ความหมาย รกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) คือ ภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนหรือปกคลุมทั้งหมด ซึ่งปกติรกจะอยู่ด้านบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดขยายออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและมดลูกฉีดขาด มีเลือดออกมากทั้งก่อนหรือในขณะคลอด เกิดความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ แพทย์จึงนิยมให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำทำการผ่าคลอด (Caesarean Section)
อาการของรกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ประมาณร้อยละ 30 และจะลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 ในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนการคลอด โดยอาการที่พบคือมีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทางช่องคลอดและมักไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วอาจกลับมาไหลอีกในช่วง 2-3 วันหรือในช่วงสัปดาห์ต่อมา บางรายอาจมีอาการปวด เจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย หากเสียเลือดมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ผิวซีด หายใจสั้น ชีพจรอ่อนหรือเต้นเร็วกว่าปกติ ความดันในเลือดลดต่ำลง โลหิตจาง เป็นต้น ทั้งนี้หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ลักษณะการเกิดภาวะรกเกาะต่ำแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
- Low-Lying รกจะอยู่บริเวณด้านล่างใกล้กับขอบของปากมดลูก จะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ แต่ยังคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ
- Marginal รกจะอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของมดลูก และจะดันถูกปากมดลูก อาจทำให้เสียเลือดมากขณะคลอด มีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ หรืออาจต้องผ่าคลอด
- Partial รกจะปิดขวางหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกบางส่วน มักจะต้องผ่าคลอด
- Complete รกจะปิดหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกทั้งหมด เป็นสาเหตุให้คลอดทางช่องคลอดตามปกติไม่ได้ จึงต้องผ่าคลอด แต่อาจทำให้เสียเลือดมาก รวมถึงเกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
สาเหตุของรกเกาะต่ำ
การตั้งครรภ์โดยปกติรกจะอยู่ด้านบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำรกจะปกคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนหรือปกคลุมทั้งหมด ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถบอกได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ แต่เชื่อว่าอาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ตำแหน่งที่ผิดปกติของทารกในครรภ์
- การมีแผลที่ผนังมดลูก
- การผ่าคลอดในการตั้งครรภ์ในอดีต
- การขูดมดลูกที่มีสาเหตุมาจากการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด
- การตั้งครรภ์แฝด หรือมีจำนวนทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน
- การตั้งครรภ์ตั้งแต่ครรภ์ที่ 2 เป็นต้นไป
- มดลูกที่มีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
การวินิจฉัยรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์เมื่อถึงเวลานัดหมายของการฝากครรภ์ หรือหลังจากพบว่ามีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการของภาวะรกเกาะต่ำ โดยอัลตราซาวน์มี 2 วิธีหลัก ดังต่อไปนี้
- ตรวจทางช่องคลอด แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจภายในช่องคลอดและปากมดลูก
- ตรวจทางหน้าท้อง โดยแพทย์จะทาเจลที่บริเวณหน้าท้อง จากนั้นจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ตัวแปลงสัญญาณ (Transducer) เพื่อตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และหาตำแหน่งของรก
การรักษารกเกาะต่ำ
การรักษาภาวะรกเกาะต่ำจะขึ้นอยู่กับเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด หรืออาจพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ตำแหน่งของทารกในครรภ์มารดา แพทย์จะรักษาโดยพิจารณาถึงลักษณะและปริมาณของเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดเป็นหลัก โดยมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
- ในกรณีที่ไม่มีเลือดหรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักอยู่บนเตียงที่บ้าน ลดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ลุกขึ้นหรือนั่งลงได้ในเฉพาะเวลาที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดเลือดออกที่บริเวณช่องคลอด รวมถึงการออกกำลังกาย ในกรณีนี้มีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ หรืออาจต้องผ่าคลอด
- ในกรณีที่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักที่โรงพยาบาล และจำเป็นต้องให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป แพทย์อาจให้ยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือมีการเตรียมผ่าคลอด ในกรณีที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของมารดาและทารกเป็นสำคัญ และแพทย์จะมีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อเร่งการพัฒนาปอดของทารก
- ในกรณีที่มีเลือดออกไม่หยุด รวมถึงเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ แพทย์จะผ่าคลอดฉุกเฉิน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ครบกำหนดคลอดก็ตาม
ภาวะรกเกาะต่ำในหญิงตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ ส่วนมากมักจะดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรักษา เพราะเมื่อมดลูกโตขึ้น จะดึงให้รกเคลื่อนตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในตำแหน่งที่ปกติ คือด้านบนของมดลูก
ภาวะแทรกซ้อนของรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำจะส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มาก คือ การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ รกที่ฉีกขาดหรือมีเลือดออกจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางกับทารก และต้องผ่าคลอด (Cesarean Section) แบบฉุกเฉิน หากเสียเลือดมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ผิวซีด หายใจสั้น ชีพจรอ่อนหรือเต้นเร็วกว่าปกติ ความดันในเลือดลดต่ำลง โลหิตจาง เป็นต้น
การป้องกันรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมการยึดเกาะของรกในมดลูกได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ เช่น การรักษาสุขภาพ งดการสูบบุหรี่ เป็นต้น