ทำความเข้าใจกับโรคไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่

ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังนั้น ก็มีชื่อของไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ (G4 Eurasian Avian-like H1N1 Viruses) หรือเชื้อไวรัส G4 ในหมูที่ประเทศจีนปรากฎขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการศึกษาพบว่าเชื้อนี้มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสไข้ใหญ่ H1N1 ที่เคยระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2552 และเชื้ออาจมีโอกาสแพร่จากสัตว์สู่คน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อว่า ไวรัสชนิดนี้อาจแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน แต่ในขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส G4 ในประเทศไทยและยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน จึงยังไม่น่าเป็นกังวลต่อการระบาดของโรค บทความนี้จึงนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้น เพื่อช่วยให้รับมือกับโรคได้อย่างเหมาะสม

2680-ไข้หวัดหมู

รู้จักโรคไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ 

เชื้อไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ (G4 EA H1N1) เกิดการแพร่ระบาดครั้งแรกในหมูของประเทศจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยเป็นสายพันธุ์ที่มีความเชื่อมโยงกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 หรือไข้หวัดหมู จากการทดลองในสัตว์พบว่า เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจและสัมผัสกับเชื้อได้โดยตรง อีกทั้งเชื้อไวรัสยังมีลักษณะคล้ายไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเซลล์ปอด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส H1N1 จะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัด อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย เมื่อยตามร่างกาย ปวดหัว เป็นต้น และอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้

ไวรัส G4 กับความเสี่ยงต่อการระบาดครั้งใหม่

จากการเก็บตัวอย่างภายในจมูกหมูในโรงเชือดและหมูที่ใช้เพื่อการศึกษากว่า 30,000 ตัวอย่างในประเทศจีน พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมูกว่า 179 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่มากที่สุดคือ เชื้อไวรัส G4 EA H1N1 หรือเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ ในขณะเดียวกันก็ยังพบร่องรอยการติดเชื้อในผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับหมู ทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกประเมินว่าอาจมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนจนกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ขึ้นอีกโรค 

ไวรัส G4 EA H1N1 ที่เกิดขึ้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างยีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในมนุษย์ หมู และนก โดยยีน 4 ตัวในไวรัสดังกล่าวพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งคาดกันว่าเชื้อชนิดนี้เกิดการกลายพันธุ์เมื่อเกิดการติดเชื้อภายในคน โดยมีหมูเป็นเพียงพาหะหรือตัวกลาง 

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Center for Disease Control) ของประเทศจีนระบุว่า ปัจจุบันยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส G4 EA H1N1 จากคนสู่คน แต่ทางการจีนได้ระบุว่ามีโอกาสที่ไวรัสจะปรับตัวแพร่กระจายจากสัตว์มาสู่คน และอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ระลอกใหม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีการรวบรวมข้อมูลของเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาศึกษาทดลอง โดยผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับหมูจะได้รับการเฝ้าระวังการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเฝ้าระวังและจับตามองถึงโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดหมู G4 EA H1N1ในวงกว้างเช่นกัน

การป้องกันและรับมือกับเชื้อไวรัสไข้หวัดหมู

แม้ว่าไม่มีรายงานการพบเชื้อไวรัส G4 EA H1N1 ในประเทศไทย และยังไม่มีการระบาดที่น่ากังวล แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคได้แนะนำแนวทางการป้องกันในเบื้องต้น โดยให้ประชาชนบริโภคเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ รับประทานอาหารปรุงสุก รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างหรือทำความสะอาดมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย หากจำเป็นจะต้องใกล้ชิดกับสัตว์ควรป้องกันตนเองจากการสัมผัสเชื้อโรค อีกทั้งผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ก็เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไข้หวัดขั้นรุนแรง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างโรคปอด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง ควรพบแพทย์หากพบอาการผิดปกติเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต