Mupirocin (มิวพิโรซิน)

Mupirocin (มิวพิโรซิน)

Mupirocin (มิวพิโรซิน) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดใช้เฉพาะที่ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคพุพอง ผิวหนังติดเชื้อทุติยภูมิ และการติดเชื้อในโพรงจมูก หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Mupirocin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Mupirocin

เกี่ยวกับยา Mupirocin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาใช้เฉพาะที่

คำเตือนในการใช้ยา Mupirocin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีการติดเชื้อเป็นบริเวณกว้าง
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
  • ควรปรึกษาแพทย์ หากผู้ป่วยต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ กับผิวหนังในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ห้ามทายานี้ใกล้กับบริเวณที่ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือด หากมีความจำเป็น ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผิวหนังบริเวณที่เกิดความเสียหายหรือเป็นแผลเปิด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรและใช้ยานี้ที่บริเวณเต้านมหรือหัวนม ให้ทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวก่อนให้นมบุตร

ปริมาณการใช้ยา Mupirocin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาผิวหนังติดเชื้อซ้ำซ้อน

  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาชนิดครีมความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ทาลงบนผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 10 วัน และเข้ารับการประเมินอาการอีกครั้ง หากไม่มีการตอบสนองต่อยาหลังจากใช้ยาเป็นเวลา 3-5 วัน
  • เด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป ใช้ยาในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

รักษาโรคพุพอง

  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาขี้ผึ้งความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ทาลงบริเวณที่มีการติดเชื้อ วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน และเข้ารับการประเมินอาการอีกครั้ง หากไม่มีการตอบสนองต่อยาหลังจากใช้ยาเป็นเวลา 3-5 วัน
  • เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ใช้ยาในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

กำจัดเชื้อสแตฟิโลค็อกคิ ออเรียสในจมูก

  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาขี้ผึึ้งความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ทาในรูจมูก วันละ 2-3 ครั้ง ใช้ยาติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน หลังจากที่ใช้ยาแล้วให้กดบริเวณด้านข้างจมูกพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และนวดเบา ๆ ประมาณ 1 นาที เพื่อให้ยากระจายตัวเข้าไปในรูจมูก
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้ยาในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

การใช้ยา Mupirocin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ใช้ยานี้กับผิวหนังเท่านั้น ห้ามรับประทาน และระวังอย่าให้ยาถูกตา จมูก และปาก หากยาถูกบริเวณดังกล่าว ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใช้ยา
  • ทำความสะอาดบริเวณที่มีการติดเชื้อให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนใช้ยา
  • ใช้สำลีหรือผ้าก๊อซสำหรับทำความสะอาดแผลในการแต้มยาลงบนบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ หลังจากนั้นอาจปิดผ้าพันแผลบริเวณดังกล่าวไว้
  • ควรระวังไม่ให้ลืมใช้ยา เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • ใช้ยาติดต่อกันจนครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ห้ามแช่เย็นหรือแช่แข็ง เก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Mupirocin

การใช้ยา Mupirocin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ แสบ คัน และระคายเคือง หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Mupirocin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดังหวีด มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • เกิดการระคายเคืองบริเวณที่ใช้ยา
  • มีอาการคันอย่างรุนแรง
  • เวียนศีรษะ
  • หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile-Associated Diarrhea: CDAD) ซึ่งเกิดจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป โดยอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ถ่ายเหลวมาก ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นเลือด

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน