บอลลูนหัวใจ สิ่งที่คุณอาจเข้าใจผิดในการรักษาโรคหัวใจ

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการทำบอลลูนหัวใจเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจทุกชนิด แต่แท้จริงแล้ว บอลลูนหัวใจเป็นเพียงหนึ่งในวิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในผู้ที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือโรคอ้วน และมีความเครียดสูง 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจจะมีอาการเจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการหอบเหนื่อยเมื่อออกแรงมากกว่าปกติ ปกติแล้ว แพทย์จะรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยหลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต การใช้ยา แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำบอลลูนหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่กำลังถูกพูดถึงในบทความนี้

2580-บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ หนึ่งในวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจ

บอลลูนหัวใจเป็นหนึ่งในวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการสอดท่อหรือสายผ่านบริเวณที่เกิดการอุดตัน เพื่อช่วยให้เลือดและออกซิเจนสามารถเข้าสู่หัวใจได้เป็นปกติ รักษาอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ทั้งนี้ การขยายหลอดเลือดหัวใจนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่แพทย์นิยมนำมาใช้ ได้แก่ การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนโดยไม่ผ่าตัด และการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ 

การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ผ่าตัด (Percutaneous Coronary Interventions: PCI)

แพทย์จะสอดท่อชนิดพิเศษผ่านเส้นเลือดบริเวณขาเข้าไปยังเส้นเลือดหัวใจโดยปลายท่อจะมีบอลลูนแบนติดอยู่ บอลลูนดังกล่าวจะถูกทำให้พองเพื่อขยายบริเวณที่เส้นเลือดหัวใจมีการตีบหรืออุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือถูกตัดขาด วิธีนี้มักจะทำร่วมกับการใส่ขดลวดเพื่อช่วยขยายหลอดเลือดและรักษาสภาพหลอดเลือดไม่ให้กลับมาตีบซ้ำอีก การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรือมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งเวลาที่ใช้ในการทำการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี และอาจจำเป็นต้องค้างคืนในโรงพยาบาลหลังรักษา

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft: CABG)

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาสหัวใจจะใช้ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้หลอดเลือดจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างบริเวณขา มาต่อเส้นเลือดหัวใจและสร้างทางไหลเวียนเลือดใหม่เบี่ยงออกจากบริเวณที่มีการตีบ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหลายจุดขึ้นอยู่กับจำนวนและตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบแคบ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับทำการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน 

ดูแลตนเองอย่างไรหลังการทำบอลลูนหัวใจและผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

หลังเข้ารับการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะในช่วง 1 เดือนแรกหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอก 

หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

  • มีเลือดไหลหรือมีอาการบวมบริเวณที่เข้ารับการรักษา
  • เกิดการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ มีอาการบวมแดงหรือมีของเหลวไหลออกจากบริเวณที่สวนสายบอลลูนหรือผ่าตัด
  • เกิดความผิดปกติบริเวณที่มีการสอดสายสวน อย่างขาหรือแขน 
  • รู้สึกหน้ามืดหรืออ่อนเพลีย
  • เจ็บหน้าอกมากขึ้นหรือมีอาการหายใจไม่อิ่ม

อย่างไรก็ตาม หลังการทำบอลลูนหัวใจหรือการรักษาด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยยังจำเป็นจะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ