องุ่น สรรพคุณ และคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

องุ่น เป็นพืชไม้เลื้อยในตระกูลเบอร์รี่ชนิดหนึ่ง อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายทั้งวิตามินซีและวิตามินเค ประกอบไปด้วยฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าองุ่นมีคุณสมบัติที่ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และใบขององุ่นอาจมีส่วนช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยสมานเนื้อเยื่อ หยุดเลือด และช่วยลดอาการท้องเสีย แต่ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานองุ่น รวมถึงสารสกัดจากเมล็ดองุ่นที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

องุ่น

องุ่นกับประโยชน์ด้านสุขภาพ

การไหลเวียนเลือดไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอาการขาบวมและเส้นเลือดขอด ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหรือเส้นเลือดอาจเป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ และองุ่นเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยหรือเป็นประโยชน์ต่ออาการดังกล่าว จึงทำให้มีการทดลองชิ้นหนึ่งให้ผู้หญิงที่ทำงานโดยต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่นหรือยาหลอกแบบครั้งเดียวและแบบ 14 วัน โดยนั่งนาน 6 ชั่วโมง พบว่าการรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น โดยมีโปรแอนโทไซยานิดิน (Proanthocyanidin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการยับยั้งอาการขาบวมในผู้หญิงซึ่งแข็งแรงดีแต่ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานอย่างมีนัยสำคัญ

บำรุงสายตา องุ่นประกอบไปด้วยสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสายตา ซึ่งมีการทดลองเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นเพื่อรักษาเซลล์ปมประสาทของเรตินาหรือจอตา (Retina Ganglion Cell) พบว่าอัตราการตายของเซลล์ประสาทลดลง เป็นผลมาจากสารสกัดจากเมล็ดองุ่นเข้าไปยับยั้งการทำลายเซลล์จากอนุมูลอิสระ แต่เนื่องจากยังเป็นเพียงการทดลองที่อยู่ในห้องทดลอง จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพขององุ่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การรักษาด้วยองุ่นที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ

สมรรถภาพในการออกกำลังกาย นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักจะผลิตสารประกอบที่มีออกซิเจนในโมเลกุลมากเกินไป (Reactive Oxygen Species) ซึ่งอาจทำให้เซลล์ในร่างกายเสียหาย รวมถึงระดับสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้บการสร้างอนุมูลอิสระ จึงทำให้มีการวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากองุ่นที่อาจช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและสมรรถภาพในการออกกำลังกายของนักกีฬาชาย โดยสุ่มให้นักกีฬาแฮนด์บอล บาสเกตบอล นักวิ่ง และวอลเลย์บอลจำนวนทั้งสิ้น 20 คนที่อยู่ในช่วงระหว่างการแข่งขันกีฬา รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากองุ่นขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 30 วัน และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก โดยตรวจเลือดและปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการทดลอง 1 เดือน พบว่าระดับสารต้านอนุมูลอิสระและสมรรถภาพในการออกกำลังกายของนักกีฬาแฮนด์บอลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติของสารสกัดจากองุ่น และการวิจัยนี้ยังสนับสนุนให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและกลไกการทำงานของสารสกัดจากองุ่นในนักกีฬา

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในโรคที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือ ซึ่งมีการแนะนำให้รับประทานผักหรือผลไม้ รวมถึงองุ่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยมีงานวิจัยทางระบาดวิทยาชี้ให้เห็นว่าการบริโภคไวน์หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากองุ่น รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลง ซึ่งการทดลองได้แสดงให้เห็นว่าสารโพลีฟีนอลในองุ่นช่วยลดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งด้วยกลไกต่าง ๆ รวมถึงการยับยั้งออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ส่งผลดีต่อปฏิกิริยารีดอกซ์ของเซลล์หรือการควบคุมปฏิกิริยาการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกายให้สมดุล ปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ ลดระดับความดันโลหิต ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดการอักเสบ และกระตุ้นการทำงานของโปรตีนเพื่อป้องกันเสื่อมสภาพของเซลล์ ซึ่งมีหลายงานวิจัยในมนุษย์สนับสนุนประสิทธิภาพขององุ่นที่กล่าวมาข้างต้น แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาก่อนการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและกำหนดแนวทางในการบริโภคองุ่นต่อไป อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันสนับสนุนและแนะนำว่าการรับประทานองุ่น รวมถึงผักและผลไม้ชนิดอื่น ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้

คอเลสเตอรอลสูง การบริโภคองุ่นซึ่งเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์จะส่งผลต่อสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด ลดการสร้างลิ่มเลือด ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้มีการทดลองชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบริโภคน้ำองุ่นแดงต่อระดับไขมันในร่างกาย โดยให้อาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี ไม่สูบบุหรี่ และไม่รับประทานยารักษาโรค อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 25-60 ปี จำนวน 26 คน บริโภคน้ำองุ่นแดงปริมาณ 150 มิลลิลิตร 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน โดยวัดระดับไขมันในเลือด ได้แก่ ไขมันดี (HDL-C) โฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) ไลโปโปรตีน (Apolipoprotein) ชนิด AI และชนิด B ทั้งก่อนและหลังการทดลอง 1 เดือน พบว่าการบริโภคน้ำองุ่นแดงอาจช่วยลดระดับโฮโมซิสเตอีนและเพิ่มระดับไขมันดีอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิจัยในครั้งนี้อาจมีความหมายสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งต่อผู้ป่วย แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

ความดันโลหิตสูง เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ปัจจุบันมีหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบขององุ่นต่อความดันโลหิต จึงทำให้เกิดการวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารโพลีฟีนอลที่พบในองุ่น จากผลการศึกษาทั้งหมด 10 ชิ้น พบว่าการรับประทานองุ่นที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอลเป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัว หรือความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic Blood Pressure) อย่างมีนัยสำคัญ และลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานยาลดความดันโลหิต ทั้งนี้ การศึกษาในอนาคตจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องการออกแบบการทดลองให้ดีขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันผลการทดลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ จากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงหลักฐานเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอลซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในองุ่น โดยเฉพาะสารสกัดจากเมล็ดองุ่น รวมถึงผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ โดยมีการรายงานถึงประโยชน์ของสารโพลีฟีนอลว่าอาจช่วยยับยั้งความเสี่ยงของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก จากผลการศึกษาพบว่าสารโพลีฟีนอลในองุ่นส่งผลต่อความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของตับและหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารพฤษเคมี สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และอื่น ๆ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสารโพลีฟีนอลในองุ่นต่อไป

นอกจากนี้ ยังงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแบ่งอาสาสมัครกลุ่มอาการทางเมตาบอลิกออกเป็น 3 กลุ่ม และสุ่มให้รับประทานยาหลอก หรือสารสกัดจากเมล็ดองุ่นขนาด 150 มิลลิกรัม หรือสารสกัดจากเมล็ดองุ่นขนาด 300 มิลลกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยวัดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าความดันโลหิตของกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่นต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก แต่ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ไขมันพอกตับ เนื่องจากวิธีการรักษาโรคไขมันพอกตับยังค่อนข้างจำกัด ในขณะที่คุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระของผักและผลไม้มีมากขึ้น ทำให้มีการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นเพื่อช่วยปรับปรุงระบบการทำงานของตับในผู้ป่วยไขมันพอกตับ โดยสุ่มให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 15 คน รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเมล็ดองุ่นหรือวิตามินซีขนาด 1,000 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจการทำงานของตับในกลุ่มตัวอย่างก่อนการทดลอง และตรวจซ้ำในเดือนที่ 1, 2 และ 3 พบว่าสารสกัดจากเมล็ดองุ่นอาจช่วยทำให้ผู้ป่วยไขมันพอกตับมีอาการดีขึ้นหากมีการติดตามผลเป็นระยะเวลานาน

การรักษาด้วยองุ่นที่อาจไม่ได้ผล

คลื่นไส้และอาเจียนจากเคมีบำบัด หลายคนเชื่อว่าผักหรือผลไม้ที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ได้มีการทดลองชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ปานกลางและแบบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากจำนวนทั้งสิ้น 77 คน บริโภคน้ำองุ่นสายพันธุ์คอนคอร์ดในปริมาณ 4 ออนซ์หรือยาหลอก ก่อนมื้ออาหารเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ โดยบันทึกความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และขย้อนเป็นประจำทุกวัน พบว่าความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่าง แต่ไม่พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ  ดังนั้นประสิทธิภาพของฟลาโวนอยด์ในน้ำองุ่นคอนคอร์ดยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตด้วยกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการทดลอง

ความปลอดภัยในการรับประทานองุ่น

การรับประทานองุ่นเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างมีความปลอดภัย หรือรับประทานในรูปแบบยารักษาโรคก็อาจจะปลอดภัยเช่นกัน แต่หากรับประทานองุ่นรวมถึงลูกเกดในปริมาณที่มากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ในบางรายอาจมีอาการแพ้องุ่นหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากองุ่นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ไอ ปากแห้ง เจ็บคอ ปวดศีรษะ เกิดการติดเชื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการรับประทานองุ่น โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานองุ่นในรูปแบบอาหารเสริม ยารักษาโรค หรือในปริมาณที่มากกว่าปกติ จะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ดังนั้นควรรับประทานองุ่นในปริมาณที่เหมาะสมหรืองดการรับประทานองุ่นในระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด การรับประทานองุ่นอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่ายในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือดหรือภาวะเลือดออกผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรายงานปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในมนุษย์
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานองุ่นก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง หรือทำให้มีเลือดออกมากในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ หากรับประทานองุ่นร่วมกับการใช้ยาต่อไปนี้
    • ยาที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ที่ตับ (P450) เนื่องจากการบริโภคน้ำองุ่นอาจเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการทำลายยาที่ตับ และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาลดลง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานองุ่นร่วมกับยาดังต่อไปนี้
      • โคลซาปีน 
      • ไซโคลเบนซาพรีน
      • ฟลูวอกซามีน 
      • ฮาโลเพอริดอล 
      • อิมิพรามีน 
      • โอแลนซาปีน 
      • เพนตาโซซีน
      • โพรพราโนลอล 
      • ทีโอฟิลลีน 
      • ซอลมิทริปแทน
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน เนื่องจากการรับประทานองุ่นอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด และหากรับประทานร่วมกับวาร์ฟารินอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย อาจต้องปรับขนาดยาเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว และควรตรวจเลือดเป็นประจำ