ตอบข้อสงสัยการฉีดวัคซีนเด็กในช่วงโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้แผนการฉีดวัคซีนของลูกน้อยต้องหยุดชะงักหรือล่าช้าไป เนื่องจากหลายครอบครัวกังวลถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการเดินทางมารับวัคซีนที่โรงพยาบาล ทำให้เกิดความสงสัยว่าการเข้ารับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานในสถานพยาบาลนั้นปลอดภัยต่อทารกและเด็กมากน้อยแค่ไหน 

ตามปกติแล้ว ทารกและเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐานตามตารางการให้วัคซีนอย่างครบถ้วนเพื่อการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการฉีดวัคซีนช้ากว่ากำหนดหรือไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคนั้น ๆ จนถึงขั้นเสียชีวิต ในบทความนี้จึงจะมาตอบข้อสงสัยและข้อควรรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนพื้นฐานของเด็กในช่วงการระบาดของโควิด-19 กัน

วัคซีนโควิด-19

การฉีดวัคซีนเด็กช่วงโควิด-19 ปลอดภัยหรือไม่ ?

แม้ว่าการไปโรงพยาบาลในช่วงที่มีการระบาดของโรคเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสหรือเชื้ออื่น แต่อันที่จริงแล้ว แพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะในแผนกกุมารเวชกรรม จะทำตามแผนการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด อาทิ แยกแผนกของการฉีดวัคซีนออกจากแผนกการให้บริการอื่น จัดตั้งการให้บริการในพื้นที่โล่งกว้างเพื่อเว้นระยะห่างให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย หากเป็นไปได้อาจฉีดวัคซีนหลายตัวให้เด็กภายในวันเดียวเพื่อลดการนัดหมายในการมาโรงพยาบาลครั้งถัดไป 

ผู้ปกครองจึงมั่นใจได้ว่าทั้งตนเองและลูกน้อยจะปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเข้ารับบริการในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ควรทำตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย ขณะนั่งรอควรเลือกบริเวณที่คนไม่แออัด และหากเป็นไปได้ควรเลือกเดินทางโดยพาหนะที่ไม่ต้องเบียดกับคนหมู่มาก 

การฉีดวัคซีนเด็กตามกำหนดช่วงโควิด-19 จำเป็นไหม ?

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทารกและเด็กจะต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดเดิมที่อายุ 2, 4, 6, 12 และ 13 เดือนตามลำดับ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อร้ายแรง หากเด็กไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนช้ากว่ากำหนดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ มีอาการป่วยที่รุนแรง และอาจแพร่กระจายเชื้อไปยังเด็กคนอื่นที่ไม่สามารถรับวัคซีนเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจไม่สามารถพาเด็กไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยมีข้อแนะนำในการเลื่อนการฉีดวัคซีนของเด็กและทารกในช่วงที่โควิด-19 ไว้ดังนี้

  • วัคซีนที่ต้องฉีดตามกำหนดเดิม
    ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนที่ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังมีการสัมผัสโรค อย่างวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคอีสุกอีใสhttps://www.pobpad.com/อีสุกอีใส โรคหัดหรือโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • วัคซีนที่สามารถเลื่อนออกไปได้ไม่เกิน 1–2 สัปดาห์
    เป็นวัคซีนชุดแรกสำหรับเด็กอายุ 2–2 ขวบครึ่ง (Primary Series) เพราะจะช่วยป้องกันโรคที่มักทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 3 เข็มแรก วัคซีนโปลิโอ วัคซีนนิวโมคอกคัสหรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • วัคซีนที่สามารถเลื่อนออกไปได้ 2–4 สัปดาห์
    ได้แก่ วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และวัคซีนโปลิโอ ครั้งที่ 4 และ 5 ซึ่งจะฉีดเมื่ออายุครบ 1 ปีครึ่งและ 4 ปี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอชนิดเชื้อไม่มีชีวิตเข็มที่ 2 ซึ่งสามารถฉีดห่างกันได้จากเข็มแรก 6–12 เดือน วัคซีนนิวโมคอกคัสชนิดคอนจูเกตครั้งที่ 3 หรือ 4 และวัคซีนอีสุกอีใสเข็มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 1 ปี และเข็มที่ 2 เมื่อมีอายุ 2–4 ปี
  • วัคซีนที่สามารถเลื่อนออกไปได้มากกว่า 1 เดือน
    ได้แก่ วัคซีน HPV ที่จะเริ่มฉีดเมื่อเด็กมีอายุ 9 ปี และวัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ซึ่งเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่จะฉีดเมื่อเด็กมีอายุ 11–12 ปี

ข้อควรรู้หากลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน

ทารกหรือเด็กเล็กที่ขาดการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อมีอายุครบ 2 เดือน สามารถเริ่มต้นการฉีดได้ในเวลาต่อมา ส่วนในกรณีของเด็กที่ขาดการฉีดวัคซีนบางเข็มสามารถฉีดเข็มต่อไปตามตารางได้โดยไม่ต้องเริ่มเข็มแรกใหม่ เช่น วัคซีนที่ต้องฉีดหลายเข็มอย่างวัคซีนโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน หรือวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

นอกจากการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดในช่วงโควิด-19 แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นจะต้องดูแลสุขอนามัยของลูกให้ดีด้วยเช่นกัน โดยให้เด็กเล็กสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ ล้างมือของตนเองและมือของลูกให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามด้วยต้นแขนด้านใน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ รวมไปถึงโรคโควิด–19 ด้วยนั่นเอง 

เผยแพร่ครั้งแรก 8 กุมภาพันธ์ 2564