ผักกาดขาว กับหลากประโยชน์เพื่อสุขภาพ

ผักกาดขาว เป็นผักรสชาติหวานอร่อยที่หารับประทานได้ทั่วไป ทั้งยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย จึงเชื่อว่าการบริโภคผักชนิดนี้อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ต้านการอักเสบ หรือแม้แต่อาจป้องกันโรคมะเร็งได้

ผักกาดขาว

ผักกาดขาวสดอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินเอ และวิตามินเค รวมถึงสารประกอบฟีนอลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น สารเคมเฟอรอล (Kaempferol) และสารเควอซิทิน (Quercetin) ที่อาจมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยบางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผักกาดขาวต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

รักษาโรคเบาหวาน ผักกาดขาวอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ในขณะที่มีน้ำตาลปริมาณน้อย โดยในผักกาดขาว 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่เพียงแค่ 1.4 กรัมเท่านั้น จึงเชื่อว่าผักกาดขาวอาจเป็นอาหารทางเลือกที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขไทยยังเผยว่า การบริโภคผักกาดขาวอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานบริโภคกิมจิที่ทำจากผักกาดขาวในปริมาณที่แตกต่างกันร่วมกับการบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ ทั้งที่มีไขมันสูงและมีไขมันต่ำเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคกิมจิจากผักกาดขาวพบว่า หนูทดลองกลุ่มที่บริโภคกิมจิจากผักกาดขาวมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำลง และมีความทนทานต่อกลูโคสมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่บริโภคกิมจิในปริมาณมาก แม้ว่าจะบริโภคร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงด้วยก็ตาม จึงคาดว่าผักกาดขาวอาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอาจช่วยรักษาหรือต้านโรคเบาหวานได้

แม้มีผลลัพธ์ในทางบวก แต่งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์

ต้านการอักเสบ กระบวนการอักเสบเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่การอักเสบอย่างเรื้อรังหรือรุนแรงอาจสร้างความเจ็บปวดและนำไปสู่โรคเรื้อรังหลายชนิดได้  ซึ่งผักกาดขาวมีสารเบอร์เทโรอิน (Berteroin) และสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่คาดว่าอาจช่วยต้านการอักเสบได้

โดยมีงานวิจัยหนึ่งใช้สารเบอร์เทโรอินที่พบได้ในผักกาดขาวทดลองกับเซลล์ผิวหนังอักเสบของหนูทดลอง พบว่าสารเบอร์เทโรอินอาจมีประสิทธิภาพต้านการอักเสบ และอาจนำมาพัฒนาเป็นสารรักษาการอักเสบทางผิวหนังในอนาคตได้

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเผยว่าในผักกาดขาวมีสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่อาจมีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อบริโภคเป็นประจำ เช่น สารเคมเฟอรอล และสารเควอซิทิน ซึ่งสารเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคบางชนิด และรักษาการอักเสบเรื้อรังในหลอดเลือดอย่างโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในตัวอย่างเซลล์หรือในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานที่ว่าผักกาดขาวสามารถต้านการอักเสบในมนุษย์ได้ต่อไป

ป้องกันโรคมะเร็ง โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559 มะเร็งจึงเป็นโรคร้ายสำคัญที่คนเฝ้าระวัง ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าสารสกัดที่ได้จากผักกาดขาวอาจมีฤทธิ์ในการป้องกันโรคมะเร็งได้

จากงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากผักกาดขาวซึ่งมีสารประกอบซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ทดลองกับเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวตับของหนู พบว่าสารดังกล่าวอาจช่วยป้องกันกระบวนการเกี่ยวกับเซลล์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าการใส่ผงสกัดจากผักกาดขาวลงไปในน้ำดื่มอาจช่วยยับยั้งการก่อตัวของสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) หรือสารจากเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ และลดการเกิดเนื้องอกในตับจากการกระตุ้นของสารอะฟลาทอกซินได้

แม้มีหลักฐานบางส่วนสนับสนุนว่าผักกาดขาวอาจมีคุณสมบัติป้องกันโรคมะเร็งตับได้ แต่การศึกษาในด้านนี้เป็นเพียงการทดลองในตัวอย่างเซลล์หรือในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงควรค้นคว้าทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม ก่อนนำผักกาดขาวมาประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันโรคมะเร็งในมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ข้อควรระวังในการบริโภคผักกาดขาว

เนื่องจากผักกาดขาวมีสารอาหารเป็นประโยชน์มากมายที่ดีต่อสุขภาพร่างกายด้านต่าง ๆ และมีแคลเซียมสูงถึง 77 มิลลิกรัม/ผักกาดขาวหนัก 100 กรัม จึงทำให้ผักกาดขาวอาจเป็นแหล่งแคลเซียมสำคัญสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวได้ด้วย แต่ผู้บริโภคอาจต้องรับประทานผักกาดขาวในปริมาณที่มากกว่า 1.5 กิโลกรัม/วัน เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้น ผู้บริโภคควรรับประทานผักกาดขาวในปริมาณพอดี และบริโภคอาหารชนิดอื่น ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทยเผยว่า นอกจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรบางรายอาจลดต้นทุนในการผลิตโดยนำอุจจาระคนหรือมูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ยรดผักตามแหล่งเพาะปลูกต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิ และเชื้อโรคอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับผักสด ซึ่งอาจก่อโรคพยาธิหรือโรคในระบบทางเดินอาหารแก่ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะผักชนิดที่ใบไม่เรียบและซ้อนกันมาก ๆ อย่างผักกาดขาว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำวิธีการรับประทานผักกาดขาวอย่างปลอดภัยไว้ ดังนี้

  • เลือกซื้อผักที่ปลอดสารหรือผักเกษตรอินทรีย์ โดยสังเกตผักที่มีรูตรงใบหรือร่องรอยอื่น ๆ จากแมลง หรือเลือกซื้อผักจากแหล่งที่มีการรับรองความปลอดภัยจากทางราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น
  • ล้างผักให้สะอาด ก่อนนำไปรับประทาน ควรล้างผักโดยเปิดน้ำให้ไหลผ่านผักเพื่อชะล้างเศษดินหรือสิ่งปนเปื้อนให้ออกไปจนหมด และลดสารพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในผัก
  • เก็บผักในบริเวณที่ปลอดสาร บริเวณที่ใช้เตรียม ปรุง หรือเก็บผักต้องไม่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เก็บหรือใช้สารกำจัดแมลงและสารเคมีอื่น ๆ เพราะสารต่าง ๆ อาจปนเปื้อนเข้าสู่ผักได้
  • ปลูกผักเอง หากผู้บริโภคปลูกผักไว้รับประทานเองก็จะมั่นใจได้ว่าไม่มีสารพิษใด ๆ ตกค้างปนเปื้อนในผัก ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีง่าย ๆ แม้อยู่ในเมืองหรือพื้นที่จำกัด เช่น การปลูกผักในกระถาง ปลูกผักลอยฟ้า ปลูกผักริมรั้ว และปลูกผักสวนครัว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผักนอกฤดูกาล เกษตรกรบางรายมักใส่ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก เพื่อให้พืชผักแข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลงมากขึ้นเมื่อนำมาปลูกขายนอกฤดูกาล ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผักนอกฤดู เพื่อช่วยให้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างดังกล่าวได้ ซึ่งผักกาดขาวเป็นผักในฤดูหนาว จึงควรรับประทานผักนี้ในช่วงเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม