บายพาสหัวใจกับเรื่องที่ควรรู้

บายพาสหัวใจ (Heart Bypass Surgery) คือวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักใช้ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจโดนขัดขวาง หรือเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเต็มที่ โดยการผ่าตัดมีจุดประสงค์เพื่อสร้างช่องทางให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา

บายพาสหัวใจ

การทำบายพาสหัวใจแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. การผ่าตัดแบบดั้งเดิม (Traditional Coronary Artery Bypass Grafting)

คือการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องเปิดช่องอก และต้องใช้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ และใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยเพื่อให้เลือดยังสามารถไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยไม่ผ่านหัวใจจนกว่าจะผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย

2. การผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting)

วิธีการผ่าตัดบายพาส โดยจะเปิดช่องอก คล้ายกับวิธีแรก แต่แพทย์จะไม่ใช้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ และจะไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษที่ใช้สูบฉีดเลือด

3. การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Direct Coronary Artery Bypass Grafting)

เป็นการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์พิเศษ ซึ่งจะทำให้แพทย์ไม่ต้องทำการเปิดช่องอก มักนิยมทำในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจอุดอยู่บริเวณด้านหน้าของหัวใจ และไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจมากกว่า 1 เส้น

ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจที่นิยมมากที่สุดคือ วิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และแบบไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ทั้งนี้ในการพิจารณาเลือกใช้วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าวิธีใดเหมาะสมมากที่สุด

ขั้นตอนการบายพาสหัวใจ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจเป็นวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือมีการเกาะสะสมของคราบตะกอนภายในหลอดเลือดจำนวนมากจนทำให้หลอดเลือดตีบลงจนทำให้เสี่ยงต่อหัวใจวายหรือหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและสูญเสียประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือด ในบางกรณี แพทย์ก็อาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดอื่น ๆ เพื่อช่วยขยายหลอดเลือดและป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสวนบอลลูนหัวใจ หรือการใส่ขดลวดแทน เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนเข้ารับการผ่าตัดบายพาส และอาการไม่มีการตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์จะรีบทำการผ่าตัดบายพาสโดยเร็วที่สุดด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะที่การผ่าตัดบายพาสหัวใจจะต้องใช้แพทย์จากหลาย ๆ สาขาทำงานร่วมกัน เช่น ศัลยแพทย์ทรวงอก อายุรแพทย์โรคหัวใจ นักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้การผ่าตัดและการฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นไปได้ด้วยดี

แม้การผ่าตัดบายพาสหัวใจจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวายได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาอาการโรคหัวใจได้ ทำได้เพียงพยุงอาการและช่วยให้หัวใจมีโอกาสฟื้นฟูกลับมาทำงานได้มากขึ้น ทว่าการผ่าตัดดังกล่าวก็ไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจที่สูงอายุมาก ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ และการผ่าตัดก็ไม่สามารถยืดระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยได้ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจ เพราะผลที่ได้นั้นไม่คุ้มค่าต่อการผ่าตัด

วิธีการบายพาสหัวใจ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจนั้นมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะต้องชี้แจงให้ผู้ป่วยรับทราบถึงขั้นตอนในการผ่าตัดต่าง ๆ อย่างละเอียด จากนั้นแพทย์ให้ผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องอดอาหารและน้ำก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจได้รับอนุญาตให้สามารถจิบน้ำเล็กน้อยได้จนถึงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

เมื่อเข้าไปยังห้องผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบผ่านทางหน้ากากออกซิเจน เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะหมดสติอย่างสมบูรณ์แล้วแพทย์ก็จะเริ่มทำการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดจะแตกต่างกันไปตามชนิดของการผ่าตัด แพทย์จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 3-6 ชั่วโมง แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด และจำนวนหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันเป็นหลัก

ในการผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดที่ต้องใช้ปอดและหัวใจเทียม แพทย์จะทำการเปิดช่องอก โดยการกรีดเปิดปากแผลที่กลางอก จากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์ในการถ่างกระดูกซี่โครงบริเวณที่ตรงกับหัวใจ เพื่อสร้างพื้นที่ในการผ่าตัด จากนั้น หากเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แพทย์จะทำการเชื่อมต่อปอดและหัวใจเทียมกับระบบไหลเวียนเลือด แต่ถ้าหากเป็นวิธีที่ไม่ใช้ปอดและหัวใจเทียม แพทย์ก็จะข้ามไปยังขั้นตอนในการลดระดับอุณหภูมิในร่างกายลง รวมทั้งหัวใจด้วย เพราะอากาศที่เย็นมาก ๆ จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง และปริมาณออกซิเจนที่หัวใจต้องการก็จะลดลง เมื่อระดับอุณหภูมิและการทำงานของหัวใจเข้าสู่ระดับที่แพทย์ต้องการแล้วก็จะเริ่มทำการบายพาสหัวใจ

ในการผ่าตัดแพทย์ใช้หลอดเลือดที่อยู่ในสภาพดี ซึ่งนำมาจากส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในช่องอก แขนหรือขา มาเชื่อมต่อแทนหลอดเลือดที่อุดตัน หรือเสียหาย เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะถอดปอดและหัวใจเทียมออก จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจเช็คว่าระบบไหลเวียนเลือดสามารถไหลเวียนได้ตามปกติหรือไม่ หากเป็นปกติแล้วก็จะทำการเย็บปิดปากแผลและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลชนิดกันน้ำ แล้วนำตัวผู้ป่วยไปติดตามอาการในห้องไอซียูต่อไป

ทั้งนี้หากเป็นวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบแผลเล็ก ก็จะมีขั้นตอนในการผ่าตัดที่คล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันที่ไม่ต้องทำการเปิดช่องอก แต่จะกรีดเป็นแผลเล็ก ๆ บริเวณซี่โครงเพื่อสอดอุปกรณ์พิเศษเข้าไปเพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้แผลจะหายเร็วกว่า และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่าอีกด้วย

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

เมื่อแพทย์นัดหมายกำหนดการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเตรียมพร้อมและตรวจสุขภาพก่อน โดยแพทย์จะสั่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ และเจาะเลือด ทั้งนี้ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และยาที่ใช้อยู่โดยละเอียดและเป็นจริง หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในช่องอก และทำให้แผลหายช้าลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ก่อนเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยควรเตรียมการต่าง ๆ ที่บ้านไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จะคอยช่วยเหลือผู้ป่วยในการเดินทางกลับจากโรงพยาบาล และในช่วงเวลาที่พักฟื้นที่บ้าน รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่ภายในบ้านให้สะดวกต่อการใช้ชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาล ที่สำคัญคือก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลผู้ป่วยควรอาบน้ำชำระร่างกาย สระผม ตัดเล็บ และสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เนื่องจากหลังผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะสามารถอาบน้ำเองได้ และเสื้อผ้าสะอาดที่เตรียมไปก็จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไม่พึงประสงค์ที่อาจมากับเสื้อผ้าของโรงพยาบาลได้

การดูแลหลังผ่าตัดบายพาสหัวใจ

หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในห้องไอซียู อย่างน้อย 1-2 วัน จากนั้นจึงจะย้ายเข้าไปพักฟื้นต่อในห้องพักผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลต่ออีกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อดูอาการและติดตามผล โดยในช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจต้องมีการต่อท่อหรือสายต่าง ๆ ตามร่างกายอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ผู้ป่วยฟื้นแล้วอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น สูญเสียความทรงจำชั่วคราว มีอาการมึนงง และมีปัญหาในเรื่องการดูเวลา

เมื่อแพทย์อนุญาตผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้แล้ว ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะต้องระมัดระวังในเรื่องการดูแลบาดแผล พักผ่อนมาก ๆ และควรหลีกเลี่ยงจากการทำกิจกรรมหนัก ๆ เพราะอาจทำให้แผลหายช้า หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ยังควรสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยหากเกิดอาการดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการบวมแดง หรือมีเลือดออกที่บริเวณแผลผ่าตัด
  • มีอาการเจ็บที่บริเวณแผลผ่าตัดมากขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว หรือผิดปกติ
  • ขาบวม หรือมีอาการชาตามแขนและขา
  • มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น การผ่าตัดบายพาสหัวใจยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลัก ๆ ได้แก่

  • หัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการผ่าตัดบายพาสจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยา
  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เนื่องจากไม่รักษาความสะอาดให้ดีพอ
  • การทำงานของไตลดลง หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีการทำงานของไตที่ลดลง จนทำให้ต้องได้รับการฟอกไต แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • ปัญหาเกี่ยวกับสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบายพาสอาจพบปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ หรือการอ่านหนังสือ ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 6-12 เดือน แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจนกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้มีปัญหาในการพูด การเคลื่อนไหว หรือการกลืนอาหารอย่างถาวรได้
  • หัวใจวาย ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดในระหว่างผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้