ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับน้ำคร่ำ

หลายคนอาจเข้าใจว่าน้ำคร่ำมีหน้าที่แค่ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนทารกในครรภ์ แต่จริง ๆ แล้วน้ำคร่ำมีความสำคัญต่อทารกอีกหลายอย่าง และหากน้ำคร่ำมีความผิดปกติก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพทารกด้วยเช่นกัน มาดูกันว่าความสำคัญของน้ำคร่ำมีอะไรบ้าง และความผิดปกติของน้ำคร่ำลักษณะไหนที่คุณแม่ควรระวัง 

น้ำคร่ำเป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนที่เหลือจะเป็นเซลล์ที่หลุดออกมาจากตัวทารกและสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งส่วนประกอบของน้ำคร่ำในการตั้งครรภ์ช่วงแรกไปถึงการตั้งครรภ์ช่วงท้ายก็จะแตกต่างกันไปด้วย 

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับน้ำคร่ำ

น้ำคร่ำสำคัญอย่างไร

น้ำคร่ำมีบทบาทสำคัญมากมายในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นของเหลวที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของทารกให้คงที่ ช่วยรับแรงกระแทกจากภายนอก และช่วยให้ทารกสามารถขยับร่างกายได้อย่างสะดวกภายในครรภ์ 

รวมถึงช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารและออกซิเจนผ่านทางสายสะดือ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก ฝึกการหายใจและเสริมสร้างพัฒนาการปอดผ่านการหายใจนำน้ำคร่ำเข้าออกร่างกาย และยังมีส่วนประกอบของสารภูมิต้านทาน (Antibodies) อยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อ

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจน้ำคร่ำเพื่อดูเพศของทารก ตรวจหาปัญหาสุขภาพทั่วไป และตรวจการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคทางพันธุกรรมบางโรคได้ด้วยเช่นกัน

ความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับน้ำคร่ำ

ปกติแล้วคุณแม่จะมีปริมาณน้ำคร่ำอยู่ที่ 600–800 มิลลิลิตร แต่หากคุณแม่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เช่น

ภาวะน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios)

น้ำคร่ำมากเป็นภาวะที่พบได้น้อย อาจเกิดขึ้นจากตั้งครรภ์แฝด คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ ทารกมีภาวะซีด (Fetal Anemia) หรือลำไส้ของทารกเกิดการอุดตัน 

ภาวะน้ำคร่ำมากมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นอย่างชัดเจน แต่แพทย์อาจตรวจพบได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการกรดไหลย้อน หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ออก เหนื่อยหอบผิดปกติ เข่าหรือเท้าบวมอย่างรุนแรง ปวดหลัง มดลูกหดตัว ท้องผูก หรืออาจทำให้ทารกในครรภ์อยู่ในท่าทางที่ผิดปกติได้ 

ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)

ภาวะน้ำคร่ำน้อยอาจเป็นผลมาจากไตหรือทางเดินปัสสาวะของทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาสุขภาพของตัวคุณแม่เอง เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะน้ำคร่ำรั่ว ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การคลอดช้ากว่ากำหนด หรืออาจเกิดจากโรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด

คุณแม่ที่มีน้ำคร่ำน้อยอาจสังเกตเห็นความผิดปกติได้จากการมีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด รู้สึกได้ว่าทารกในครรภ์เคลื่อนตัวน้อยลง มดลูกมีขนาดเล็กลงหรือน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งหากคุณแม่มีน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติก็จำเป็นต้องพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการดูแลและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากน้ำคร่ำของคุณแม่มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และพบอาการผิดปกติให้เห็นระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการตรวจอย่างเหมาะสม เนื่องจากน้ำคร่ำมากอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด เลือดออกมากผิดปกติหลังคลอด รกลอกตัวก่อนกำหนด สายสะดือโผล่แลบ หรืออาจเกิดภาวะตายคลอดได้

ส่วนการมีน้ำคร่ำน้อยก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะสูดสำลักขี้เทา (Meconium Aspiration Syndrome: MAS) การติดเชื้อ อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ช้าลง สายสะดือถูกกดทับหรือภาวะแท้งบุตรได้