ท้องผูก

ความหมาย ท้องผูก

ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติหรือถ่ายอุจจาระไม่ออกเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมและความถี่ในการถ่ายอุจจาระปกติของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน แต่ในทางการแพทย์มักหมายถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

2772_ท้องผูก

อาการของท้องผูก 

โดยทั่วไป ตัวอย่างสัญญาณอาการของท้องผูกจะมีดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น 
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก ๆ 
  • รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายได้ไม่สุด
  • ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมากหรือใช้มือช่วยล้วง อาจมีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระร่วมด้วย
  • ท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง

ผู้ที่มีอาการในข้างต้น 2-3 ข้อ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน อาการท้องผูกธรรมดาหรือที่เรียกว่าท้องผูกฉับพลันอาจพัฒนากลายเป็นท้องผูกเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากพบความผิดปกติในการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยหาสาเหตุไม่ได้ แม้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตแล้ว แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดลง ถ่ายมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่อาจซ่อนความผิดปกติไว้

สาเหตุของอาการท้องผูก

ท้องผูกเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างปกติ จึงเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ถ่ายออกได้ลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกอาจมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

การใช้ยา 

การรับประทานยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกขึ้นได้ เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการทางจิต ยารักษาอาการชัก อาหารเสริมกลุ่มแคลเซียมและธาตุเหล็ก ยาระงับปวดชนิดโอปิออยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

สภาวะทางร่างกายที่ส่งผลต่อฮอร์โมน 

ฮอร์โมนช่วยให้ของเหลวและการทำงานภายในร่างกายเกิดความสมดุล ดังนั้นการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือสภาวะบางอย่างที่ทำให้ฮอร์โมนเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งอาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลในการทำงาน สามารถนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เช่น โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือโรคลำไส้แปรปรวน 

โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ 

ความผิดปกติจากโรคทางด้านระบบประสาทสามารถส่งผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของอุจจาระภายในระบบทางเดินอาหารและอาจนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เช่น เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส โรคพาร์กินสัน เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บ รวมถึงโรคหลอดเลือดในสมอง

การอุดตันภายในลำไส้ 

สภาวะบางอย่างที่ก่อให้เกิดการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่หรือบริเวณทวารหนักอาจทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวออกจากระบบทางเดินอาหารได้ลำบากหรือติดค้างอยู่ภายในลำไส้ เช่น  แผลปริขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างหรือปัจจัยบางประการอาจเอื้อต่อการเกิดอาการท้องผูกได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • การอั้นอุจจาระ 
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย 
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย 
  • น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป 
  • ดื่มน้ำน้อย 
  • ความเครียดหรือความกดดัน 
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ
  • มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
  • อยู่ในวัยผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยอาการท้องผูก

แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยอาการท้องผูกได้โดยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการขับถ่าย การตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อประเมินอาการในขั้นต้น แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อเป็นการยืนยันผลการตรวจร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการชักประวัติ และค้นหาสาเหตุของอาการท้องผูกที่ยังตรวจไม่พบดังนี้

การตรวจทางทวารหนัก 

เป็นการตรวจค้นหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกขึ้น โดยแพทย์จะสวมถุงมือที่มีการเคลือบสารหล่อลื่น จากนั้นจึงใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในรูทวารหนัก เพื่อคลำหาว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ 

การตรวจเลือด 

เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาได้ว่าอาการท้องผูกเกิดมาจากสาเหตุทั่วไปหรือไม่ โดยเฉพาะการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือสูงเกินไป

การเอกซเรย์ช่องท้อง 

เป็นการถ่ายภาพทางรังสีในบริเวณลำไส้ส่วนปลายและทวารหนักของผู้ป่วย โดยมีการสวนทวารด้วยแป้งแบเรียมที่เป็นสารทึบรังสี เพื่อดูการเคลื่อนตัวของอุจจาระผ่านเครื่องเอกซเรย์

การตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก 

เป็นการตรวจหาความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนควบคุมการขับถ่าย โดยการกลืนแคปซูลที่มีแถบทึบแสง ซึ่งสามารถมองเห็นได้เมื่อมีการเอกซเรย์ แล้วดูการเคลื่อนตัวจากการตรวจภาพเอกซเรย์อย่างต่อเนื่อง 

การส่องกล้องตรวจ 

เป็นการตรวจดูการทำงานของลำไส้ใหญ่บางส่วน (Sigmoidoscopy) หรือลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ด้วยกล้องเฉพาะทางการแพทย์ ซึ่งจะถูกสอดเข้าไปทางทวารหนัก  

การตรวจวัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก 

แพทย์จะมีการสอดท่อที่มีบอลลูนขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนัก แล้วให้ผู้ป่วยพยายามใช้แรงเบ่งออกมา ซึ่งเครื่องจะสามารถวัดแรงดันหรือการบีบตัว เพื่อตรวจดูการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณทวารหนัก

การรักษาอาการท้องผูก

อาการท้องผูกสามารถรักษาได้หลายวิธี โดยต้องดูสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกขึ้นเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำได้โดย

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหาร 

เป็นการรักษาอาการท้องผูกที่มีอาการไม่รุนแรงและช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องรับประทานยา ซึ่งแพทย์อาจมีคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางส่วน เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงอย่างน้อย 18-30 กรัมต่อวัน โดยเฉพาะผักและผลไม้สด ธัญพืช หรือเติมสารเพิ่มปริมาณ (Bulking Agents) ในอาหารที่รับประทาน เช่น รำข้าวสาลี เพื่อช่วยให้อุจจาระมีความอ่อนตัวมากขึ้นและง่ายต่อการขับถ่าย
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตร เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดน้ำ และไม่ทำให้อุจจาระแข็งจนเกินไป
  • ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นระยะเวลา 10-15 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อให้ทำงานได้เป็นปกติ
  • ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน ไม่ควรมีการอั้นอุจจาระหรือรีบร้อนในการขับถ่าย 
  • ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ และควรมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง 

การรักษาด้วยการใช้ยา 

เมื่อการปรับพฤติกรรมในข้างต้นยังไม่ช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น การรับประทานยาจะช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระทำได้ง่ายขึ้น โดยตัวยาสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด และแต่ละชนิดออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารที่แตกต่างกัน เช่น 

  • ยาระบายกลุ่มเส้นใยหรือไฟเบอร์ (Fiber Supplements) จะช่วยเพิ่มปริมาตรในอุจจาระให้มีมากขึ้นและบางตัวมีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระจึงนิ่มและถ่ายออกได้ง่าย เช่น ยาไซเลียม (Psyllium) ยาพอลิคาร์บอฟิล (Calcium Polycarbophil) ยาเมทิล เซลลูโลส (Methylcellulose Fiber) 
  • ยาระบายกลุ่มกระตุ้น (Stimulants) จะช่วยกระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น เช่น ยาดัลโคแลค (Dulcolax) ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) ยาเซนโนไซด์ (Sennosides) 
  • ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives) จะออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น ทำให้อุจจาระไม่แห้งและแข็งจนถ่ายออกลำบาก เช่น ยาแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide)  ยาแลคตูโลส (Lactulose) ยาแมกนีเซียม ซิเตรท (Magnesium Citrate) นอกจากนี้ ยังมียาโพลีเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG) หรือยามาโครกอล (Macrogol) เป็นยาระบายชนิดผงที่ใช้ผสมกับน้ำสะอาด เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยาเม็ด  
  • ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant) เป็นยาที่ช่วยเพิ่มความลื่นให้กับลำไส้ อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น มิเนอรอล ออยด์ (Mineral Oils) 
  • ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners) มีฤทธิ์ช่วยให้อุจจาระนิ่มจนง่ายต่อการเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ เช่น ยาในกลุ่มด๊อกคิวเซท (Docusate Sodium/Docusate Calcium)
  • ยาเหน็บและการสวนอุจจาระ (Suppositories/Enemas) ยาเหน็บช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ในการขับอุจจาระมากขึ้น เช่น โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium Phosphate) แต่ในกรณีที่อุจจาระแข็งมากอาจแนะนำให้มีการสวนอุจจาระที่อุดตันออกก่อน อาจเป็นการสวนด้วยน้ำเปล่า น้ำสบู่ หรือชุดสวนอุจจาระสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) หรือกลีเซอรีน (Glycerin) จากนั้นจึงค่อยรักษาด้วยยาในกลุ่มรับประทานยาต่อ

การรักษาด้วยซินไบโอติก (Synbiotic) 

ถือเป็นการรักษาทางเลือกที่เกิดจากการนำจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างโพรไบโอติก และอาหารของจุลินทรีย์อย่างพรีไบโอติกมารวมเข้าด้วยกันเป็นซินไบโอติก เพราะซินไบโอติกบางชนิดอาจช่วยเสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือลำไส้แปรปรวนได้ 

จากงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของซินไบโอติกชนิดหนึ่งเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก 100 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานซินไบโอติกหรือยาหลอกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผลพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานซินไบโอติกมีอุจจาระอ่อนนุ่มลง และอุจจาระถูกขับออกมาจากลำไส้ได้เร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก การรับประทานซินไบโอติกจึงอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาด้วยซินไบโอติกต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีเพียงซินไบโอติกบางชนิดเท่านั้นที่ช่วยในการรักษาท้องผูกโดยตรง โดยในปัจจุบันซินไบโอติกถูกพัฒนามาอยู่ในรูปแบบที่หาซื้อและรับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากการบริโภค จึงอาจใช้เป็นหนึ่งในการรักษาทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพลำไส้ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ซินไบโอติกในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสตรีมีครรภ์

การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback Training) 

เป็นการฝึกควบคุมการทำงานและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยจะมีการสอดอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนัก จากนั้นนักกายภาพบำบัดจะบอกให้ผู้ป่วยลองขมิบหรือคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเครื่องมือที่ถูกสอดเข้าไปจะบันทึกและประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ 

การผ่าตัด 

มักใช้ในกรณีที่การรักษาอื่น ๆ ในข้างต้นไม่ได้ผลดีและอาการท้องผูกรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการลำไส้เกิดการอุดตัน ตีบแคบ หรือหย่อนออกมา โดยแพทย์อาจจะมีการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ในบางช่วงออก 

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องผูก

อาการท้องผูกโดยทั่วไปไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บในขณะขับถ่าย แต่หากเกิดอาการท้องผูกบ่อยมากขึ้นอาจส่งผลให้อุจจาระตกค้างอยู่ภายในลำไส้จนแห้งและแข็ง ทำให้ถ่ายออกได้ลำบากหรือไปเสียดกับผนังลำไส้และทวารหนักขณะถ่าย จึงอาจทำให้ถ่ายเป็นเลือด ในบางรายอาจพัฒนาเป็นแผลแตกรอบ ๆ ทวารหนักหรือโรคริดสีดวงทวารขึ้นได้ เนื่องจากต้องใช้แรงเบ่งในการขับอุจจาระ 

การป้องกันอาการท้องผูก

อาการท้องผูกป้องกันได้โดยดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ยกเว้นในบางกรณีที่การดื่มน้ำมีผลต่อสภาวะของร่างกายหรือโรคที่เป็นในขณะนั้น รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลมมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น

การรับประทานอาหารควรเลือกอาหารประเภทที่มีกากใยมากขึ้น (ประมาณ 30 กรัมต่อวัน) โดยเฉพาะผักและผลไม้ โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการรับประทานขึ้นทีละน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องอืด และในบางรายอาจเกิดปัญหาท้องผูกจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณน้อย

นอกจากนี้ ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 30 นาทีต่อวัน หรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ จะเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้ตรงเวลา ไม่อั้นอุจจาระเมื่อเกิดอาการปวดโดยไม่จำเป็น และหากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้อาการท้องผูกกลายเป็นอาการเรื้อรังหรือรุนแรงมากขึ้น