ทำความรู้จักชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำได้หลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีการตรวจหาเชื้อที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่สูง และใช้เวลารอผลเพียงไม่นาน คือ ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย (Covid-19 Antigen Saliva Test) ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองเช่นเดียวกับการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางโพรงจมูกด้วยการสวอบ (Swab) 

ชุดตรวจโควิด-19 มักใช้ทดสอบผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นและช่วยให้บุคคลนั้นได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหากเกิดการติดเชื้อขึ้น โดยบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการตรวจและการอ่านผลชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผลตรวจที่ได้คาดเคลื่อนน้อยที่สุด

Covid19,Antigen,Test,Kit,With,Cassette,,Pipette,And,Plastic,Bottle

ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย คืออะไร

ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายเป็นการตรวจหาแอนติเจน (Rapid Antigen Tests) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวินิจฉัยโรคระบบหายใจ โดยหลักการทำงานของชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายจะตรวจจับสารพันธุกรรมและโปรตีนที่ผลิตโดยไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) หรือเชื้อโควิด-19 ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำลาย ทำให้ระบุได้เบื้องต้นว่าร่างกายมีเชื้อไวรัสดังกล่าวหรือไม่

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผ่านน้ำลายเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก มีขั้นตอนง่ายกว่าการสวอบ สามารถตรวจได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้เวลาในการแสดงผลประมาณ 10–30 นาที หากสงสัยว่าสัมผัสเชื้อควรเก็บตัวอย่างด้วยชุดตรวจโควิดหรือ Antigen Test Kit (ATK) ภายในเวลา 3–5 วัน

อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีนี้จะมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจ RT-PCR จึงเหมาะสำหรับการคัดกรองผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคโควิด-19 หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19

วิธีใช้ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย

หลังจากอ่านคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดแล้ว ก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำลายควรบ้วนปากให้สะอาดก่อนการทดสอบอย่างน้อย 30 นาที ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ จากนั้นให้จัดวางอุปกรณ์บนพื้นผิวที่สะอาดและเริ่มการตรวจตามขั้นตอน

  1. บ้วนน้ำลายลงในหลอดเก็บตัวอย่างและเขย่าเบา ๆ
  2. ใช้หลอดดูดตัวอย่างน้ำลายออกจากหลอดเก็บตัวอย่าง
  3. หยดน้ำลายจากหลอดเก็บตัวอย่างลงในช่องที่ระบุบนชุดตรวจ
  4. รออ่านผลการทดสอบ โดยระยะเวลาการแสดงผลจะแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ และควรอ่านผลการตรวจตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น เนื่องจากผลที่แสดงก่อนหรือหลังระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดจะเป็นผลที่ไม่แม่นยำ
  5. ทิ้งอุปกรณ์ลงในถุง ปิดถุงให้มิดชิดและไม่ทิ้งร่วมกับขยะชนิดอื่น ๆ
  6. ล้างมือให้สะอาดหลังการตรวจ

นอกจากนี้ ข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย คือ ไม่ควรบ้วนน้ำลายลงชุดตรวจโดยตรง เพราะน้ำลายอาจเหนียวข้นหรือเกิดฟองอากาศมากไป ทำให้ชุดตรวจดูดซึมน้ำลายได้น้อยลงหรือผลการตรวจอาจเกิดการคลาดเคลื่อน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม เคี้ยวหมากฝรั่ง หลีกเลี่ยงการแปรงฟันหรือสูบบุหรี่ก่อนการตรวจ และชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ควรทิ้งทันทีหลังใช้เสร็จ

วิธีอ่านผลชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลาย

หลังตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายตามคำแนะนำแล้ว ผลที่ได้ขึ้นเป็นลบหรือแถบสีปรากฏในตำแหน่ง C บนแถบตรวจเพียงตำแหน่งเดียว หมายถึงตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 ในร่างกาย แต่หากผลที่ได้ขึ้นเป็นบวกหรือแถบสีปรากฏทั้งในตำแหน่ง C และตำแหน่ง T หมายถึงตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่ผลตรวจไม่ขึ้นขีดทั้ง 2 ตำแหน่ง ต้องทำการทดสอบใหม่ด้วยชุดตรวจใหม่

แม้ว่าผลตรวจจากชุดตรวจโควิด-19 ด้วยน้ำลายออกมาเป็นบวก ผู้เข้ารับการตรวจยังจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อหรือวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากผลการตรวจที่ได้จากชุดตรวจโควิด-19 อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้

ในกรณีที่ผลการตรวจเป็นลบ ผู้เข้ารับการตรวจยังคงต้องปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการได้รับเชื้อจากผู้อื่น ทั้งการล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงและตรวจแล้วได้ผลลบในครั้งแรก ควรตรวจซ้ำอีกภายใน 3–5 วันหรือพิจารณาการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

และหากไม่แน่ใจในผลตรวจหรือมีอาการของโควิด-19 อาทิ ไอแห้ง หายใจไม่อิ่มหรือมีปัญหาด้านการหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดหัวหรือกล้ามเนื้อ ควรรับการตรวจในโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด