Mirtazapine (เมอร์เทซาปีน)

Mirtazapine (เมอร์เทซาปีน)

Mirtazapine (เมอร์เทซาปีน) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์ของยายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่ายาอาจส่งผลต่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยฟื้นฟูสมดุลสารเคมีในสมอง นำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

1586 Resized Mirtazapine

ยา Mirtazapine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Mirtazapine

กลุ่มยา ยารักษาโรคซึมเศร้า
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Mirtazapine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากกำลังใช้ยาทริปโตเฟน หรือยารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่มเอมเอโอไอ (MAOI: Monoamine Oxidase Inhibitor) ในช่วง 14 วันก่อนหน้า เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด เซเลกิลีน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนใช้ยานี้ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ได้ เช่น ยาไซเมทิดีน ยาไดอะซีแพม และยาคีโตโคนาโซล เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากป่วยเป็นโรคตับหรือโรคไต ต้อหินชนิดมุมปิด โรคไบโพลาร์ มีอาการชักหรือเป็นโรคลมชัก ความดันต่ำ วิงเวียน มีระดับไขมันคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูง มีปัญหาในการปัสสาวะ ความดันลูกตาสูง มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง มีประวัติใช้ยาเสพติด หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
  • หากพบว่าเกิดอาการดีซ่านหรือตัวเหลืองตาเหลือง ให้หยุดใช้ยาทันที
  • ผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยานี้ครั้งแรกอาจพบว่ายาทำให้มีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการในเบื้องต้นระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ยานี้ โดยครอบครัวหรือผู้ดูแลต้องคอยเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร กำลังให้นมบุตร หรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางเมตาบอลิซึมของร่างกาย ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Mirtazapine ชนิดเม็ดแตกตัวเร็วในช่องปาก เพราะอาจมีส่วนประกอบของฟีนิลอะลานีน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
  • การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ และไม่อนุญาตให้ใช้ยานี้ในเด็ก
  • ผู้ป่วยต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์อาการจึงจะดีขึ้น แต่หากใช้ยานานเกิน 4 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้ระมัดระวังในการขับรถหรือทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว เพราะยาอาจทำให้ความคิดและการตอบสนองของร่างกายบกพร่อง

ปริมาณการใช้ยา Mirtazapine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 15 มิลลิกรัม/วัน อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาตามการตอบสนองต่อยา และอาจปรับเปลี่ยนปริมาณยาโดยใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ปริมาณยาที่ให้ผลทางการรักษาได้ดี คือ 15-45 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานก่อนนอน หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง

การใช้ยา Mirtazapine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • สามารถรับประทานยา Mirtazapine พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ โดยปกติให้รับประทานยาชนิดเม็ดพร้อมน้ำเปล่า ส่วนยาชนิดเม็ดแตกตัวเร็วในช่องปากต้องปล่อยให้ยาค่อย ๆ ละลายในปาก ห้ามเคี้ยวหรือกลืนยา และอาจดื่มน้ำตามเพื่อช่วยในการกลืนยา
  • ห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยา
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Mirtazapine

การใช้ยา Mirtazapine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม ฝันแปลก การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป อยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ปากแห้ง และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งหากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Mirtazapine ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม เป็นต้น
  • ต้องการนอนหลับน้อยลง มีความคิดที่เร็วมากจนพูดตามไม่ทัน มีพฤติกรรมผิดปกติ มีความสุขหรือเศร้าเกินปกติ พูดมากกว่าปกติ
  • มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพเหมือนมองผ่านท่อ ตาบวม ปวดตา มองเห็นรัศมีรอบแสงไฟ
  • ความอยากอาหารหรือน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง
  • วิงเวียน คล้ายจะหมดสติ
  • รู้สึกไม่สบายหรืออ่อนเพลียกะทันหัน มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ มีแผลในปาก เหงือกบวมหรือแดง กลืนลำบาก
  • มีผ่ื่นคัน มีแผลพุพอง มีน้ำเหลืองไหล เจ็บฝ่ามือหรือฝ่าเท้าอย่างรุนแรง
  • ระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ อาจมีอาการบางอย่าง เช่น สับสน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด อ่อนเพลียรุนแรง เสียการทรงตัว อาเจียน และรู้สึกไม่มั่นคง เป็นต้น
  • มีปฏิกิริยาของระบบประสาทอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น กล้ามเนื้อตึงมาก มีไข้สูง เหงื่อออก สับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น รู้สึกคล้ายจะเป็นลม เป็นต้น
  • กลุ่มอาการระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจมีอาการ เช่น หลอน กระสับกระส่าย มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว การตอบสนองของร่างกายไวเกิน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เสียการทรงตัว หน้ามืด เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน