ผอมเสี่ยงภัย เพิ่มน้ำหนักอย่างไรให้ได้สุขภาพ

ไม่ว่าใครก็คงอยากผอมและมีหุ่นดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะนอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้วยังส่งผลให้บุคลิกภาพดีตามไปด้วย แต่หากร่างกายผอมมากเกินไปก็เสี่ยงต่อโรคได้เช่นเดียวกัน แล้วคนผอมจะเข้าข่ายโรคอะไรบ้าง ควรเพิ่มน้ำหนักอย่างไรถึงดีต่อสุขภาพ บทความนี้อาจช่วยได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองผอมหรือไม่ สำหรับวิธีง่าย ๆ ที่ใช้กันทั่วไปนั้นเรียกว่า การวัดค่า BMI (Body Mass Index) หรือการวัดค่าดัชนีมวลกาย โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถหาค่าได้จากการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง หากผลลัพธ์ที่ได้ต่ำกว่า 18.5 ก็แสดงว่า มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์หรือผอมไปนั่นเอง ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะประสบปัญหาสุขภาพ และควรไปตรวจสุขภาพเสียที

ผอม

ปัญหาสุขภาพที่คนผอมควรระวัง

ผู้ที่มีร่างกายผอมมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกันกับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ภาวะทุพโภชนาการ

เป็นภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยสาเหตุมักเกิดจากรับประทานอาหารน้อย อดอาหาร หรือมีปัญหาในการรับประทาน รวมทั้งโรคบางชนิดก็อาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารด้วย จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง มีอาการป่วยบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ ผมบางหรือผมร่วง ผิวแห้ง หรือเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับฟัน ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภาวะขาดวิตามิน

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนผอมควรระวัง เนื่องจากมีงานวิจัยหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์อาจเสี่ยงที่จะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง และป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด ซึ่งโรคนี้จะส่งผลให้กระดูกเปราะบางและแตกหักได้ง่าย ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด โครงสร้างกระดูกผิดปกติ รวมถึงอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดและทำกายภาพบำบัด  

ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนและการตั้งครรภ์

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวลดลงอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือไม่มาเลย โดยเฉพาะน้ำหนักลงจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอหรือออกกำลังกายมากเกินไป ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคอะนอเร็กเซีย โดยสาเหตุที่ทำให้คนผอมอาจเสี่ยงต่อปัญหานี้ เนื่องจากไขมันในร่างกายที่ลดต่ำลงอาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกได้ ซึ่งปัญหาประจำเดือนนี้ยังอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก โดยเฉพาะในผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลาหลายเดือนหรือที่เรียกว่าภาวะขาดประจำเดือนนั่นเอง ทั้งนี้ หากวางแผนจะตั้งครรภ์ขณะที่ตนเองผอมมากหรือน้ำหนักตัวน้อยอาจต้องปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยก่อนเสมอ 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมากขึ้น ในผู้หญิงผอมอาจเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและเสียชีวิตได้เร็วกว่าคนที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ

วิธีเพิ่มน้ำหนักตัวอย่างคนสุขภาพดี

ในกรณีคนที่ผอมมาก ๆ โดยเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคการกินผิดปกติ การเพิ่มน้ำหนักที่ได้ผล คือการรักษาโรคให้หายขาด หากละเลยไม่รักษาและปล่อยให้ร่างกายซูบผอมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมาได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหาร และการเพิ่มน้ำหนักอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป 

สำหรับคนรูปร่างผอมบางโดยทั่วไปควรมุ่งเน้นไปที่การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างผัก ผลไม้ ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าว มันฝรั่ง ขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากนม หรือเลือกอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอดี และดื่มน้ำเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร พลังงาน วิตามิน แร่ธาตุอย่างครบถ้วน ทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างพอเพียง โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการถึงการบริโภคในสัดส่วนที่เหมาะสมและความปลอดภัย เพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างคนสุขภาพแข็งแรง

นอกจากนั้น ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำลายสุขภาพอย่างอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด ของมัน อาหารรสเค็ม และของหวาน เช่น ช็อกโกแลต เค้ก หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อย่างไรก็ตาม หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผลก็อาจต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเพิ่มเติม เพราะอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้