ท้องตอนแก่เสี่ยงยังไง ? เรื่องที่ผู้หญิงยุคใหม่ควรรู้ !

ด้วยสภาพสังคมที่ให้ความสำคัญกับหน้าที่การงาน ค่านิยม หรือทัศนคติที่มีต่อชีวิตคู่เปลี่ยนไป จึงทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันแต่งงานและมีลูกช้าลง แต่รู้หรือไม่ว่า การตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ มาดูกันว่าความเสี่ยงของการท้องตอนแก่มีอะไรบ้าง และควรป้องกันหรือดูแลตนเองอย่างไร

1803 ท้องตอนแก่ rs

อายุกับสุขภาพครรภ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

ในทางการแพทย์ หากผู้หญิงท้องขณะที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะนับเป็นการตั้งครรภ์ขณะมีอายุมาก แม้ส่วนใหญ่สุขภาพครรภ์ของคุณแม่ที่ท้องในช่วงวัยนี้มักสมบูรณ์ดี และลูกในท้องก็มีพัฒนาการที่ปกติไม่ต่างจากการตั้งท้องของคุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า แต่ผู้หญิงที่มีอายุมากมักมีแนวโน้มมีลูกยาก ซึ่งหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าสภาพร่างกายของว่าที่คุณแม่ไม่พร้อมต่อการตั้งครรภ์โดยใช้วิธีธรรมชาติ อาจแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำกิ๊ฟ และเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น

นอกจากนั้น ผู้ที่มีอายุมากยังเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ อย่างโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงมากขึ้นด้วย ซึ่งโรคดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ จากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคุณแม่ที่ตั้งท้องขณะมีอายุมากอาจเสี่ยงต่อความผิดปกติในด้านต่าง ๆ มากกว่าผู้หญิงที่ตั้งท้องขณะที่อายุยังน้อย ดังนี้

คลอดก่อนกำหนด โดยปกติการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดคลอดจะใช้เวลา 37-40 สัปดาห์ หากปากมดลูกเปิดเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเจ้าตัวน้อยพร้อมออกมาดูโลกก่อนสัปดาห์ที่ 37 จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด โดยทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักน้อย อวัยวะต่าง ๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นพิเศษ

ท้องนอกมดลูก เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการผสมกับสเปิร์มจนกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณปีกมดลูก ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไปได้ หากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตและสร้างความเสียหายแก่ท่อนำไข่ ซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการบ่งชี้ของภาวะนี้ ได้แก่ มีเลือดไหลออกทางช่องคลอด และปวดท้องน้อย

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยปกติฮอร์โมนอินซูลินจะทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ระดับน้ำตาลจะเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวานได้ ซึ่งร่างกายของคนท้องมักนำอินซูลินไปใช้ได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้คนท้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่าปกติ หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำคร่ำมากหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ อีกทั้งลูกในท้องยังมีโอกาสเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง หรือมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติด้วย

รกเกาะต่ำ รกจะอยู่ด้านบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก แต่หากเผชิญภาวะรกเกาะต่ำ รกจะปิดขวางปากมดลูกอยู่บางส่วนหรือปิดขวางทั้งหมด เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดและทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกกับปากมดลูกฉีดขาด ส่งผลให้มีเลือดออกมากทั้งก่อนหรือในขณะคลอด ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งตัวแม่และเด็กในท้อง และอาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ แพทย์จึงมักให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำเข้ารับการผ่าคลอ

รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รกลอกตัวออกมาบางส่วนหรือลอกตัวออกมาทั้งหมดก่อนคลอด ซึ่งตามปกติรกจะเกาะติดอยู่กับผนังมดลูกด้านใน โดยรกที่ลอกออกอาจไปขวางหรือปิดกั้นทางขนส่งออกซิเจนและสารอาหารของทารก รวมถึงอาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะมีเลือดออกผิดปกติด้วย

ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะความดันโลหิตสูงในระหว่างที่ตั้งครรภ์ โดยมีความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวปะปนอยู่ในปัสสาวะ ไตทำงานผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา อาจทำให้เกิดอาการชักหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้

แท้ง เป็นการสูญเสียตัวอ่อนภายในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยสัญญาณของการแท้งลูกที่พบได้บ่อย คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจตามมาด้วยอาการปวดท้องน้อย

ทารกตายในครรภ์ ทารกอาจเสียชีวิตในท้องแม่หลังจากที่มีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ โดยหญิงตั้งครรภ์อาจรอให้ร่างกายพร้อมคลอดทารกที่เสียชีวิตแล้วออกมาเองตามธรรมชาติ หรืออาจเร่งให้เกิดการคลอดทันทีในกรณีที่เด็กในท้องอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่

คำแนะนำในการวางแผนท้องตอนแก่ และการดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง

  • ตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนมีลูก
  • รับประทานวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ฝากครรภ์ทันที่ที่รู้ว่าท้อง และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ
  • ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาชนิดใด ๆ
  • หากมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ให้ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับหญิงตั้งครรภ์
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์