กัวซา ศาสตร์การรักษาตำหรับจีน ดีต่อสุขภาพจริงหรือ

กัวซา คือ เทคนิคการรักษาโรคของจีนแต่โบราณโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีลักษณะโค้งมนมากดและขูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เชื่อกันว่ากัวซาอาจช่วยล้างพิษในร่างกาย เพิ่มพลังชีวิต ต้านการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลายชนิด เช่น ปวดคอ ปวดหลัง บรรเทากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน และอาจช่วยแก้ปัญหาเต้านมคัดของหญิงตั้งครรภ์ได้ด้วย

กัวซา

แม้จะเชื่อกันว่ากัวซาส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงถึงกลไกการทำงานที่ชัดเจนของกัวซาว่าช่วยรักษาโรคได้อย่างไร จึงยังไม่อาจยืนยันประสิทธิภาพทางการรักษาที่แท้จริงของกัวซาได้

วิธีการทำกัวซา

การทำกัวซาเริ่มต้นด้วยการทาน้ำมันลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการ จากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์กัวซาที่มีลักษณะโค้งมน ผิวเรียบ เป็นก้อนหรือเป็นแผ่นบาง อาจมีด้ามจับขนาดพอดีมือ ซึ่งทำมาจากวัสดุหลากชนิด เช่น เซรามิก หยก ไม้ หรือเขาสัตว์ นำไปกดและขูดผิวบริเวณนั้นเป็นจังหวะสั้นยาวซ้ำ ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดของเนื้อเยื่ออ่อน ส่วนมากนิยมทำกัวซาบริเวณลำคอ แขน แผ่นหลัง ก้น สะโพก และขา หรือบางคนอาจทำที่ใบหน้า โดยเชื่อว่าอาจช่วยให้ผิวกระชับขึ้น

ความเชื่อเกี่ยวกับประโยชน์ของกัวซา

แม้ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถระบุกลไกของกัวซาที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่มีการศึกษาบางส่วนได้กล่าวถึงประโยชน์ของกัวซาไว้ ดังนี้

  • ปวดกล้ามเนื้อ จากการทดลองโดยมีผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งล้วนแต่มีสุขภาพดี 11 คน พบว่า การทำกัวซาเป็นเวลา 25 นาที ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ โดยอาสาสมัครทดลองเพศหญิงตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพศชาย และไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ แต่งานทดลองนี้เป็นเพียงการศึกษานำร่องขนาดเล็กเท่านั้น จึงจำเป็นต้องค้นคว้าประสิทธิภาพที่ชัดเจนของกัวซาเพิ่มเติมต่อไป
  • ปวดต้นคอ จากการศึกษาพบว่า หลังจากรักษาด้วยกัวซา 1 ครั้ง ผู้ที่มีอาการปวดต้นคอเรื้อรังมีอาการดีขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยแผ่นแปะบรรเทาอาการปวด แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นเพียงการบรรเทาอาการปวดในระยะสั้นเท่านั้น ควรมีการศึกษาประสิทธิผลของกัวซาในระยะยาวต่อไป
  • ปวดหลัง จากการศึกษานำร่องชิ้นหนึ่ง พบว่าผู้สูงอายุที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างชนิดเรื้อรังมีอาการดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยกัวซา อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สูงอายุ และอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้นานกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาโดยใช้แผ่นประคบร้อน อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้านี้เป็นผลจากการศึกษานำร่องเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาประสิทธิภาพของกัวซาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • อาการก่อนมีประจำเดือน จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน เมื่อรับการรักษาด้วยกัวซาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที ร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐานเป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ปวดศีรษะ อาการชาคล้ายเข็มทิ่ม นอนไม่หลับ เมื่อยล้า หงุดหงิด และซึมเศร้า น้อยกว่าผู้ที่รักษาแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว และยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
  • เต้านมคัดหลังการตั้งครรภ์ จากหลักฐานการทดลองสนับสนุนว่า กัวซาอาจมีประสิทธิภาพบรรเทาอาการเต้านมคัดของผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร โดยเฉพาะเมื่อทำกัวซาพร้อมด้วยการพยาบาลดูแลตามมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาบางส่วนจะแสดงถึงประสิทธิผลทางการรักษาของกัวซา แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมยิ่งขึ้น เพื่อยืนยันประสิทธิภาพ กลไกการรักษา และความปลอดภัยในการทำกัวซา

ผลข้างเคียงของการทำกัวซา

กัวซาเป็นแพทย์ทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่มีความปลอดภัยหากทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลที่สะอาดเหมาะสม แต่ไม่ควรใช้กัวซาแทนการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจทำกัวซาเสมอ

อย่างไรก็ตาม วิธีการทำกัวซาใช้อุปกรณ์กดและขูดตามร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น

  • เกิดรอยช้ำตามผิวหนัง โดยปกติรอยช้ำเหล่านั้นจะดีขึ้นหลังทำกัวซาไปแล้วประมาณ 2-3 วัน แต่หากเป็นรอยฟกช้ำร่วมกับมีอาการปวด มีไข้ หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
  • ผิวไม่เรียบ มีรอยหยักหรือรอยบุ๋ม
  • มีเลือดออกเล็กน้อย

ข้อควรรู้ก่อนการตัดสินใจทำกัวซา

ก่อนตัดสินใจทำกัวซา ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่เปิดให้บริการทำกัวซา หรือแพทย์ที่ทำการรักษา เพราะกัวซาควรทำโดยแพทย์ฝังเข็มหรือผู้ประกอบโรคศิลป์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง ลดความเสี่ยงการเกิดแผลฟกช้ำ อาการปวดอย่างรุนแรงหลังทำกัวซา และหากเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ถูกสุขอนามัยหรือไม่ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อน อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเลือด เช่น โรคเอดส์จากการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว มีอาการป่วยอย่างเรื้อรังหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำกัวซาเสมอเพราะกัวซาอาจไม่ส่งผลดีแก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่กำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่เพิ่งผ่าตัดในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา