Phantom Pain

Phantom Pain หรืออาการปวดหลอน คืออาการปวดที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียหรือตัดอวัยวะนั้นออกจากร่างกายไปแล้ว โดยผู้ป่วยบางคนยังรู้สึกว่าอวัยวะที่ถูกตัดออกไปคงอยู่และมีความรู้สึกเจ็บปวดในส่วนดังกล่าว ส่วนมากมักเกิดบริเวณแขนหรือขา นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลอนตามแนวเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง กล้ามเนื้อเกร็งตัว รู้สึกคล้ายไฟช็อตหรือปวดคล้ายเข็มทิ่ม หรืออาจรู้สึกแสบร้อนร่วมด้วยหากมีอาการรุนแรง 

ทางการแพทย์เคยเชื่อว่า Phantom Pain เป็นความผิดปกติทางจิตวิทยา แต่ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากไขสันหลังและสมอง โดยระดับความถี่ในการเกิดอาการจะลดน้อยลงแต่จะไม่หายไป อีกทั้งอาการนี้อาจเกิดขึ้นกับการตัดอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ยกเว้นรายที่มีอาการรุนแรงหรือกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอาการดังกล่าว 

อาการของ Phantom Pain

อาการปวดหลอนจะเกิดขึ้นหลังการสูญเสียอวัยวะได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจใช้เวลาหลายเดือนถึงจะมีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณที่ถูกตัดอวัยวะออกไป พบได้บ่อยที่อวัยวะส่วนปลาย อย่างแขนและขา แต่ในบางรายอาจรู้สึกว่าอวัยวะที่สูญเสียยังคงอยู่หลังการผ่าตัด รู้สึกว่าอวัยวะหดเข้าหาโคน รวมถึงรู้สึกว่าอวัยวะยืดยาว ใหญ่ขึ้น หรือเล็กลง

นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดแปลบ ปวดบิด เป็นตะคริว เกิดเหน็บชาบริเวณแผล โดยในระยะแรกจะมีการปวดคล้ายกับถูกตีหรือมีดกรีด ก่อนจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณอวัยวะที่ถูกตัด บางครั้งอาจรู้สึกชาเนื่องจากเลือดมาหล่อเลี้ยงอวัยวะลดลง

สาเหตุของ Phantom Pain

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของอาการ Phantom Pain ได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดได้จากสาเหตุ ดังนี้

  • สมองส่งกระแสผ่านความรู้สึกบริเวณที่เกิดบาดแผลหรือส่วนที่มีการผ่าตัดไปยังบริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ในกรณีที่สูญเสียมือแล้วเกิดการส่งผ่านกระแสความรู้สึกไปยังบริเวณไหล่ เมื่อไหล่ถูกสัมผัส ทำให้มีอาการปวดหลอนเกิดขึ้นบริเวณมือ
  • เส้นประสาทได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด จึงไปขัดขวางการส่งผ่านกระแสความรู้สึกในอวัยวะดังกล่าวหรืออาจทำให้เส้นประสาทในบริเวณนั้นถูกกระตุ้นมากกว่าปกติ
  • ปลายประสาทที่เชื่อมต่อกับประสาทสันหลังได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานร่วมกับไขสันหลัง ส่งผลให้ให้เซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกับโครงสร้างของประสาทสันหลังมีการทำงานและไวต่อความรู้สึกมากขึ้น
  • เนื้อเยื่อเกิดเป็นแผลเป็นหรือมีอาการบาดเจ็บเนื่องมาจากการตัดอวัยวะ

การวินิจฉัย Phantom Pain

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีเฉพาะในการวินิจฉัยอาการปวดหลอน โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและประวัติการรักษาโรคของผู้ป่วย เช่น การเกิดบาดแผลหรือเคยเข้ารับการผ่าตัดในช่วงก่อนเกิดอาการ การใส่อวัยวะเทียม เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรแจ้งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาอาการได้อย่างถูกต้อง

การรักษา Phantom Pain

เนื่องจาก Phantom Pain เป็นอาการที่ยากต่อการรักษา แพทย์จะเน้นการรักษาไปที่อาการที่เกิดขึ้นพร้อม กับอาการปวดหลอนแทนตามวิธีต่อไปนี้

การใช้ยา

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาอาการปวดหลอนโดยเฉพาะ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของระบบประสาทหรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวดหลอน เช่น ยาแก้ปวดทั่วไป ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากันชัก ยากลุ่ม NMDA Receptor Antagonist ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) อย่างโคเดอีนและมอร์ฟีน เป็นต้น การใช้ยาเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และผู้ป่วยควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การรักษาทางการแพทย์

ผู้ป่วยอาจต้องรักษาทางการแพทย์ควบคู่กับการใช้ยาด้วย เช่น 

  • การบำบัดฟื้นฟูด้วยกระจกเงาสะท้อน (Mirror Box) เป็นการใช้กระจกสะท้อนให้ผู้ป่วยเห็นคล้ายว่าอวัยวะนั้นยังอยู่ จากนั้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายในสัดส่วนที่เท่ากันของอวัยวะทั้งสองข้างในระหว่างที่มองภาพสะท้อนของอวัยวะข้างที่สมบูรณ์ไปพร้อมกับการจินตนาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การเคลื่อนไหวอวัยวะข้างที่ถูกตัดให้กับผู้ป่วย 
  • การฝังเข็ม เป็นวิธีช่วยรักษาอาการเรื้อรังบางชนิด โดยแพทย์จะทำการทิ่มเข็มลงไปบนผิวหนังในจุดที่กำหนด 
  • การกระตุ้นไขสันหลัง เป็นการติดเครื่องมือเพื่อช่วยระงับอาการปวด โดยแพทย์จะฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กบริเวณแนวไขสันหลัง เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องมายังบริเวณไขสันหลัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะ เป็นการใช้ขดลวดวางบริเวณตรงข้ามกับหน้าผาก เพื่อให้คลื่นไฟฟ้าส่งผ่านขดลวดไปกระตุ้นระบบประสาทของสมองในส่วนที่ต้องการ
  • การผ่าตัดสมอง จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยยา หรือวิธีทางการแพทย์อื่นไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น

การรักษาตัวที่บ้าน

นอกเหนือจากการรักษาในข้างต้น การทำกิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากการสูญเสียอวัยวะ เพื่อช่วยการบำบัดทางด้านจิตใจ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เข้าสังคมหรือเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ที่มีความสนใจคล้ายกัน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Phantom Pain

Phantom Pain อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เครียด หรือวิตกกังวล หากผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเกิดร่วมกับอาการปวดหลอน ผู้ป่วยอาจมีความเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างการเสพติดการใช้ยาแก้ปวด

การป้องกัน Phantom Pain

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ Phantom Pain ผู้ที่ต้องเข้ารับการตัดอวัยวะ ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้งานอวัยวะที่ถูกตัด ตรวจบาดแผลอยู่เสมอเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังหารผ่าตัด หากแผลผ่าตัดอยู่ในสภาพดี ควรนวดเบา ๆ ออกกำลังกายกล้ามเนื้ออยู่เสมอ พันแผลด้วยผ้ายืดเพื่อให้อวัยวะดังกล่าวเข้ารูป ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ยาชาบริเวณไขสันหลังก่อนการตัดอวัยวะอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการปวดแผลและป้องกันอาการปวดหลอน