในบางราย อาจเกิดอาการแพ้เช่นเดียวกันนี้หลังจากรับประทานเมล็ดของมะระ เพราะมีการศึกษาพบว่าในเมล็ดมะระมีสารคล้ายกันกับสารที่พบในถั่วปากอ้า
  • มะระอาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดระหว่างการผ่าตัดหรือหลังรับการผ่าตัดได้ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ จึงควรงดรับประทานมะระเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

อบเชย เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่หาได้ง่ายในไทย นอกจากประโยชน์ในด้านการปรุงอาหาร ยังกล่าวกันว่ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคเบาหวานได้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าอบเชยมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีหลายงานวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ชี้ว่าอบเชยจะช่วยเพิ่มตัวรับอินซูลินที่มีหน้าที่ดึงกลูโคสไปเป็นพลังงานยังเซลล์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น และอาจช่วยกระตุ้นความไวต่ออินซูลิน

การทดลองชิ้นหนึ่งที่ช่วยยืนยันความคิดข้างต้น คือการศึกษาโดยใช้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งหมด 60 คน เป็นชาย 30 คน และหญิง 30 คน แบ่งกลุ่มให้รับประทานอบเชยวันละ 1 กรัม 3 กรัม และ 6 กรัมทุกวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอกเป็นเวลา 40 วัน ผลปรากฏว่าการรับประทานอบเชยในปริมาณ 1 กรัม 3 กรัม หรือ 6 กรัม ต่างช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และคอเลสเตอรอลโดยรวมของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยพบว่าสารโครเมียมและโพลีฟีนอลในอบเชยจะช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลินให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลการทบทวนและวิเคราะห์การศึกษาทางคลินิกจำนวน 10 ชิ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 อย่างเป็นระบบในปี 2012 ยังชี้ว่าอบเชยไม่อาจช่วยลดระดับกลูโคสหรือระดับน้ำตาลสะสมในเลือดซึ่งเป็นการตรวจวัดค่าในระยะยาวได้

จากข้อสรุปข้างต้น จึงยังไม่อาจรับรองถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้อบเชยช่วยรักษาหรือป้องกันโรคเบาหวาน รวมทั้งสรรพคุณต่อโรคใด ๆ หากเลือกใช้จึงควรระมัดระวังเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรอื่น ๆ ซึ่งข้อควรระวังในการรับประทานอบเชยที่ควรทราบมีดังนี้

  • ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งก่อนเริ่มใช้อาหารเสริมจากอบเชยหรือเพิ่มอบเชยลงในมื้ออาหาร
  • การรับประทานอบเชยถือว่าปลอดภัยหากใช้ในช่วงสั้น ๆ และปริมาณไม่มากจนเกินไป แต่ในบางคนก็อาจมีอาการแพ้ได้
  • ไม่ควรใช้อบเชยรักษาแทนการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือใช้รักษาไปก่อนโดยไม่รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคตับไม่ควรรับประทานอบเชยชนิดแคสเซีย (Cassia Cinnamon) ซึ่งจะประกอบด้วยสารคูมาริน (Coumarin) มากน้อยแตกต่างกันไปไม่คงที่ การได้รับสารนี้ในปริมาณมากอาจส่งผลให้โรคตับที่เป็นอยู่แย่ลง แม้ว่าในอบเชยชนิดนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีสารคูมารินมากพอที่จะทำให้ได้รับอันตรายได้ก็ตาม

เมล็ดลูกซัด เป็นสมุนไพรที่คุ้นเคยกันดีเกี่ยวกับสรรพคุณที่อาจช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ และยังมีการแนะนำว่าน่าจะมีประสิทธิภาพต่อการรักษาเบาหวานได้ดีเช่นกัน เนื่องจากในเมล็ดลูกซัดนี้ประกอบไปด้วยเส้นใยที่สามารถละลายได้ ซึ่งอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงด้วยการไปชะลอกระบวนการย่อยและดูดซึมคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลง ทั้งยังมีกลไกเช่นเดียวกับอบเชยในการช่วยกระตุ้นตัวรับอินซูลินในร่างกายให้สามารถดึงน้ำตาลกลูโคสไปเป็นพลังงานให้เซลล์ได้มากขึ้น

งานวิจัยหลายชิ้นอาจช่วยยืนยันประสิทธิภาพในการเป็นยาต้านเบาหวานของเมล็ดลูกซัดได้ ยกตัวอย่างการทดลองหนึ่งที่ให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 69 คนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองได้ไม่ดี รับประทานแคปซูลเมล็ดลูกซัดครั้งละ 6 เม็ด วันละ 3 ครั้ง นาน 12 สัปดาห์ เทียบกับอีกกลุ่มที่ให้ยาหลอก ผลลัพธ์พบว่าเมล็ดลูกซัดสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน 24 คน โดยรับประทานเมล็ดลูกซัดผสมกับโยเกิร์ต หรือเมล็ดลูกซัดแบบแช่ในน้ำร้อนเป็นเวลาติดต่อนาน 8 สัปดาห์ ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานเมล็ดลูกซัดผสมโยเกิร์ต การรับประทานเมล็ดลูกซัดแบบแช่ในน้ำร้อนส่งผลให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารลดลงมากพอสมควร ทว่างานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้เป็นเพียงการทดลองในกลุ่มคนจำนวนไม่มากและมีระยะเวลาในการทดลองเพียงไม่นาน จึงยังไม่สามารถนำมาสรุปผลการรักษาได้อย่างชัดเจน

สำหรับการใช้เมล็ดลูกซัดเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) แนะนำว่าขณะนี้การศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของเมล็ดลูกซัดในการลดระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่เพียงพอที่จะเชื่อถือได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ดี หากต้องการลองใช้เมล็ดลูกซัด ก็ควรคำนึงถึงข้อระมัดระวังในการรับประทาน ดังนี้

  • เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการลองใช้เมล็ดลูกซัดช่วยรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ เพราะการใช้เมล็ดลูกซัดที่มีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้วควบคู่กับยารักษาโรคเบาหวานอาจยิ่งทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกิดอันตรายได้ จึงควรมีการปรับลดปริมาณการใช้ยาโดยแพทย์ก่อน
  • ไม่ควรใช้เมล็ดลูกซัดรักษาอาการป่วยใด ๆ แทนการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน ควรเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • อย่ารับประทานเมล็ดลูกซัดขณะกำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก
  • ยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยในการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ระหว่างการให้นมบุตร
  • การรับประทานเมล็ดลูกซัดอาจส่งผลคล้าย ๆ กับการเกิดฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ทำให้ไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งที่มีความไวต่อฮอร์โมน
  • เมล็ดลูกซัดอาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการท้องเสีย ปัสสาวะเป็นกลิ่นคล้ายเมเปิล มีน้ำนมไหลออกจากเต้า มีเหงื่อออก และทำให้โรคหืดที่เป็นอยู่มีอาการที่แย่ลงได้

ตำลึง พืชผักสวนครัวไม้เลื้อยใกล้ตัวชนิดนี้เชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นยาต้านเบาหวานเช่นกัน สำหรับกลไกในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของตำลึงแม้จะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าในตำลึงประกอบด้วยสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนอินซูลิน และจะช่วยหยุดยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่มีส่วนร่วมในการผลิตกลูโคสขึ้นมา การรับประทานตำลึงจึงอาจมีส่วนช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของตำลึงในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 60 คน อายุ 35-60 ปี กลุ่มหนึ่งรับประทานสารสกัดจากตำลึงวันละ 1 กรัม อีกกลุ่มรับประทานยาหลอกเป็นเวลา 90 วัน ผลลัพธ์พบว่าสารสกัดจากตำลึงมีประสิทธิภาพในการช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลง

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกงานหนึ่งที่ใช้ใบตำลึงสดปริมาณ 20 กรัมมาทำเป็นสลัด ผสมมะพร้าวขูดและเกลือ รับประทานเป็นอาหารเช้า แล้วทดสอบระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในเลือดโดยใช้กลูโคส 75 กรัม ผลการทดลองชี้ว่าตำลึงมีประสิทธิภาพช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านนี้ของตำลึงในปัจจุบันยังถือว่าน้อยมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

การรับประทานตำลึงอาจไม่อันตรายต่อคนปกติทั่วไป หากรับประทานติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนการรับประทานในระยะเวลาที่นานกว่านี้ยังไม่มีการยืนยันถึงความปลอดภัย ผู้ที่ต้องการใช้ตำลึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคเบาหวานหรือโรคใด ๆ ควรระมัดระวังถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นต่อไปนี้

  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือเพียงพอที่รับรองได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดอันตราย
  • เนื่องจากตำลึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเกินกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระวังในการใช้เป็นอย่างยิ่งหากใช้ควบคู่กับยารักษาโรคเบาหวาน และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนลองใช้สมุนไพรชนิดนี้
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานตำลึงก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือดอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยในระหว่างและหลังรับการผ่าตัดได้

กระเทียม พืชสวนครัวหน้าตาคุ้นเคยชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ มากกว่า 400 ชนิด ซึ่งหลาย ๆ ชนิดมีส่วนช่วยป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งสารอัลลิซิน (Allicin)

สารอัลลิลโปรปิลไดซัลไฟท์ (Allyl Propyl Disulfide) และสารอัลลิลซิสเตอีน ซัลฟอกไซด์ (S-allyl Cysteine Sulfoxide) ที่จะกระตุ้นให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้น และทำให้ร่างกายนำอินซูลินเหล่านี้ไปใช้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

สำหรับข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยเผยว่าการรับประทานกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง ไม่ว่าจะเป็นกระเทียมดิบ กระเทียมที่นำมาปรุงในอาหาร หรือสารสกัดจากกระเทียม

นอกจากนี้ อีกงานวิจัยยังชี้ว่ากระเทียมอาจใช้รักษาร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานได้ดี โดยในการศึกษาเกี่ยวกับใช้กระเทียมร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอย่างเมทฟอร์มิน (Metformin) ในผู้ป่วยเบาหวานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ปรากฏว่ากระเทียมและเมทฟอร์มินช่วยลดค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารได้ดีกว่าการใช้เมทฟอร์มินอย่างเดียว สอดคล้องกับบางงานวิจัยที่แนะนำว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์บางชนิดจากกระเทียมควบคู่ไปกับยาต้านเบาหวานเป็นเวลา 4-24 สัปดาห์สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในผู้ป่วยเบาหวานลงได้

อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนงานวิจัยต่าง ๆ ในปัจจุบันยังให้ข้อสรุปว่ากระเทียมไม่น่ามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลหรือคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ว่าจะกับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ประสิทธิภาพของกระเทียมในการรักษาโรคเบาหวานจึงต้องรอให้มีการวิจัยที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนกว่าในตอนนี้

ทั้งนี้ การบริโภคกระเทียมโดยทั่วไปจะสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยแต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับบางคนได้ เพื่อความปลอดภัยควรรับประทานแต่พอดีและคำนึงถึงความปลอดภัยในกรณีต่อไปนี้

  • การรับประทานกระเทียมอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดกลิ่นปากและกลิ่นตัว ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบร้อนกลางอก ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าหากรับประทานกระเทียมสด และในบางรายอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นได้
  • การรับประทานกระเทียมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก หากมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน หรือต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้หรือคิดว่าจะรับประทานกระเทียมเสริมเพื่อช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยบางชนิด
  • กระเทียมอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีอย่างซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
  • เช่นเดียวกับสมุนไพรหรือพืชผักชนิดอื่นที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยากลองใช้กระเทียมจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้เพื่อให้แน่ใจว่าจะปลอดภัยและทราบถึงคำแนะนำการใช้ที่ถูกต้อง

ความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรทางเลือกรักษาโรคเบาหวาน

ในปัจจุบัน การนำพืชสมุนไพรต่าง ๆ มาใช้ในการรักษาโรคเบาหวานนั้นไม่ได้มีการรับรองทางการแพทย์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ และแม้ว่าจะมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่สมุนไพรหรืออาหารเสริมที่รับประทานเข้าไปอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาเบาหวานที่แพทย์สั่งจ่าย หรือยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนถึงขีดอันตรายและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาในที่สุดได้

ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจลองใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมทางเลือกใด ๆ ในการรักษาเบาหวาน รวมถึงโรคชนิดใดก็ตาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและทราบถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ แต่มีความวิตกกังวลหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ควรต้องเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์เท่านั้น ไม่ควรลองใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมเองโดยพลการ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ที่ผิดวิธีหรือส่งผลให้อาการยิ่งแย่ลงได้ เช่นเดียวกันกับผู้ที่เพิ่งตรวจพบโรคเบาหวานที่จะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์จนกว่าระดับของน้ำตาลในเลือดจะคงที่

การรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวด้วยการรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารอุดมด้วยสารอาหารและเส้นใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีทั้งหลาย รวมถึงปรับการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและของหวาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยในการช่วยให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงและเพิ่มความไวต่ออินซูลินของผู้ป่วย

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว การรักษาเบาหวานแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะต้องได้รับการรักษาด้วยการให้อินซูลิน ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อย ๆ ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การรักษาแรกเริ่มคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปกับการรับประทานยารักษาโรคเบาหวานหรือการให้อินซูลิน บางรายอาจต้องให้รับทั้งยารักษาและอินซูลิน

สำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น สิ่งสำคัญก็คือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด นอกจากนั้น ยังควรควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเช่นเดียวกัน รวมทั้งต้องคอยตรวจวัดน้ำตาลในเลือด และอาจมีการให้อินซูลินด้วยในบางกรณี