กลัวการผูกมัด เมื่อความสัมพันธ์อาจไม่ได้สร้างความสุขเสมอไป

กลัวการผูกมัด (Fear of Commitment) เป็นความรู้สึกทางอารมณ์ประเภทหนึ่งที่สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะเป็นความรู้กลัวเกี่ยวกับการผูกมัดและความสัมพันธ์ แม้จะไม่ได้จัดว่าเป็นโรค แต่ความรู้สึกนี้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์และสภาพจิตใจได้

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับสถานการณ์อื่นในชีวิตได้ด้วย โดยมักเกิดในช่วงเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ความกดดัน การปรับตัวไปจนถึงการตัดสินใจ ซึ่งบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับความรู้สึกกลัวการผูกมัดมากขึ้น

กลัวการผูกมัด เมื่อความสัมพันธ์อาจไม่ได้สร้างความสุขเสมอไป

แบบไหนที่เรียกว่ากลัวการผูกมัด

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดในภาพรวมอาจหมายถึง ภาวะที่คนเราเกิดความกลัวหรือหวั่นวิตกต่อการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ ไปจนถึงพฤติกรรมและความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงการผูกมัดหรือสิ่งจะตามมาหลังการผูกมัด 

โดยความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละคนต่อแต่ละสถานการณ์อาจแตกต่างกัน ซึ่งตัวอย่างของสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวการผูกมัด เช่น การแต่งงาน การลาออกจากงาน การเปลี่ยนงานใหม่ การย้ายที่อยู่ และการเลือกมหาวิทยาลัย เป็นต้น

สัญญาณของภาวะกลัวการผูกมัดอาจสังเกตได้จาก

  • เลี่ยงใช้คำที่แสดงถึงความมั่นใจ ความแน่นอน หรือคำที่มีนัยยะพิเศษและความหมายสำคัญ อย่างคำว่ารัก แน่นอน หรือประโยคที่พูดถึงคำสัญญาและคำสาบาน
  • ใช้คำที่ถ่ายทอดออกมาจากมุมของตนเอง อย่างฉันหรือผม แทนที่จะใช้คำว่าเราในประโยค รวมทั้งใช้คำที่อาจแสดงความไม่แน่ใจ อย่างขอคิดดูก่อน เอาไว้ก่อน หรืออื่น ๆ
  • รู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ และไม่เต็มใจเมื่อต้องพูดถึงอนาคตหรือสถานการณ์ที่สื่อถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ และพยายามหลีกเลี่ยงหรือไม่ตอบสนองต่อเรื่องหรือเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
  • คนที่มีแนวโน้มของความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจเคยมีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดมาก่อน หรืออาจเคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากความสัมพันธ์ในอดีต

อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการประเมินเท่านั้น การที่คนรักหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นกลัวการผูกมัดเสมอไป

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดส่งผลต่อชีวิตยังไง

ในมุมของความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจนำไปสู่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน เช่น คนที่กำลังดูใจกันอยู่ แต่ยังไม่ได้เป็นแฟน ซึ่งฝ่ายหนึ่งอาจต้องการสถานะที่แน่ชัด แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึกลังเล ไม่พร้อม หรือเกิดความไม่แน่นอนบางอย่าง โดยภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดการทะเลาะ ไม่เข้าใจกัน และเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้

ในขณะเดียวกันคนที่มีความรู้สึกกลัวการผูกมัดก็ย่อมรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง ต่อคนอื่น รู้สึกกดดัน เครียด วิตกกังวล และไม่มีความสุข ในระยะยาวก็อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้

สำหรับสถานการณ์อื่น ๆ ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจตัดโอกาสและเป้าหมายในชีวิต เพราะด้วยความกลัวและความลังเลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาหรือสถานการณ์บางอย่างจนเสียโอกาสได้

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกกลัวการผูกมัด

พฤติกรรมที่เกิดจากความรู้สึกกลัวการผูกมัด อย่างความสนใจที่น้อยลง คำพูดที่ดูไม่แน่นอน การขอเลื่อนนัด และอื่น ๆ นั้นไม่ได้เป็นผลจากการหมดรัก ความเกลียดชัง หรือความไม่จริงใจ แต่อาจเป็นผลมาจากความรู้สึกกลัวที่แม้แต่เจ้าตัวยังรับมือได้ยาก

แม้ว่าตัวของคนที่กลัวการผูกมัดจะเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไป รวมทั้งยังมีความสุขและรู้สึกดีต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบัน แต่คนเหล่านั้นยังอาจต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจในปัญหา ความต้องการ และความรู้สึกของตัวเอง 

ความสัมพันธ์ที่กำลังจะพัฒนาไปลึกซึ้งมากขึ้น อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอดรู้สึกหวั่นใจไม่ได้ เพราะกลัวการถูกทิ้ง ถูกหลอก หรือถูกทรยศ หรือในสถานการณ์ของนักเรียนต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็อาจกลัวปัญหาเรื่องการปรับตัว การเรียน ค่าใช้จ่าย และปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจนแสดงพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่สนใจ เพิกเฉยต่อการเรียนต่อ ทั้งที่ตัวเองก็รู้ถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดจึงเป็นภาวะความรู้สึกที่ยากต่อการรับมือและอาจต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวและสร้างความเข้าใจ

สาเหตุของความรู้สึกกลัวการผูกมัด

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของความรู้สึกนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อความสัมพันธ์ เช่น

ประสบการณ์และปัญหาครอบครัวในอดีต

ประสบการณ์และความทรงจำที่เคยเผชิญมาตั้งแต่อดีตอาจเป็นรอยแผลในใจที่ติดตัวมา เช่น เคยถูกทอดทิ้งจากคนรัก เคยถูกหลอก เคยพบความสัมพันธ์ที่ไม่จริงใจ เคยล้มเหลวจากการตัดสินใจพลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัญหาครอบครัวในวัยเด็ก อย่างปัญหาความสัมพันธ์ของพ่อแม่ และการหย่าร้างอาจส่งผลให้เกิดความกลัวมุมมองชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตโดยไม่รู้ตัว

การเลี้ยงดูในวัยเด็ก

ในต่างประเทศมีการพูดถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ (Attachment Theory) โดยผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ชี้ว่าการเลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงทารกอาจส่งผลต่อนิสัยและมุมมองต่อความสัมพันธ์ตอนโตได้ 

โดยผู้ที่ศึกษาได้ยกตัวอย่างว่า หากผู้ดูแลอย่างพ่อแม่ตอบสนองต่อความต้องการของทารกช้ากว่าที่ควรจะเป็น เมื่อโตขึ้นเด็กคนนั้นอาจมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาตัวเองและไม่ยึดติดกับความสัมพันธ์จากคนอื่น

ในอีกด้านหนึ่ง หากเด็กถูกเอาใจหรือเลี้ยงดูด้วยความใกล้ชิดก็อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นจะรู้สึกยินดีต่อการสานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทฤษฎีที่คนบางส่วนเชื่อ ซึ่งต้องมีการศึกษาให้ลึกซึ้งในหลากหลายมุมมากขึ้น

ปัญหาความมั่นใจในตัวเอง

ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อย่างรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสม ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่คู่ควร ความสามารถไม่ถึง หรือรู้สึกว่าเรื่องที่จะทำนั้นเกินขอบเขตของตนเอง อาจก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวการผูกมัดได้ เมื่อคนนั้น ๆ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น

ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ (Personal Disorder)

ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ อย่างภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) ความบกพร่องทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (Schizotypal Personality Disorder) และความบกพร่องทางบุคลิกภาพชนิดแยกตัว (Schizoid Personality Disorders) อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกลัวต่อความสัมพันธ์อย่างรุนแรง หรืออาจทำให้ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

รับมืออย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความรู้สึกกลัวการผูกมัด

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจรับมือและแก้ไขได้หลายวิธีดังนี้

1. สำรวจตัวเองและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น

คนที่กลัวการผูกมัดควรเข้าใจในสถานการณ์และความกลัวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยอมรับกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือกับความรู้สึกกลัวการผูกมัด ในขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ควรทำความเข้าใจในตัวของคนที่มีภาวะนี้ด้วย โดยอาจเริ่มต้นพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกันอย่างจริงใจ และร่วมหาทางแก้ไปด้วยกัน

2. สร้างความมั่นใจให้กันและกัน

ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจก่อให้เกิดความหวั่นใจ ความกลัวที่จะถูกทอดทิ้ง และความกลัวที่จะต้องเสียใจ ซึ่งหากต่างคนต่างเข้าใจถึงปัญหาแล้ว ควรสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กันและกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ และลดความกลัวต่อความหวาดวิตกดังกล่าว

3. ให้เวลา

คนที่มีคนใกล้ตัวกลัวการผูกมัด ควรให้เวลาคนเหล่านั้นได้ทำความเข้าใจตัวเองและรู้สึกพร้อมที่พัฒนาความสัมพันธ์จริง ๆ แต่ไม่ควรคาดคั้น บีบบังคับ หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดเพราะกลัวความสัมพันธ์ นั่นอาจทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงได้ ทางออกที่ดีคือควรเคารพขอบเขตของกันและกัน พร้อมให้เวลาเป็นตัวช่วยให้สถานการณ์และความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ดีขึ้น

4. ทำความคุ้นเคยกับความผูกพัน

คนที่กลัวการผูกมัดอาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอดีต แต่เพื่อเป็นการไม่ปิดโอกาสในการได้พบความสัมพันธ์ที่ดี การค่อย ๆ เรียนรู้ความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจช่วยได้

5. พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ

ผลเสียจากความรู้สึกกลัวการผูกมัดที่ต่อเนื่องอาจนำไปสู่การเกิดภาวะความกลัวที่รุนแรงขึ้น และส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ หากรู้สึกว่าความกลัวและความหวาดวิตกที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต การนอนหลับ และการเข้าสังคม ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรับมือ

เราอาจไม่สามารถระบุระยะเวลาหรือวิธีแน่นอนที่จะช่วยบรรเทาความกลัวและหวั่นวิตกจากความรู้สึกกลัวการผูกมัดได้ แต่การสำรวจตัวเอง การเอาใจใส่ และการเปิดใจพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา อาจช่วยหาสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นจนนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนที่กลัวการผูกมัดควรทำ เพราะความรู้สึกเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อความสัมพันธ์ แต่ยังส่งผลต่อโอกาสในชีวิต และคุณภาพของชีวิตด้วย