ประโยชน์ของเอลเดอร์เบอร์รี่ และข้อควรระวังในการรับประทาน

เอลเดอร์เบอร์รี่ (Elderberry) เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ผลมีสีม่วงเข้ม อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และมีวิตามินซีสูง ซึ่งเชื่อกันว่าเอลเดอร์เบอร์รี่มีสรรพคุณทางยา เช่น รักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคบางอย่างได้

ผลเอลเดอร์เบอร์รี่รสชาติไม่หวานจัดและมีรสฝาด จึงนิยมรับประทานคู่กับผลไม้อื่น เช่น ลูกพีช ลูกพลัม และส้ม หรือนำไปทำไวน์ แยม ขนมหวาน และน้ำเชื่อม นอกจากนี้ สารสกัดเอลเดอร์เบอร์รี่ยังได้รับความนิยมนำมาทำเป็นอาหารเสริมอีกด้วย บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่ที่คุณอาจยังไม่รู้กัน

ประโยชน์ของเอลเดอร์เบอร์รี่ และข้อควรระวังในการรับประทาน

เอลเดอร์เบอร์รี่มีประโยชน์อย่างไร

ในปัจจุบันมีการศึกษาประโยชน์ของเอลเดอร์เบอร์รี่ต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น

อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เอลเดอร์เบอร์รี่ 1 ถ้วยให้พลังงาน 106 แคลอรี่ มีคาร์โบไฮเดรต 27 กรัม โปรตีน 1 กรัม ไขมัน 0.7 กรัม และใยอาหาร 10.2 กรัม รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินเอ 44 กรัม วิตามินซี 52.2 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 406 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 กรัม และธาตุเหล็ก 2.3 มิลลิกรัม

รักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่

หลายคนเชื่อว่าเอลเดอร์เบอร์รี่อาจมีส่วนช่วยรักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ จึงนำเอลเดอร์เบอร์รี่มาทำเป็นน้ำเชื่อมสำหรับชงดื่มผสมกับน้ำอุ่นหรือชา ซึ่งเป็นวิธีบรรเทาอาการหวัดด้วยตัวเองที่บ้าน นอกจากนี้ สารสกัดเอลเดอร์เบอร์รี่นับเป็นส่วนประกอบในอาหารเสริมหลายรูปแบบ เช่น ชนิดเม็ดอม และน้ำเชื่อมแก้ไอ 

งานวิจัยระบุว่าเอลเดอร์เบอร์รี่สามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการ และช่วยให้หายจากหวัดได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หวัดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้บ่อยในฤดูหนาว และมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโรค การรับประทานอาหารเสริมเอลเดอร์เบอร์รี่อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบนได้ 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งให้ผู้ที่จะเดินทางโดยเครื่องบินรับประทานอาหารเสริมที่มีสารสกัดเอลเดอร์เบอร์รี่วันละ 2 แคปซูล หรือ 600 มิลลิกรัมเป็นเวลา 10 วันก่อนเดินทาง และก่อนวันเดินทาง 1 วันให้รับประทานวันละ 3 แคปซูล หรือ 900 มิลลิกรัมต่อเนื่องกัน 4–5 วันหลังจากเดินทางถึงปลายทาง ผลการศึกษาพบว่าอาการหวัดดีขึ้น และระยะเวลาการเป็นหวัดสั้นลงประมาณ 2 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน

แม้งานวิจัยจะระบุว่าเอลเดอร์เบอร์รี่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่ทำให้ไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัด เช่น ศึกษาในสัตว์ทดลอง ปริมาณและรูปแบบของอาหารเสริมของเอลเดอร์เบอร์รี่ที่แตกต่างกันในแต่ละงานวิจัย จึงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

ประโยชน์อื่น ๆ

งานวิจัยบางส่วนพบว่าเอลเดอร์เบอร์รี่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น

  • ต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น กรดฟีนอลิก (Phenolic) และฟลาโวนอยด์
  • บรรเทาอาการปวดศีรษะ ความเครียด และอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ
  • ลดอาการท้องผูก  
  • ลดอาการอักเสบในร่างกาย และลดคอเลสเตอรอล
  • บรรเทาอาการทางผิวหนังที่ไม่รุนแรงมาก
  • ลดไขมันในเลือดและอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และเบาหวานชนิดที่ 2

ทั้งนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีไม่มาก จึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด นอกจากนี้ บางคนเชื่อว่าการรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่เชื่อถือได้อย่างเพียงพอที่จะยืนยันว่าเอลเดอร์เบอร์รี่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้

รับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่อย่างไรให้ปลอดภัย

เอลเดอร์เบอร์รี่นิยมรับประทานผลสดได้ แต่ควรรับประทานผลที่สุกแล้วเท่านั้น หรือนำไปปรุงให้สุกก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย เช่น ทำขนมหวาน ชา แยม และน้ำเชื่อมสำหรับชงน้ำดื่ม เนื่องจากผลเอลเดอร์เบอร์รี่ดิบ เปลือกไม้ ใบ และเมล็ดประกอบด้วยสารไซยาไนด์ (Cyanide) การได้รับสารพิษนี้อาจไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย 

เอลเดอร์เบอร์รี่ในรูปอาหารเสริมมีหลายชนิด เช่น แคปซูล เม็ดอม เม็ดเคี้ยว และน้ำเชื่อม ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาในการรับประทานอย่างปลอดภัย จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการรับประทานติดต่อกันไม่เกิน 12 สัปดาห์อาจไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จัดเอลเดอร์เบอร์รี่อยู่ในกลุ่มอาหารเสริมและยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานอาหารเสริมเอลเดอร์เบอร์รี่ ซึ่งคนที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยด้านสุขภาพเหล่านี้ไม่ควรรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่

  • เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการรับประทาน
  • ผู้มีอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดง และหายใจลำบาก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริมที่มีเอลเดอร์เบอร์รี่เป็นส่วนประกอบ
  • ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรครูมาตอยด์ ซึ่งร่างกายอาจเกิดปฏิกิริยาบางอย่างจากการการรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ เพราะเอลเดอร์เบอร์รี่มีคุณสมบัติขับปัสสาวะ จึงอาจทำให้ปัสสาวะมากขึ้น รวมทั้งยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยารักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยาเคมีบำบัด ซึ่งยาอาจทำปฏิกิริยากับสารแอนโทไซยานินในเอลเดอร์เบอร์รี่

การรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มากเกินไปและรับประทานควบคู่กับอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีวิตามินบี วิตามินซี และวิตามินเอ รวมทั้งไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเอลเดอร์เบอร์รี่ และไม่ควรใช้เอลเดอร์เบอร์รี่แทนยารักษาโรคที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง