ผักปลอดสารพิษ เป็นอย่างไร ปลอดภัยจริงไหม ?

ผักปลอดสารพิษ คือ พืชผลที่ได้จากการเพาะปลูกตามฟาร์มปกติ แต่ชาวสวนชาวไร่จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค แม้ว่าสารเหล่านั้นอาจช่วยกระตุ้นผลิตผลให้อุดมสมบูรณ์เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นก็ตาม

ผักปลอดสารพิษ

ผักปลอดสารพิษ ต่างจาก ผักออร์แกนิก อย่างไร ?

ผักปลอดสารพิษแตกต่างจากผักออร์แกนิก (Organic) ตรงที่ผักออร์แกนิกจะถูกเพาะปลูกจนเจริญเติบโตภายในบริเวณที่ถูกจำกัดป้องกันไว้ โดยปราศจากการใช้สารสังเคราะห์จำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค รวมถึงไม่ใช้ยา ฮอร์โมนเร่งโต หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชผล โดยเลือกใช้วิธีการตามธรรมชาติเพื่อดูแลพืชผักให้ออกดอกออกผลสมบูรณ์แทน เช่น การใช้ศัตรูตามธรรมชาติจำกัดศัตรูพืชชนิดนั้นก่อนจะเกิดความเสียหายแก่พืชผล ใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และพื้นดินที่จะใช้ปลูกผักออร์แกนิคต้องเป็นดินที่ตรวจสอบแล้วว่าปราศจากเชื้อโรคสิ่งเจือปน ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรมหรือการฉายรังสี โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดจะได้รับการดูแลควบคุมและคอยตรวจสอบระดับสารเคมีที่เจือปนในห้องแล็บอยู่เสมอ

ในขณะที่ผักปลอดสารพิษไม่ได้มีการพิสูจน์ยืนยันได้ 100% ว่าพืชผลเหล่านั้นจะปลอดสารพิษหรือสิ่งเจือปนใดจริง ๆ เนื่องจากในระหว่างการเพาะปลูก แม้เจ้าของสวนใช้วิธีการทางธรรมชาติเพื่อดูแลพืชผลทุกอย่าง และหลีกเลี่ยงไม่ใช้สารเคมีใด ๆ แต่ก็ยังคงมีโอกาสในการเกิดสารพิษตกค้างในพืชผักเหล่านั้นได้จากสภาพแวดล้อมของฟาร์ม เช่น สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงที่ไร่นาสวนอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้ฉีดพ่นลอยมาตามอากาศและปลิวเข้าสู่พืชผลของคุณ หรือแม้แต่ในผิวดินที่ใช้เพาะปลูกก็อาจมีสารเคมีที่เคยถูกฉีดพ่นซึมซับตกค้างไว้แต่เดิม และสารเคมีเหล่านี้ยากที่จะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ แต่กลับยังคงอยู่แล้วซึมเข้าสู่พืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่อาจการันตีได้ว่าผักปลอดสารพิษจะไม่มีสารพิษเจือปนอยู่เลย 100%

ผักปลอดสารพิษ ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพจริงไหม ?

เนื่องจากผักปลอดสารพิษนั้น เป็นเพียงกระบวนการเพาะปลูกดูแลให้พืชผลเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมเก็บเกี่ยวโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นพิษคอยกระตุ้นหรือกำจัดศัตรูพืช อย่างไรก็ตาม การเพาะปลูกในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษและสิ่งปนเปื้อนตามธรรมชาติอยู่ดี ทั้งในขณะเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ขั้นตอนการขนย้าย หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น แม้จะถูกระบุว่าเป็นผักปลอดสารพิษ ผู้บริโภคก็ควรลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการบริโภคพืชผลเหล่านี้ ด้วยการเลือกพืชผลด้วยความระมัดระวัง เลือกที่สดใหม่ คุณภาพดี ล้างทำความสะอาดสิ่งที่อาจเจือปนในพืชผลเหล่านั้นให้ดี ก่อนนำไปบริโภคหรือปรุงอาหารอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีการบริโภคพืชผักผลไม้ให้ปลอดภัยที่สุด

เลือกซื้อผักผลไม้ที่เสี่ยงมีสารพิษตกค้างน้อย เช่น

  • หน่อไม้ฝรั่ง
  • ผักกาดขาว
  • บร็อคโคลี่
  • อะโวคาโด
  • ข้าวโพดหวานแช่แข็ง
  • สับปะรด
  • มะม่วง
  • ถั่วแช่แข็ง
  • กล้วย
  • มะละกอ

หลีกเลี่ยงการบริโภคพืชผักผลไม้ที่เสี่ยงมีสารเคมีตกค้างหรือเจือปนสูง หรืออาจเลือกซื้อพืชผลเหล่านี้ในรูปแบบผักผลไม้ออร์แกนิกแทน เช่น

  • พริกหยวก หรือพริกหวาน
  • ขึ้นฉ่าย
  • ผักโขม
  • กะหล่ำปลี
  • มันฝรั่ง
  • ลูกพีช
  • แอปเปิ้ล
  • สตรอว์เบอร์รี่
  • เชอร์รี่
  • ลูกแพร์
  • องุ่นนำเข้า

ทำความสะอาดพืชผลผลไม้เหล่านั้น เพื่อลดและขจัดสารเคมีและสิ่งที่เจือปนออกไปก่อนการบริโภค ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัด ผู้บริโภคควรพิจารณาตามความเหมาะสมของพืชผลชนิดนั้น ๆ ด้วย

1. การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก

การลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า แล้วจึงล้างด้วยน้ำสะอาด เช่น กะหล่ำปลี แครรอท แอปเปิ้ล อาจช่วยกำจัดสารตกค้างที่พื้นผิวด้านนอกของพืชผลออกไป ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้สูญเสียสารอาหารหรือแร่ธาตุที่สำคัญบางส่วนที่อยู่ในบริเวณนั้นไปด้วย

2. การล้างผักด้วยน้ำเปล่า

การเปิดให้น้ำไหลผ่าน เด็ดผักเป็นใบ ๆ ใส่ตะแกรงโปร่งแล้วเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบของผัก หรือผลไม้นั้นนานประมาณ 2 นาที วิธีนี้อาจใช้เวลานานในการล้าง ใช้น้ำในปริมาณมาก และอาจยังมีสารเคมีบางอย่างตกค้างอยู่

3. การล้างด้วยน้ำเกลือ

ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ผักผลไม้นาน 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้อาจมีเกลือและรสเค็มเข้าไปอยู่ในผักหรือผลไม้ได้เช่นกัน

4. การใช้น้ำส้มสายชู

ใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5%ของกรดน้ำส้ม ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 แช่ผักหรือผลไม้นาน 10-15 นาที โดยภาชนะที่ใส่ผักล้างไม่ควรเป็นพลาสติก จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด แต่ผักอาจมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมา และผักบางชนิด เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูทำให้รสชาติเปลี่ยนไปบ้าง

5. การใช้ด่างทับทิม 

ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) มีลักษณะเป็นเกล็ดแข็ง สีม่วง สามารถละลายในน้ำได้ ทำให้เกิดสีชมพูหรือม่วงเข้ม เป็นสารประกอบประเภทเกลือ โดยใช้ปริมาณ 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ผักไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด แต่หากใช้ด่างทับทิมในปริมาณมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารได้ และหากสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมากก็อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ รวมถึงหากสารนี้เข้าตา อาจเสี่ยงทำให้ตาบอดได้

6. การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือเบกกิ้งโซดา 

ใช้เบกกิ้งโซดา (Sodium Bicarbonate) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง หรือประมาณ 20 ลิตร แช่พืชผลนาน 15 นาที แล้วนำไปล้างออกด้วยน้ำสะอาด แม้ช่วยลดปริมาณสารพิษได้มาก แต่ข้อจำกัดของการใช้เบกกิ้งโซดาคือมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่ จึงอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้ และการได้รับเบกกิ้งโซดาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้

7. การแช่ผักในน้ำยาล้างผักที่มีวางขายตามท้องตลาด

ใช้ความเข้มข้นของน้ำยาประมาณ 0.3% ผสมลงในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และศึกษาผลิตภัณฑ์ให้ถี่ถ้วนก่อนว่าน้ำยาล้างผักชนิดนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะบางส่วนผสมในน้ำยาล้างผักอาจแทรกซึมเข้าไปในผัก และอาจเป็นอันตรายทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

8. การต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน

วิธีนี้แม้อาจช่วยลดปริมาณสารพิษได้ เป็นวิธีที่ดีและปลอดภัย แต่จะทำให้ผักหรือผลไม้เสียคุณค่าทางโภชนาการไปกับน้ำและความร้อน เช่น วิตามินซี วิตามินบี1 ไนอะซิน เป็นต้น

แม้วิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจช่วยลดปริมาณสารพิษ และลดความเสี่ยงในการเผชิญปัญหาสุขภาพจากสารตกค้างในพืชผลทางการเกษตรได้ แต่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหารแต่ละชนิดอยู่เสมอ ใส่ใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและถูกสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของตนก่อนเสมอ