แผลพุพอง

ความหมาย แผลพุพอง

แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง โดยจะพบเป็นผื่นแดง คัน กลายเป็นตุ่มหนองแตกง่าย ตกสะเก็ด พบที่บริเวณใบหน้า รอบจมูก ปาก มือและเท้า สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากการสัมผัสหรือเกาที่บริเวณแผล และสามารถแพร่กระจ่ายสู่คนอื่นได้จากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนู รวมถึงของเล่น เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะพบได้มากในเด็กและทารก

แผลพุพอง

อาการของแผลพุพอง

อาการของแผลพุพองสามารถเกิดขึ้นได้ 3 แบบ คือ แบบมีตุ่มน้ำ แบบไม่มีตุ่มน้ำ และแบบรุนแรงโดยมีลักษณะและอาการดังต่อไปนี้

  • แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำ (Bullous Impetigo) มีตุ่มน้ำพองใสขนาด 1-2 เซนติเมตรขึ้นตามร่างกาย บริเวณลำตัวจนถึงลำคอ หรือที่แขนและขาทั้ง 2 ข้าง อาจแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก่อนจะแตกออกและกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง มีอาการเจ็บที่บริเวณแผลและคันในบริเวณรอบ ๆ ควรเลี่ยงสัมผัสหรือเกาเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย อาจมีไข้ และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำสามารถรักษาให้หายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น
  • แผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-Bullous Impetigo) มีตุ่มหรือผื่นแดง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า และกลายเป็นแผล โดยปกติจะขึ้นที่รอบจมูกและปาก อาจขึ้นที่ส่วนอื่นของใบหน้า หรือแขนและขาได้ จะไม่รู้สึกเจ็บที่บริเวณแผลแต่จะมีอาการคัน แผลอาจกระจายเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว และทิ้งสะเก็ดหนาสีเหลือง หลังจากสะเก็ดหลุดแล้วจะทิ้งรอยแดง ปกติจะใช้เวลาประมาณไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์รอยแดงก็จะจางหายไป อาจมีไข้สูงและมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ควรเลี่ยงการสัมผัสหรือเกาเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และบุคคลอื่น
  • แผลพุพองแบบรุนแรง (Ecthyma) เป็นการติดเชื้อที่ชั้นหนังแท้ อาการเบื้องต้นจะมีลักษณะคล้ายแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำแต่ลึกกว่า มีสะเก็ดสีเหลืองและขอบแผลชัด มักพบที่บริเวณขาหรือเท้าของเด็ก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

แผลพุพองส่วนมากจะมีอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่บางครั้งหากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ หากมีข้อสงสัยหรือกังวลว่าบุตรหลานจะเป็นแผลพุพอง ควรไปพบแพทย์ การวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษา ยิ่งรู้ไวก็รักษาได้ไว

สาเหตุของการเกิดแผลพุพอง

แผลพุพองสามารถเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอดคัส พัยโอจีเนส (Streptococcus Pyogenes) เวลาที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังเมื่อมีการระคายเคือง มีบาดแผล โดนของมีคมบาด แมลงกัด ได้รับบาดเจ็บ หรือมีปัญหาผิวอื่น ๆ เช่น กลาก หลังได้รับเชื้อ 4-10 วัน แบคทีเรียจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจากการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อหรือใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู แก้วน้ำ หรือของเล่น

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลพุพองได้มากที่สุด ได้แก่

  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2-6 ปี
  • เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือในโรงเรียน
  • ผู้ที่มีการระคายเคืองผิวหรือมีโรคผิวหนัง
  • ผู้ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
  • ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด หรือร้อนชื้น ซึ่งจะเป็นที่ที่แบคทีเรียสามารถแพร่กระจายได้ง่าย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง อาจมาจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็งจากการทำคีโม

การวินิจฉัยแผลพุพอง

การวินิจฉัยแผลพุพอง สามารถทำได้โดยแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ เกี่ยวกับที่มาของการเกิดแผล การบาดเจ็บครั้งล่าสุด หรือการสัมผัสโรค จากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย อาจรวมถึงการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือของเหลวที่บริเวณแผลส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาว่ายาปฏิชีวนะตัวไหนเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจมีการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป

การดูแลรักษาแผลพุพอง

การดูแลรักษาแผลพุพองทั่วไป โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าอาการไม่รุนแรง แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับแนะนำให้ผู้ป่วยพัฒนาและเสริมสร้างสุขอนามัยของตนให้ดีขึ้น เพื่อรักษาและป้องกันการแพร่ของเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

การใช้ยาปฏิชีวนะ

  • ยาปฏิชีวนะแบบครีม ใช้สำหรับผู้ที่มีแผลพุพองในระดับที่ไม่รุนแรงและเป็นไม่มาก ก่อนทายาควรล้างมือและทำความสะอาดในบริเวณที่เป็นแผล ทาเป็นประจำ 3-4 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องนาน 1 สัปดาห์ โดยสวมถุงมือหรือล้างมือให้สะอาดหลังทายา เพื่อเป็นการลดการกระจายของเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมอาจมีผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ระคายเคือง แดงหรือคัน ในบริเวณที่ทาครีม หลังใช้ยา 7 วัน ถ้าไม่พบอาการที่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
  • ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน ทั้งในรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการแผลพุพองรุนแรงและกระจายเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมแล้วอาการไม่ดีขึ้น รับประทาน 2-4 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องนาน 1 สัปดาห์ ควรรับประทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น รู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น หลังใช้ยา 7 วัน ถ้าไม่พบอาการที่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

การรักษาดูแลที่บ้าน

  • ทำความสะอาดแผลบริเวณที่มีการติดเชื้อให้สะอาด โดยใช้น้ำสะอาดกับสบู่ที่มีความอ่อนโยน หรือมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย ไม่ควรขัดที่บริเวณแผลเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
  • แช่ผิวที่ตกสะเก็ดจากแผลพุพองในน้ำสบู่หรือในน้ำสะอาดที่ผสมน้ำส้มสายชู โดยมีสัดส่วนของน้ำส้มสายชู 1 ออนซ์ต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร จะช่วยทำให้สะเก็ดของแผลอ่อนตัวและหลุดออกได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่มีแผลพุพอง และไม่ควรเกาเพื่อลดการแพร่กระจาย และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสโดนผิวหนังบริเวณที่มีแผลพุพอง

การรักษารูปแบบอื่น

  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรง กระจายเป็นบริเวณกว้าง หรือไม่ตอบสนองต่อยาหรือการรักษาในรูปแบบอื่น แพทย์จะทำเก็บตัวอย่างของเหลวหรือชิ้นเนื้อที่บริเวณแผลเพื่อนำไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการ และปรับยาปฏิชีวนะตามความรุนแรง หรือตามเชื้อที่ตรวจพบ
  • ผู้ป่วยที่เป็นแผลพุพองมากกว่า 1 ครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ยังคงอาศัยอยู่ในจมูก ปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดโรคใด ๆ แต่บางครั้งสามารถแพร่กระจายไปที่ใบหน้า ทำให้เกิดแผลพุพองกลับมาอีกครั้ง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเชื้อในจมูกไปตรวจ (Swab Test) และสั่งยาปฏิชีวนะแบบครีมมาให้ทา

ภาวะแทรกซ้อนของแผลพุพอง

แผลพุพองทั่วไปจะมีอาการที่ไม่รุนแรง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ดูแลรักษาไม่ดี หรือไม่รีบเข้ารับการรักษา สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เกิดการติดเชื้อที่ชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแดง บวม ตึง เจ็บ แสบร้อนที่ผิวหนัง หรืออาเจียนและมีไข้สูงร่วมด้วย
  • ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ มีไข้สูง ผื่นคันสีแดงหรือชมพูที่บริเวณหน้าอก ท้อง และกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หูและคอ
  • สะเก็ดเงิน (Guttate Psoriasis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวแห้งแดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเทาหรือสีเงิน
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicaemia) ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อาจสูงขึ้นหรือต่ำลง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว มีอาการสั่น ถ้าเข้ารับการรักษาไม่ทัน อาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้
  • กลุ่มอาการผิวหนังลอกทั้งตัว (Staphylococcal Scalded Skin Syndrome) เป็นอาการขั้นรุนแรงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีลักษณะคล้ายผิวที่โดนน้ำร้อนลวก ส่วนมากจะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่
  • ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) เชื้ออาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งอาจพบว่ามีการอักเสบของหัวใจตามมา
  • ไตอักเสบ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปทำลายไต ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดฝอยที่ไต
  • รอยแผลเป็น แต่พบได้ยาก หากไม่แกะหรือเกาในบริเวณที่เป็นแผล

การป้องกันการเกิดแผลพุพอง

แผลพุพองสามารถป้องกันได้โดยเริ่มต้นจากการมีสุขอนามัยที่ดี และสำหรับผู้ที่เป็นแผลพุพอง สามารถป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ แล้วเช็ดมือด้วยผ้าที่สะอาด
  • อาบน้ำให้สะอาดสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง
  • ทำความสะอาดแผลทันทีด้วยสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและน้ำสะอาด จากนั้นทายา และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาหรือผ้าพันแผลให้เรียบร้อย
  • ทำความสะอาดบ้านด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ซักผ้าด้วยน้ำร้อน จะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของแผลพุพองได้
  • หมั่นตัดเล็บเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยไว้ให้ยาว เพื่อป้องกันการเกาจนแผลเกิดการอักเสบมากขึ้น
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ควรให้เด็กที่เป็นแผลพุพองอยู่แต่ในบ้านจนกว่าจะหาย ผู้ปกครองไม่ควรพาไปในที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น