ปากกาลดน้ำหนัก Liraglutide คืออะไร ข้อควรระวังที่ควรรู้

ยาลิรากลูไทด์ (Liraglutide) เป็นยาฉีดที่นำมาใช้รักษาภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งยังเป็นยาสำหรับรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วย บรรจุภัณฑ์ของยามีลักษณะคล้ายปาก จึงมักถูกเรียกทั่วไปเป็นปากกาลดน้ำหนัก แต่การใช้ยานี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกวิธีอาจเสี่ยงเป็นอันตรายได้

ยา Liraglutide จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนไม่ควรหาซื้อยานี้จากช่องทางออนไลน์ที่ผิดกฎหมายมาใช้เอง แต่ควรเริ่มจากการไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อน เพื่อลดน้ำหนักหรือรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง

 ปากกาลดน้ำหนัก Liraglutide คืออะไร ข้อควรระวังที่ควรรู้

ยา Liraglutide กับการลดน้ำหนัก

Liraglutide เป็นยาลดน้ำหนักในรูปแบบปากกาฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา ต้นแขน หรือท้อง ออกฤทธิ์ให้ร่างกายรู้สึกอิ่มและอยากอาหารน้อยลง จึงช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อยจนอาจน้ำหนักตัวลดลง โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้ ใช้ยาควบคู่กับการคุมอาหารและการออกกำลังกาย ได้แก่

  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 27–30 ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ       

แพทย์จะเป็นผู้จ่ายยา Liraglutide โดยพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วย อายุ น้ำหนักตัว หรือปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกัน ผู้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์จึงไม่ควรหาซื้อยานี้มาใช้เอง เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก เนื่องจากการใช้ยาโดยไร้แบบแผนหรือคำแนะนำของแพทย์อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

ในกรณีที่แพทย์เห็นสมควรให้ใช้ยา Liraglutide แพทย์จะปรับปริมาณยาฉีดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ผู้ป่วยผู้ใหญ่เริ่มฉีดยาปริมาณ 0.6 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง โดยอาจเพิ่มปริมาณยา 0.6 มิลลิกรัม/สัปดาห์ จนถึงปริมาณยาที่แนะนำให้รับประทานอย่างต่อเนื่องที่ 3 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง จึงควรใช้นี้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและไม่นำยาของตัวเองไปให้ผู้อื่นใช้ 

ข้อควรระวังในการใช้ยา Liraglutide

ยา Liraglutide มีข้อควรระวังและข้อจำกัดบางประการที่ควรทราบก่อนเริ่มใช้ยาดังนี้ 

ประวัติสุขภาพ

ห้ามใช้ยา Liraglutide ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือคนในครอบครัวมีประวัติสุขภาพบางประการ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื้องอกต่อมไร้ท่อชนิดที่ 2 มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย แพ้ยา Liraglutide รวมถึงสตรีมีครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เด็กต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ด้วย  

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคหัวใจวายที่รุนแรง ตับอ่อนอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี โรคต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนัก หรือปัญหาสุขภาพอื่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เช่นกัน เนื่องจากตัวยาอาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ก่อนได้      

การใช้ยาร่วมยาอื่น

เนื่องจาก Liraglutide อาจทำปฏิกิริยาต่อยา สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิด จนตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวานอย่างยาไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) อินซูลิน (Insulin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาหรือผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ด้วย 

ผลข้างเคียงจากยา

ยา Liraglutide อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ หรือแม้กระทั่งปวดหรือคันบริเวณผิวหนังที่ฉีดยา ซึ่งอาการอาจหายได้เองภายในเวลาไม่นาน 

ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือพบผลข้างเคียงที่รุนแรงควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก มีก้อนหรือบวมบริเวณคอ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ปวดท้องอย่างรุนแรง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พฤติกรรมหรืออารมณ์เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง

การใช้ยาผิดวิธี

การซื้อยา Liraglutide มาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ อาจนำไปสู่การใช้ยาอย่างผิดวิธี เช่น ปรับปริมาณยาเอง ใช้ยาพร่ำเพรื่อ ใช้ยาเกินขนาด ลืมใช้ยาบ่อยครั้ง หรือหยุดใช้ยาด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงแล้ว ผู้ป่วยยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย    

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Liraglutide เป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้ยาเอง การหาซื้อยาลดน้ำหนักชนิดนี้จากช่องทางออนไลน์ที่กฎหมายยังไม่รองรับจึงอาจเป็นวิธีที่เสี่ยงทำลายสุขภาพมากกว่าทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะยาที่โฆษณาเกินจริง ปราศจากฉลากยา หรือผู้จำหน่ายขาดความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวหรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันสามารถไปปรึกษาแพทย์ตามสถานพยาบาลทั่วไป เพื่อวางแผนการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสมและปลอดภัยได้