คลายข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังติดโควิด-19

ด้วยกระแสที่ว่าฉีดวัคซีนแล้วยังติดโควิดได้ หลายคนอาจสงสัยว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เป็นเพราะอะไรกันแน่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ฉีดเข้าไปไม่ได้ผลหรือว่าร่างกายของเราต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้นเสียก่อน? พบแพทย์จะมาช่วยทุกคนหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

ปกติแล้วการฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการลดหรือยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ โดยวัคซีนโรคโควิด-19 จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต ทว่าก็เป็นความจริงเช่นกันที่แม้เราจะฉีดวัคซีนแล้วก็อาจติดโรคโควิด-19 ได้ 

คลายข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังติดโควิด-19

ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังติดโควิด-19

แม้วัคซีนโรคโควิด-19 แต่ละชนิดจะมีส่วนช่วยป้องกันโรคได้ ไม่ว่าจะเชื้อเป็น เชื้อตาย หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) แต่ใช่ว่าจะป้องกันโรคได้ 100% เพราะจากการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคใด ๆ ได้ในระดับนั้น สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ต่างกันเช่นกัน โดยจะอยู่ที่ประมาณ 50 ไปจนถึง 90%

นอกจากนี้ หากร่างกายยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคไม่ครบตามเกณฑ์หรือได้รับเพียง 1 เข็ม อาจทำให้ภูมิคุ้มกันโรคมีน้อย หรือหากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2–4 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 2 ร่างกายจึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคที่เพียงพอ ซึ่งในระหว่างนี้เองที่อาจเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนไปแล้วให้สูงขึ้น เช่น

  • เชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ เช่น เดลต้า (Delta) หรือโอมิครอน (Omicron) อาจแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม จึงมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น 
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (พื้นที่สีแดงหรือสีส้ม) หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 
  • ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอจากปัญหาสุขภาพหรือการรักษาบางประการ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็ง การทำเคมีบำบัด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม 
  • ภูมิคุ้มกันอาจลดลงหลังได้รับวัคซีนมาเป็นเวลานาน จึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม โดยวัคซีนแต่ละยี่ห้อจะมีระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และ 3 ที่ต่างกัน และบางคนอาจฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกันด้วย จึงควรติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขหรือปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดโควิด-19 มักมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง หรืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย โดยโอกาสเกิดอาการที่รุนแรงนั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่า การฉีดวัคซีนยังคงมีความสำคัญอย่างมาก และทุกคนในสังคมควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็มหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยเข็มที่ 3 ควบคู่กับการดูแลตัวเองในชีวิตประจำให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19 อาทิ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เว้นระยะห่างทางสังคม และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่แออัดหรือเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค 

ในกรณีที่มีไข้ รู้สึกป่วย หรือพบอาการผิดปกติใด ๆ แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว ควรทดสอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เบื้องต้น หากผลที่ออกมาเป็นบวก (Positive) ควรบอกคนในครอบครัวให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อส่งตัวเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยที่แม่นยำในโรงพยาบาลต่อไป