ถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

ความหมาย ถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบและแตกของเนื้อปอดที่บริเวณถุงลมปอด ทำให้เนื้อปอดมีถุงลมเล็ก ๆ มากมายคล้ายพวงองุ่น และรวมกับถุงลมที่อยู่ติดกันจนกลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่ จนส่งผลให้มีพื้นผิวในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอดลดลงหรือมีอากาศค้างในปอดมากกว่าปกติ

ถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) โดยในปัจจุบัน ถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลายคนของประชากรไทย

ถุงลมโป่งพอง

อาการของถุงลมโป่งพอง

อาการหลักของถุงลมโป่งพอง คือ มีอาการหายใจตื้นและไอ ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่เป็นถุงลมโป่งพองมักไม่รู้ตัวว่าเป็นมานานแล้ว เพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทำให้ผู้ป่วยไม่สังเกตเห็นอาการใด ๆ

นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคนี้มักหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้หายใจตื้น อย่างไรก็ตาม อาการนี้ไม่ได้สร้างปัญหามากหากไม่ส่งผลกระทบหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากมีอาการที่รุนแรงขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจตื้นแม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ

ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคถุงลมโป่งพองที่อาจพบได้ ได้แก่

นอกจากนั้น ในบางรายอาจพบว่ามีริมฝีปากหรือเล็บเป็นสีคล้ำออกม่วงเทาหรือฟ้าเข้มเนื่องจากขาดออกซิเจน 

ทั้งนี้ โรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้มากมาย ดังนั้น หากมีอาการหายใจตื้นเป็นเวลานานหลายเดือนและมีอาการที่แย่ลงหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของถุงลมโป่งพอง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง คือควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับควันบุหรี่จากการสูบเอง หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าการสูบบุหรี่ทำลายถุงลมในปอดได้อย่างไร แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 6 เท่า

นอกจากนั้น สาเหตุหลักของถุงลมโป่งพอง คือการสัมผัสหรือได้รับกับสิ่งกระตุ้นจากทางอากาศอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้แก่

  • มลพิษในอากาศ การหายใจเอามลพิษในอากาศ เช่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไอเสียรถยนต์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดถุงลมโป่งพอง
  • ควันพิษหรือสารเคมีจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองหรือควันพิษที่มีส่วนประกอบของสารเคมีหรือฝุ่นละอองจากไม้ ฝ้าย หรือการทำเหมืองแร่ หากหายใจเข้าไปแล้วก็มีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพองได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสมากขึ้นไปอีกหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่
  • ถุงลมโป่งพองจากการขาดอัลฟ่า–1 (Alpha–1–Antitrypsin Deficiency Emphysema) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการขาดโปรตีนชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายพร่องเอนไซม์ Alpha–1–Antitrypsin จะส่งผลให้ถุงลมที่ปอดถูกทำลาย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง แต่พบได้น้อยมาก

การวินิจฉัยถุงลมโป่งพอง

แพทย์จะเริ่มจากการถามประวัติทางการแพทย์และความเป็นมาต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือผู้ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอกับมลภาวะหรือควันพิษ จากนั้น แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  • การเอกซเรย์หรือการตรวจ CT Scan
  • การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
  • ตรวจด้วยเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry)
  • ตรวจสอบการทำงานหรือสมรรถภาพของปอด โดยการให้เป่าเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อวัดปริมาตรอากาศที่เข้าและออกจากปอด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจและตรวจหาโรคหัวใจ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ

การรักษาถุงลมโป่งพอง

เนื่องจากถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การรักษาจะเน้นไปที่การลดอาการหรือชะลอการดำเนินของโรค โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ ได้แก่

การรักษาด้วยยา

ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจใช้ เช่น

  • ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยยาจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ Beta Agonists และ Anticholinergics
  • ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่ใช้ลดการอักเสบในปอด ซึ่งยาจะมีทั้งรูปแบบของยารับประทาน ยาให้ทางหลอดเลือด หรือยาพ่น
  • ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส–4 อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase–4 Inhibitor) เป็นยารับประทานที่ช่วยต้านการอักเสบ ที่สามารถลดโอกาสในการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่รุนแรง
  • ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อต่อต้านการติดเชื้ออันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาการถุงลมโป่งพองแย่ลง หรือนำมาใช้เพื่อรักษาการกำเริบของโรคในกรณีที่มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย

การฉีดวัคซีน 

ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังควรจะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนโควิด–19 โดยความถี่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากการได้รับวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อในปอดที่รุนแรงได้

การบำบัด

ตัวอย่างการบำบัดที่แพทย์มักใช้ เช่น

  • การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หรือการออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลาง เช่น การเดิน จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรงยิ่งขึ้นและยังช่วยบรรเทาอาการให้ลดลง ซึ่งจะทำให้สามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเล่นโยคะ ไทชิ และการฝึกหายใจลึก ๆ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ดี
  • ดูแลเรื่องโภชนาการ ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองที่มีอาการมากหรือเป็นมานาน จะมีน้ำหนักตัวลดลง ทำให้แรงหรือกำลังที่ใช้ในการหายใจลดลง จำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องโภชนาการเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติ
  • การบำบัดด้วยออกซิเจน เป็นวิธีบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำขณะออกกำลังกายให้สามารถออกกำลังกายได้นานยิ่งขึ้น
  • การบำบัดด้วยการทดแทนอัลฟา–1 (Alpha–1 Replacement Therapy) เป็นวิธีที่จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการขาดอัลฟ่า–1 โดยการให้อัลฟ่า–1 ทดแทน ซึ่งจะฉีดเข้าทางหลอดเลือด

การผ่าตัด 

แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนของปอดที่ได้รับความเสียหายออก หรือทำการปลูกถ่ายปอด แต่จะพบได้น้อย เพราะเป็นวิธีที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากเท่านั้น

การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

นอกจากการรักษาทางการแพทย์ แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ปอดเกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควันพิษ น้ำหอม หรือล้างเครื่องปรับอากาศให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวม หรือการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

ภาวะแทรกซ้อนของถุงลมโป่งพอง

ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • ภาวะที่โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) เป็นภาวะที่สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในรายที่มีอาการรุนแรง เพราะการทำงานของปอดได้ถูกทำลายไปบ้างแล้ว
  • การติดเชื้อที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวม
  • เกิดถุงลมที่พองตัวผิดปกติ (Giant Bullae) สามารถพองตัวใหญ่ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปอด และเพิ่มโอกาสทำให้ปอดแตกได้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ถุงลมโป่งพองสามารถเพิ่มความดันโลหิตของหลอดเลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลว
  • ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia)

นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงลมโป่งพองยังรวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่เกิดขึ้นกับปอด คือ ปอดปวม หรือมะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย

การป้องกันถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพองมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงหรือสวมหน้ากากป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตราย

การตรวจพบโรคได้อย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในรายที่ปอดและหัวใจได้รับความเสียหายอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้