ผลไม้น้ำตาลสูงกับผู้ป่วยเบาหวาน รับประทานได้มากน้อยแค่ไหน

การควบคุมอาหารโดยการหลีกเลี่ยงอาหารและขนมหวานที่มีน้ำตาลสูงเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการรักษาโรคเบาหวาน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าผลไม้น้ำตาลสูงบางชนิดอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้น้ำตาลสูงจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ดีขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานผลไม้เป็นประจำได้ทุกวัน เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดและจำกัดปริมาณการรับประทานไม่เกินครั้งละ 1 ส่วนต่อมื้อ โดยอาจรับประทานเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อหลัก หรือรับประทานแทนของหวานหลังมื้ออาหาร บทความนี้จึงได้รวบรวมผลไม้น้ำตาลสูง 5 ชนิดที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง และวิธีรับประทานผลไม้ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพมาฝากกัน

ผลไม้น้ำตาลสูงกับผู้ป่วยเบาหวาน รับประทานได้มากน้อยแค่ไหน

ค่าดัชนีน้ำตาลกับการเลือกกินผลไม้

ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) คือเกณฑ์บ่งบอกระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้นหลังรับประทานอาหาร หากรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ค่าดัชนีน้ำตาลแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรคำนวณค่ามวลน้ำตาล (Glycemic Load : GL) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการนำปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารที่รับประทานมาคำนวณด้วย ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีค่ามวลน้ำตาลต่ำ หรือค่า GL น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10

ผลไม้ส่วนใหญ่มักค่ามีดัชนีน้ำตาลมีไม่สูงนัก จึงอาจไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลไม้บางชนิดมีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานสูงขึ้นได้

5 ผลไม้น้ำตาลสูง คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง

ตัวอย่างผลไม้น้ำตาลสูงที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เช่น 

1. ลำไย

ลำไยเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด โดยลำไยสดน้ำหนัก 1 ออนซ์ หรือประมาณ 28 กรัม ให้พลังงาน 17 แคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรต 4 กรัม นอกจากนี้ ลำไยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง โดยลำไย 9 ผลประกอบด้วยน้ำตาลมากถึง 3.5 ช้อนชา หากรับประทานลำไยแปรรูป เช่น ลำไยกระป๋องหรือลำไยอบแห้ง จะยิ่งให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลสูงกว่าการรับประทานลำไยสดมาก หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานลำไยในปริมาณมาก อาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น

2. ทุเรียน

ทุเรียนประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ใยอาหาร วิตามินบี และวิตามินซี และจัดเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเมื่อเทียบกับผลไม้เขตร้อนอื่นๆ แต่กระทรวงสาธารณสุขระบุให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการรับประทานทุเรียนครึ่งเม็ด อาจเทียบเท่าการรับประทานน้ำตาล 2 ช้อนชา

นอกจากนี้ทุเรียนยังให้พลังงานสูง โดยทั่วไปปริมาณพลังงานที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่อายุ 19–60 ปีอยู่ที่ 1,800–2,200 กิโลแคลอรีสำหรับเพศชาย และ 1,500–1,800 กิโลแคลอรีสำหรับเพศหญิง การรับประทานทุเรียน 1 หน่วยบริโภค หรือประมาณ 155 กรัม อาจให้พลังงานสูงถึง 130–253 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของทุเรียน หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานทุเรียนในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลเสียต่อการควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้

3. มะม่วงสุก

มะม่วงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ทั้งวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และโฟเลต แต่มะม่วงเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง โดยเนื้อมะม่วง 1 ถ้วย หรือประมาณ 165 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 99 แคลอรี และมีคาร์โบไฮเดรต 25 กรัม นอกจากนี้ มะม่วงสุกจัดเป็นผลไม้ที่ค่าดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลาง โดยมะม่วงสุก 1 ผลมีน้ำตาลสูงถึง 45 กรัม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานมะม่วงสุก โดยรับประทานไม่เกิน 1 ส่วนต่อมื้อ เทียบเท่ามะม่วงผลกลางครึ่งผล 

4. กล้วย

กล้วยเป็นผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบ เพราะมีรสชาติอร่อยและรับประทานง่าย แต่กล้วยมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรรับประทานกล้วยแต่ละชนิดในปริมาณที่เหมาะสม

กล้วยหอมมีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งได้จากน้ำตาล แป้ง และใยอาหาร กล้วยหอมผลกลาง 1 ผล ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 29 กรัม และน้ำตาลประมาณ 14–15 กรัม และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 62 จัดเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลาง ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรรับประทานกล้วยหอมผลกลางเกินครึ่งผลต่อมื้อ หรืออาจเลือกรับประทานกล้วยน้ำว้าผลกลาง 1 ผล ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าแทน

5. สับปะรด

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานอย่างสับปะรดจัดเป็นผลไม้ที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากสับปะรดมีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยสับปะรดหั่นชิ้นบาง ๆ น้ำหนักประมาณ 56 กรัม ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 7.4 กรัม ซึ่งคิดเป็นน้ำตาลสูงถึง 5.5 กรัม สับปะรดจัดเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง การรับประทานสับปะรด 8 ชิ้นพอดีคำ มีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 70–72 และมีค่ามวลน้ำตาลอยู่ที่ 10.8–13.1 

ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรรับประทานสับปะรดในปริมาณมากเกินไป และหลีกเลี่ยงการรับประทานสับปะรดที่ผ่านการแปรรูป เช่น น้ำสับปะรดสำเร็จรูป สับปะรดอบแห้ง หรือสับปะรดกระป๋องที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง แต่ให้คุณค่าทางอาหารต่ำ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

ลดผลไม้น้ำตาลสูง เลือกรับประทานผลไม้ให้ได้สุขภาพ

ผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูงแต่มีปริมาณใยอาหารต่ำจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้ง่าย การรับประทานผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อย่างฝรั่ง ส้มโอ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี อย่างไรก็ตาม ผลไม้แต่ละชนิดประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่แตกต่างกัน การรับประทานผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณมากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องจำกัดปริมาณในการรับประทานผลไม้ในแต่ละมื้อให้เหมาะสมด้วย 

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้แปรรูปทุกชนิด เช่น ผลไม้เชื่อม ผลไม้อบแห้ง และน้ำผลไม้เพราะนอกจากจะมีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงแล้ว ยังทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหาร อย่างวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารไปในกระบวนการแปรรูปด้วย หากต้องการรับประทานน้ำผลไม้ ควรรับประทานไม่เกิน 1 แก้วเล็กต่อวัน และควรอ่านฉลากสินค้าเสมอเพื่อเลือกรับประทานผลไม้กระป๋องในน้ำผลไม้แทนน้ำเชื่อม

การจำกัดปริมาณการรับประทานผลไม้น้ำตาลสูงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทั้งนี้ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานยาและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการรับประทานอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ