กระดูกหักกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

กระดูกหัก เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับอุบัติเหตุ หกล้ม หรือถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างรุนแรง ทำให้กระดูกแตกออกจากกันเป็นหลายชิ้น โดยบริเวณที่กระดูกมักจะหักได้แก่ กระดูกข้อมือ ไหปลาร้าและสะโพก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่อาการนี้จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ผู้ที่มีอาการกระดูกหักจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยด่วน แม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็อาจสร้างความเจ็บปวดได้ไม่น้อย ดังนั้นการสังเกตเห็นถึงอาการอย่างรวดเร็วและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างเหมาะสมก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล อีกทั้งป้องกันอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม

At,First,Aid,Training,Classroom,,Students,Are,Trying,To,Splint

กระดูกหัก อาการเป็นอย่างไร

ผู้ที่กระดูกหักจะมีอาการดังนี้

  • บวม กดเจ็บหรือมีรอยช้ำ
  • สังเกตเห็นความผิดรูปของกระดูกในบริเวณดังกล่าว เช่น กระดูกขึ้นเป็นตุ่ม งอหรือบิด เป็นต้น
  • อาการเจ็บจะรุนแรงขึ้นเมื่อขยับหรือถูกกดทับ
  • ไม่สามารถออกแรงหรือใช้งานอวัยวะบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกหักไม่รุนแรงอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้น แต่ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจมีบาดแผลเปิด เนื่องจากกระดูกหักจนทิ่มทะลุเนื้อเยื่อและผิวหนังออกมา ซึ่งกรณีที่กระดูกหักอย่างรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันกับกรณีที่ไม่มีบาดแผลเปิด

การปฐมพยาบาลและการรักษาเมื่อกระดูกหัก

หากเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกหักหรือสงสัยว่ากระดูกหักเกิดขึ้น ผู้ป่วยหรือผู้ให้ความช่วยเหลือสามารถปฐมพยาบาลก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ถอดเสื้อผ้าในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและไม่ขยับผู้ป่วย โดยเฉพาะเมื่อสงสัยว่าอาจเกิดอาการกระดูกหักหรือกระดูกแตกในบริเวณกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง ซี่โครง กระดูกเชิงกรานหรือขาส่วนบน ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องขยับเพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงมากขึ้นหรืออยู่ในภาวะอันตราย
  • หากมีบาดแผลควรห้ามเลือดและปิดบาดแผลด้วยอุปกรณ์ที่สะอาด
  • ประคบน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม
  • ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประคองหรือดามอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บชั่วคราว เช่น การใช้หมอนรองขาหรือแขนที่กระดูกหัก ใช้ผ้าคล้องแขนพยุงกระดูกแขนหรือไหปลาร้า หรือใช้แผ่นไม้ กระดาษหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารม้วนจนแข็งมาใช้ดามกระดูกชั่วคราวแทนเฝือกได้เช่นกัน
  • หากอยู่ในอาการตกใจ เป็นลม หายใจเร็วหรือหายใจหอบ ควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบและจับขายกขึ้นสูงเพื่อให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายหากต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการนวดในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอาจทำให้อาการกระดูกหักรุนแรงขึ้น ยกเว้นในกรณีที่นักกายภาพบำบัดจะนวดเพื่อช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น

ในกรณีของผู้ป่วยที่กระดูกหักและมีบาดแผลเปิด เศษกระดูกอาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเหลือดบริเวณใกล้เคียงและจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาในห้องผ่าตัดโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้แพทย์จำเป็นต้องทำความสะอาดแผลและจ่ายยาฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นอกจากนี้หากผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจหรือไม่ตอบสนอง เจ็บอย่างรุนแรงเมื่อสัมผัสหรือขยับเพียงเบา ๆ มีเลือดออกมาก กระดูกหรือข้อต่ออยู่ในลักษณะที่ผิดรูป ชาหรือเป็นสีม่วงคล้ำในบริเวณปลายนิ้ว หรือคาดว่ากระดูกหักบริเวณศีรษะ คอ ซี่โครง หรือหลังที่อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บอย่างรุนแรงในบริเวณหัว หน้าอก สันหลังหรือเชิงกราน ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

กระดูกหักกับวิธีป้องกันที่เหมาะสม

กระดูกหักสามารถป้องกันได้ด้วยการระมัดระวังเพื่อเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บของต่าง ๆ บนพื้นหรือบนบันไดให้เข้าที่ สวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องมีการปะทะร่างกายหรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างการเล่นกีฬา การออกกำลังกายหรือการขับขี่จักรยานยนต์ กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อและช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการปฐมพยาบาลแล้ว ผู้ที่กระดูกหักก็ยังจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสมจากแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี หากเกิดความกังวลเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูกหรือความเสี่ยงของต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แพทย์ตรวจความแข็งแรงของกระดูกหรือจ่ายยาที่จะช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกได้อย่างเหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละบุคคล