การตรวจคัดกรองมะเร็งกับความสำคัญต่อสุขภาพที่ควรรู้

แม้ว่าโรคมะเร็งนั้นมีความร้ายแรงจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ก่อนมีอาการปรากฏอย่างชัดเจน และก่อนที่มะเร็งขยายใหญ่หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองมะเร็งนี้เป็นเพียงการตรวจหาเซลล์มะเร็งเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยตรง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ก็ตามและจะตรวจแม้ยังไม่มีอาการของโรคมะเร็งปรากฏ บทความนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญและชนิดของการตรวจคัดกรองมะเร็งที่แตกต่างกันออกไป

Female,Doctor,Consulting,Patient.,Asian,People

การตรวจคัดกรองมะเร็งสำคัญอย่างไร

การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นการตรวจหาร่องรอยของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและไม่มีอาการของโรคมะเร็ง ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และแพทย์สามารถรักษาอาการของโรคได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าผลที่ได้จากการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ยืนยันความแม่นยำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ อีกทั้งประสิทธิภาพของการตรวจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลาย ๆ อย่างรวมกัน

รูปแบบและวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งที่น่าสนใจ

การตรวจคัดกรองมะเร็งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่ต้องการตรวจ ซึ่งรูปแบบการตรวจที่ได้รับความนิยมและมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นมีดังนี้

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) 

 

การตรวจรูปแบบนี้ใช้เพื่อตรวจหา ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้https://www.pobpad.com/มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะช่วยให้แพทย์สามารถพบติ่งเนื้อที่ผิดปกติในลำไส้ โดยแพทย์จะใช้กล้องส่องชนิดพิเศษ (Colonoscope) มีลักษณะเป็นท่อที่สามารถยืดหยุ่นได้ มีไฟและกล้องติดอยู่บริเวณปลายท่อสอดเข้าทางทวารหนักไปยังลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ หากพบติ่งเนื้อในลำไส้  แพทย์อาจตัดติ่งเนื้อดังกล่าวบางส่วนไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการกลายเป็นมะเร็งในอนาคต โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับตรวจด้วยวิธีส่องกล้องสำไส้ใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50–75 ปี

การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammography)

 

การตรวจรูปแบบนี้มีประโยชน์อย่างมากในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจยืนหันหน้าเข้าหาเครื่องแมมโมแกรมและกดหน้าอกให้แนบกับเครื่องมือมากที่สุด ช่วยให้แพทย์เห็นภาพภายในเต้านม 2 ข้างในบริเวณทั้งหมดได้ และสามารถตรวจพบหากมีเนื้อเยื่อในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมีลักษณะที่ผิดไปจากปกติ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจภาพรังสีเต้านม คือ ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปและควรรับการตรวจปีละ 1 ครั้ง

การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear)

 

การตรวจแปปสเมียร์เป็นวิธีการที่ใช้ตรวจหามะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะให้ผู้รับการตรวจนอนราบและขึ้นขาหยั่ง ก่อนจะค่อย ๆ สอดเครื่องมือชนิดพิเศษเข้าไปทางช่องคลอดและถ่างปากช่องคลอดเพื่อให้แพทย์สามารถเห็นถึงปากมดลูกได้ และแพทย์จะเก็บเซลล์ตัวอย่างในบริเวณปากมดลูกและบริเวณต่าง ๆ ของมดลูกเพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose Helical Computerized Tomography)

 

วิธีการนี้จะใช้เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งปอด ซึ่งแพทย์จะตรวจโดยให้ผู้รับการตรวจนอนราบและนอนให้นิ่งที่สุด ก่อนที่โต๊ะรองนอนจะค่อย ๆ เครื่องเข้าไปยังอุโมงค์เครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ และเมื่อเครื่องจะเริ่มสแกนภาพ ผู้เข้าตรวจจะต้องกลั้นหายใจเพื่อให้เครื่องสแกนภาพปอดได้อย่างชัดเจน

การตรวจผิวหนัง (Skin Exams)

 

แพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อตรวจค้นหาโรคมะเร็งผิวหนัง โดยจะใช้แว่นขยายตรวจในบริเวณไฝ ปาน หรือร่องรอยอื่น ๆ บนผิวที่มีสี ลักษณะพื้นผิว รูปร่างหรือขนาดแปลกไปจากผิวส่วนอื่น ๆ โดยใช้เวลาไม่นาน แต่ทั้งนี้ การตรวจผิวหนังเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยตนเองเช่นกัน โดยเป็นการยืนตรงหน้ากระจกและสำรวจผิวหนังในบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งยังสามารถทำได้ด้วยรูปแบบอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจความผิดปกติในยีนเพื่อตรวจหายีน BRCA1 และ BRCA2 ที่พบได้มากในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ หรือการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) เพื่อตรวจหาสารผิดปกติที่อาจพบได้ในเลือด ปัสสาวะหรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ถึงรูปแบบการตรวจที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจแต่ละรูปแบบ

แม้ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งอาจช่วยให้ตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้แก่ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เลิกสูบบุหรี่และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้สุขภาพดีก็จะอยู่กับเราได้ไม่ยาก