จมูกอักเสบจากภูมิแพ้กับวิธีบรรเทาง่าย ๆ ด้วยตนเอง

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นละอองขนาดเล็ก อาจเกิดจากการแพ้สารเพียงชนิดเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากอาการรุนแรงและเรื้อรังอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับได้

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย อาการจะคล้ายหวัด อย่างจาม คันจมูก จมูกอุดตันหรือน้ำมูกไหล หายใจเป็นเสียงหวีดหรือมีปัญหาในการหายใจ ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ในบางรายอาจมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น คัดจมูก ไอ เจ็บคอ หูอื้อ ปวดหัว ฉุนเฉียวง่าย อ่อนเพลีย รับกลิ่นได้น้อยลง และอาจมีถุงคล้ำใต้ตา

Asian,Woman,Sneezing;,Concept,Of,Health,Care,,Body,Care,,Sickness,

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้มาจากสาเหตุใด ?

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นผลมาจากการที่ร่างกายหลั่งสารฮิสทามีน (Histamine) หลังการสัมผัสหรือได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอาจเป็นละอองจากต้นไม้ หญ้า ไรฝุ่น เชื้อรา มูลสัตว์ ของเสียจากแมลงสาปหรือควันบุหรี่ นอกจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ขนาดเล็กแล้ว อาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจเกิดจากภูมิแพ้อาหารที่มีการอักเสบภายในจมูกและลำคอได้เช่นเดียวกัน

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักจะเป็นเด็กแรกเกิด ทารกที่เริ่มกินอาหารหรือนมผงเร็ว ผู้ที่สัมผัสกับควันบุหรี่ตั้งแต่เป็นทารก หรือสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ โรคหืดหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้เกิดจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คือ มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน ควันจากบุหรี่ ลม อากาศหนาว ความชื้น สารเคมีอย่างน้ำหอมและสเปรย์ต่าง ๆ

วิธีดูแลตนเองเมื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

ลดการสัมผัสสารที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้

การลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยกระตุ้นอาจช่วยบรรเทาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ เช่น ทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการสะสมของฝุ่น ระมัดระวังการกินอาหารบางประเภท และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันหรือมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยขับน้ำมูกหรือเมือกที่อยู่ในจมูกออก ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาการอักเสบในโพรงจมูก สามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพียงแค่ใช้น้ำเกลือสำเร็จรูปหรือจะผสมเกลือครึ่งช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้วก็ได้

วิธีล้างจมูกเริ่มจากการใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือ 10–15 ซีซี โน้มตัวไปข้างหน้าให้อยู่เหนืออ่างและก้มหน้าเล็กน้อย สอดปลายไซริ้งค์เข้าไปในจมูกข้างที่คัดแน่นน้อยกว่า โดยให้ปลายไซริ้งค์ชิดรูจมูกด้านบน จากนั้นกลั้นหายใจแล้วค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือจนหมด

หลังน้ำเกลือไหลออกแล้วสามารถสั่งหรือบ้วนน้ำมูก น้ำเกลือหรือเสมหะออกมาได้ ทำซ้ำหลายครั้งในแต่ละข้างเพื่อให้น้ำเกลือล้างทั่วรูจมูกจนรู้สึกโล่งภายในจมูก และน้ำเกลือที่ไหลออกมาจากจมูกและปากมีความใส เมื่อล้างจมูกเสร็จแล้ว ควรล้างอุปกรณ์และมือให้สะอาดทุกครั้ง

ดื่มน้ำให้เพียงพอและกินอาหารที่ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้

การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและกินอาหารที่มีประโยชน์อาจช่วยบรรเทาอาการของภูมิแพ้ให้ดีขึ้น ลดการอักเสบและกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยพยายามเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน

ใช้ยาหรือรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immonotherapy)

การใช้ยาเป็นการบรรเทาอาการจากภูมิแพ้เท่านั้น แต่ไม่ได้สามารถรักษาภูมิแพ้ให้หายขาดได้ ซึ่งยาที่ใช้บรรเทาอาการมีอยู่หลากหลายกลุ่ม เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) หรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) บางชนิด

โดยก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาไปแล้ว 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หรืออาจสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immonotherapy) ซึ่งเป็นการบำบัดที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้และอาการที่ควรพบแพทย์

หากอาการของโรครุนแรงขึ้น กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ อาการภูมิแพ้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาการไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไป หรือมีโรคทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างโรคหืด มีติ่งเนื้อในโพรงจมูก หรือภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากการดูแลและรักษาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้แล้ว การรักษาสุขภาพโดยรวมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจไม่แพ้กัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรคทางระบบทางเดินหายใจที่อาจส่งผลให้อาการภูมิแพ้รุนแรงมากขึ้น