8 ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือน สิ่งที่คุณแม่ควรระวังเพื่อลูกน้อยในครรภ์

การเรียนรู้ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่มือใหม่ เนื่องจากในช่วง 1–3 เดือนแรกหรือ 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เด็กทารกจะเริ่มมีการพัฒนาอวัยวะในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ตา และปาก โดยคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการกระทำหรือพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

ในช่วง 1–3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจพบเจอความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ แพ้ท้อง อารมณ์แปรปรวน ปัสสาวะบ่อย รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อได้กลิ่นอาหารบางชนิด แสบร้อนหน้าอก และท้องผูก ดังนั้น นอกจากคุณแม่จะคอยดูแลสุขภาพลูกน้อยในครรภ์แล้ว คุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงด้วยเช่นกัน

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือน

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือน สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

ในช่วง 1–3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงสำคัญที่คุณแม่ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกินอาหาร เครื่องดื่ม การทำกิจกรรม หรือพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนมีรายละเอียดดังนี้

1. งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

การงดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดระหว่างการตั้งครรภ์เป็นข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนที่สำคัญ เพราะสารเคมีในบุหรี่และสารเสพติดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย และทารกที่เกิดมาอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้

2. งดดื่มแอลกอฮอล์

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนอีกข้อคือการงดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกเกิดมามีอาการผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (FAS) ดังนี้

  • น้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าปกติ
  • รูปร่างและใบหน้าผิดปกติ
  • สมาธิสั้น ทักษะในการการตัดสินใจ การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการเรียนรู้ต่ำ
  • มีปัญหาด้านการมองเห็นและการได้ยิน

3. ไม่ควรกินเผื่อลูกในท้อง

คุณแม่บางคนอาจมีความเชื่อผิด ๆ ว่าเวลากินอาหารต้องกินเผื่อลูกในท้อง แต่โดยปกติแล้ว พลังงานที่คนท้อง 1–3 เดือนต้องการคือ 1,800 แคลอรี่ต่อวัน การกินอาหารเยอะเกินไปอาจทำให้คนท้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง ทารกในครรภ์น้ำหนักตัวมาก และความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเกิดมาเป็นโรคอ้วน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลือกกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้สารอาหารครบถ้วน เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ 

4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อันตรายต่อครรภ์

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนที่สำคัญอีกหนึ่งข้อคือการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เพราะอาจก่อให้เกิดโรคบางอย่าง เช่น อาหารเป็นพิษและโรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis) รวมไปถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์และอาจนำไปสู่การแท้งได้ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
  • เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอกหรือแฮม
  • เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และไข่ที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก
  • ผลไม้หรือผักที่ยังไม่ได้ล้าง

5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนที่สำคัญอีกหนึ่งข้อคือไม่ควรใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) และ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ โดยก่อนใช้ยาชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

6. ไม่ควรดื่มคาเฟอีนเยอะเกินไป

คาเฟอีนสามารถพบได้ในกาแฟ ชา ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มชูกำลัง การดื่มคาเฟอีนมากเกินไปถือเป็นข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1–3 เดือน รวมไปถึงตลอดช่วงการตั้งครรภ์ เพราะคาเฟอีนอาจเพิ่มความดันโลหิตของคุณแม่ อีกทั้งยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของทารกในครรภ์เพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณคาเฟอีนที่คนท้องควรบริโภคคือ 1–2 แก้วหรือไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน

7. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักเกินไป

การออกกำลังกายหนักเกินไปเป็นหนึ่งในข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือน เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อาจเกิดอาการต่าง ๆ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก เลือดออกทางช่องคลอด และทารกในครรภ์ขยับน้อยลง โดยตัวอย่างสัญญาณของการออกกำลังกายหนักเกินไป เช่น หอบเหนื่อยจนไม่สามารถพูดเป็นคำได้ ร่างกายอ่อนเพลียและมักปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการปะทะ เช่น มวย ฟุตบอล และบาสเกตบอล หรือกีฬาที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น การปั่นจักรยานขึ้นเขา ขี่ม้า และสกี โดยกีฬาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับบาดเจ็บและอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

8. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

ข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนอีกหนึ่งข้อ ไม่ควรทำพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากไม่มั่นใจว่าพฤติกรรมหรือกิจกรรมใดที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มทำ โดยตัวอย่างพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เสี่ยง อาจมีดังนี้

  • การลดน้ำหนักหรืออดอาหาร เป็นสิ่งคนท้อง 1–3 เดือนที่ไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้ทารกได้รับสารอาหารหรือพลังงานไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตในครรภ์
  • การทำความสะอาดกระบะทรายแมว ในอุจจาระของแมวมีปรสิตที่อาจก่อให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หากคนท้องติดโรคดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  • การเจาะหูหรือสัก ซึ่งการเจาะหูหรือสักอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการและสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
  • การอยู่ในสถานที่ที่มีความร้อน เช่น การอบซาวน่า แช่น้ำร้อนและการเล่นโยคะร้อน เพราะสถานที่เหล่านี้อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติโดยกำเนิดของทารกและเสี่ยงต่อการแท้งได้

ข้อควรทำสำหรับคนท้อง 1–3 เดือน

นอกจากหลีกเลี่ยงข้อห้ามคนท้อง 1–3 เดือนเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์แล้ว คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ โดยแพทย์อาจตรวจสุขภาพครรภ์ ตรวจดูประวัติการรักษาหรือประวัติสุขภาพ รวมถึงให้คำปรึกษาและคำแนะนำตลอดการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพของตนเอง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์หรืออุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้อง เช่น โฟเลต แคลเซียม และธาตุเหล็ก เป็นต้น ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่สุขภาพและร่างกายของตนเอง

หากคุณแม่พบสัญญาณความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แพ้ท้องอย่างรุนแรง เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์