6 วิธีลดอาการบวมอักเสบด้วยตนเองอย่างเหมาะสม

วิธีลดอาการบวมอักเสบต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือติดเชื้อ ร่างกายอาจเกิดการอักเสบ เช่น แดง บวม ปวด หรือรู้สึกอุ่นร้อน ซึ่งเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูบาดแผลของร่างกาย และอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม วิธีลดอาการบวมอักเสบอาจช่วยลดความรู้สึกปวดและบวมที่อาจกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ 

การอักเสบเป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาบาดแผลและการติดเชื้อของร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่ได้รับความเสียหายและปกป้องบริเวณนั้นจากการติดเชื้อเพิ่มเติม จากนั้นร่างกายจะเริ่มรักษาบริเวณนั้น โดยการอักเสบอาจเริ่มดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2–3 วันหรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลหรือการติดเชื้อ

6 วิธีลดอาการบวมอักเสบ

วิธีลดอาการบวมอักเสบด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม

ถึงแม้ว่าอาการอักเสบมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เพราะอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ในบางราย อาจมีอาการบวม ปวด หรืออักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น จึงควรใช้วิธีลดอาการบวมอักเสบต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ เช่น 

1. การลดการเคลื่อนไหวบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ 

ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวอาจดีต่อการฟื้นฟูบาดแผล แต่หากกำลังมีอาการปวด บวม หรือการอักเสบ ควรลดการเคลื่อนไหว ลดกิจกรรม หรือลดการลงน้ำหนักบนบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพราะอาจทำให้อาการอักเสบรุนแรงกว่าเดิม รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดบาดแผลเพิ่มเติมอีกด้วย

2. การประคบเย็น

การประคบเย็นเป็นอีกหนึ่งวิธีลดอาการบวมอักเสบ ซึ่งอาจทำได้โดยการนำผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งเพื่อประคบเย็นครั้งละ 10–15 นาที วันละ 3–5 ครั้ง โดยความเย็นจากการประคบเย็นอาจช่วยลดอาการบวมอักเสบและอาการปวดได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการประคบร้อนหลังจากได้รับบาดเจ็บภายใน 72 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้อาการบวมรุนแรงขึ้นได้

3. การพันบริเวณที่บวมอักเสบด้วยผ้าพันแผล

การพันบริเวณที่บวมอักเสบด้วยผ้าพันแผลชนิดผ้ายืดอาจช่วยบรรเทาอาการบวมอักเสบให้ดีขึ้นได้ แต่ไม่ควรพันผ้าพันแผลแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

หากพันด้วยผ้าพันแผลแล้ว แต่สังเกตเห็นว่าบริเวณผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง รู้สึกเย็นหรือชา ควรคลายผ้าพันแผลออก หากอาการยังคงไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

4. การยกบริเวณที่บวมอักเสบให้สูงกว่าระดับหัวใจ

หากอาการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณแขน ขา หรือบริเวณอื่นที่สามารถยกให้สูงเหนือระดับหัวใจ ควรยกบริเวณที่บวมอักเสบให้สูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 15–25 เซนติเมตร โดยการยกบริเวณที่บวมและอักเสบให้สูงขึ้นอาจช่วยให้ของเหลวที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการบวมไหลกลับสู่หัวใจ และอาจช่วยลดอาการปวดและบวมได้ 

5. การใช้ยารักษา

วิธีลดอาการบวมและอักเสบอีกวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองคือการกินยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มยา NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบแล้ว ยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย

6. การกินอาหารต้านการอักเสบ

การกินอาหารบางชนิดอาจมีสารที่ช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยลดอาการบวมและบรรเทาอาการอักเสบได้ เช่น

  • ผักและผลไม้บางชนิด ในผักและผลไม้บางชนิดมักมีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารโพลีฟีนอล ซึ่งช่วยลดอาการบวมและอักเสบได้ เช่น ผักใบเขียว ขมิ้น ขิง กระเทียม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี แอปเปิล มะละกอ ส้ม
  • ถัว และเมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดเจีย เมล็ดฟักทอง เมล็ดแฟลกซ์ และเมล็ดทานตะวัน
  • น้ำมันและปลาบางชนิด น้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเล็ดแฟกซ์ รวมไปถึงปลาบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมกเคอเรล มักมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งอาจช่วยลดอาการอักเสบได้

อย่างไรก็ตาม ควรกินอาหารต้านการอักเสบให้หลากหลาย และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินหรือแร่ธาตุ เพื่อสุขภาพที่ดีและช่วยลดอาการบวมอักเสบให้หายเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบีบนวดบริเวณที่บวมอักเสบ เพราะอาจทำให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น หากอาการอักเสบไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวด บวม แดงเพิ่มขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาอย่างเหมาะสม