Polyhydramnios

ความหมาย Polyhydramnios

Polyhydramnios หรือภาวะน้ำคร่ำมาก เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำในถุงน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ทำให้ถุงน้ำคร่ำเกิดการขยายตัวและอาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก แน่นท้อง หายใจไม่ออก หรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีน้ำคร่ำมากในระดับที่ไม่รุนแรงอาจไม่ปรากฏอาการให้สังเกตเห็นและมักไม่เป็นอันตราย แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้

ภาวะน้ำคร่ำมากเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อย มักพบในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ โดยมีอัตราการเกิดอยู่ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรง จึงควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์อยู่เสมอ 

Polyhydramnios

อาการของ Polyhydramnios

ถุงน้ำคร่ำที่ขยายขึ้นอาจส่งผลให้เกิดแรงดันบริเวณอวัยวะใกล้เคียงหรือช่องคลอด โดยภาวะน้ำคร่ำมากระดับไม่รุนแรงถึงระดับปานกลางอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจนหรือบางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นช้า ๆ จนไม่ทันสังเกตเห็น แต่หากอยู่ในระดับรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ที่ตั้งครรภ์มีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก
  • ท้องบวม แน่นท้อง
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • มดลูกบีบตัว
  • ช่องคลอดขยายตัว
  • ภาวะทารกไม่กลับหัว
  • อวัยวะส่วนล่างอย่างเท้า ขา สะโพกมีอาการบวม
  • ท้องผูก
  • แสบร้อนกลางอก
  • อาหารไม่ย่อย

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการในข้างต้นหรือท้องขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะอาการในข้างต้นอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน 

สาเหตุของ Polyhydramnios

ภาวะน้ำคร่ำมากอาจเกิดจากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นผลจากการพัฒนาของทารกที่ไม่สมบูรณ์หรือเกิดจากภาวะครรภ์ผิดปกติของมารดาเอง แต่บางรายอาจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนหรือหาสาเหตุของภาวะนี้ไม่ได้

สาเหตุที่มักทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำมากมีดังนี้

  • ภาวะบกพร่องบางอย่างในครรภ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลาง
  • ภาวะเลือดจางของทารกในครรภ์
  • ลำไส้อุดตันในทารก 
  • ภาวะของเหลวเกินในทารก
  • โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
  • สายรกทำงานผิดปกติ
  • โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด หรือ Twin-to-twin Transfusion Syndrome (TTTS) เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงให้รกทำงานผิดปกติ โดยรกอาจถ่ายเลือดจากเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ทำให้ทารกเติบโตไม่เท่ากัน
  • ปัญหาสุขภาพของผู้ที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • กรุ๊ปเลือดของมารดาและทารกเป็นคนละกรุ๊ป ทำให้เลือดและเซลล์เกิดการต่อต้านกัน

การวินิจฉัย Polyhydramnios

ขั้นแรกแพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยพบและตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของโรค อย่างอาการบวมบริเวณท้องหรือร่างกายส่วนล่าง จากนั้นแพทย์จะตรวจครรภ์ด้วยวิธีอัลตราซาวด์หรือการใช้คลื่นเสียงตรวจสอบลักษณะของทารกและถุงน้ำคร่ำ หากภาพที่แสดงออกมากมีแนวโน้มว่าจะเป็นภาวะดังกล่าว แพทย์อาจตรวจอัลตราซาวด์แบบเฉพาะจุดเพื่อตรวจดูปริมาณน้ำคร่ำและขนาดของถุงน้ำคร่ำ ซึ่งอาจช่วยบอกถึงสาเหตุของโรคและคาดคะเนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดเชื้อและเจาะถุงน้ำคร่ำเพิ่มเติม หากพบว่ามีภาวะ Polyhydramnios ดังกล่าว แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ด้วยวิธี Nonstress Test โดยอาจใช้ร่วมกับการทำ Biophysical Profile ซึ่งเป็นการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูการหายใจและการเคลื่อนไหวของทารกไปจนถึงปริมาณน้ำคร่ำในถุงที่เพิ่มขึ้น

การรักษา Polyhydramnios

โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะน้ำคร่ำมากระดับไม่รุนแรงมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจขนาดถุงน้ำคร่ำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากถุงน้ำอาจขยายขึ้นได้ แต่บางรายที่มีอาการจนส่งผลต่อใช้ชีวิตประจำวันอาจรักษาได้ด้วยวิธี ดังนี้

รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ

โรคเบาหวานที่เกิดก่อนและระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคร่ำมาก แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานให้กับผู้ป่วย ซึ่งอาจช่วยบรรเทาและรักษาภาวะน้ำคร่ำมาก นอกจากนี้ โรคอื่นที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะน้ำคร่ำมาก จึงควรแจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัวทุกชนิด

รักษาภาวะน้ำคร่ำมากโดยตรง

ในรายที่มีอาการปวดท้อง หายใจหอบ หรือมีสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การเจาะถ่ายน้ำคร่ำส่วนเกินออก เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำคร่ำให้อยู่ในระดับปกติและป้องกันภาวะแทรกซ้อน แต่การถ่ายน้ำคร่ำก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน
  • การใช้ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยานี้เพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำและปัสสาวะของทารกที่มีอายุไม่เกิน 31 สัปดาห์ เพราะหากอายุครรภ์มากกว่านี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจผิดปกติ โดยระหว่างการใช้ยานี้ ทารกในครรภ์จำเป็นต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจสุขภาพอยู่เสมอ
  • การทำคลอดก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพราะสตรีมีครรภ์ที่มีภาวะน้ำคร่ำมากอาจตั้งครรภ์นานถึง 39-40 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ ผู้ที่เจาะน้ำคร่ำหรือใช้ยาในการรักษา แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจทุก 1-3 สัปดาห์หลังจากการรักษา เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 

ภาวะแทรกซ้อนของ Polyhydramnios

ภาวะน้ำคร่ำในระดับที่รุนแรงอาจจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าคลอด และอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น คลอดก่อนกำหนด ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะสายสะดือย้อย ทารกโตเร็วเกิน ทารกไม่กลับหัว ตายคลอด หรือภาวะเลือดไหลผิดปกติหลังคลอด เป็นต้น

การป้องกัน Polyhydramnios

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือโรคติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวและวางแผนการรักษาโรคเหล่านี้ก่อนการตั้งครรภ์ สำหรับสาเหตุที่เกิดจากภาวะครรภ์หรือการพัฒนาที่บกพร่อง อาจปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของความผิดปกติเหล่านี้ โดยแพทย์อาจแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเอง อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไปจนถึงวิธีทางการแพทย์

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ระหว่างการพักรักษาตัวจากภาวะนี้ ควรดูแลตนเองและรักษาสุขภาพด้วยการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่มักอุ้มท้องและคลอดทารกได้อย่างปกติและไม่เป็นอันตราย แต่หากมีความกังวลหรือรู้สึกเครียดอาจขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์