Miconazole (ไมโคนาโซล)

Miconazole (ไมโคนาโซล)

Miconazole (ไมโคนาโซล) เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและรักษาการติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง อย่างน้ำกัดเท้า สังคัง กลาก และเกลื้อน รวมถึงรักษาการติดเชื้อจากยีสต์ในช่องคลอด หรืออาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย  

เกี่ยวกับยา Miconazole

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole Antifungals)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา และรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังหรือช่องคลอด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาทาเฉพาะที่ ยาเหน็บช่องคลอด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้
เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์
และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

1950 Miconazole rs

คำเตือนในการใช้ยา Miconazole

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซลชนิดอื่น ๆ เช่น ยาโคลไตรมาโซล ยาอีโคนาโซล หรือยาคีโตนาโซล เป็นต้น เพราะยาบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีโรคประจำตัว รวมถึงใช้ยา วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างยาวาร์ฟาริน ยาคูมาดิน และยาแจนโตเวน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Miconazole หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน อย่างการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ และเกิดการติดเชื้อจากยีสต์อยู่บ่อยครั้ง
  • หากผู้ป่วยต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางอย่างถุงยางอนามัย ฝาครอบปากมดลูก หรือหมวกครอบปากมดลูก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Miconazole ชนิดทาที่ช่องคลอดหรือยาเหน็บช่องคลอด เพราะยานี้อาจทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจได้
  • ห้ามใช้ยา Miconazole ชนิดทาที่ช่องคลอดหรือยาเหน็บช่องคลอด หากผู้ป่วยเป็นไข้ หนาวสั่น มีอาการคล้ายไข้หวัด ปวดท้อง และมีตกขาวที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือหากมีอาการรุนแรงนอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
  • ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ยาฆ่าเชื้ออสุจิ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับช่องคลอดชนิดอื่น ๆ รวมถึงห้ามสวนล้างช่องคลอดขณะใช้ยา Miconazole ชนิดทาที่ช่องคลอดหรือยาเหน็บช่องคลอด
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดก่อนใช้ยา เพราะยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตรห้ามใช้ยานี้หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา จมูก และปาก
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือเส้นใยธรรมชาติเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี จนกว่าการติดเชื้อจะหายไป

ปริมาณการใช้ยา Miconazole

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

การติดเชื้อราที่ผิวหนัง
ตัวอย่างการใช้ยารักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

ผู้ใหญ่ ช้ยาแบบครีม โลชั่น หรือผงแป้งความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ทาบาง ๆ บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ โดยทายาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากอาการหายไปแล้ว
เด็ก ใช้ในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

การติดเชื้อราที่นิ้วมือ
ตัวอย่างการใช้ยารักษาการติดเชื้อราที่นิ้วมือ

ผู้ใหญ่ ใช้ยาแบบครีมความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ทาบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 1-2 ครั้ง หลังอาการหายไปให้ทายาต่อเนื่องอีกเป็นเวลา 10 วัน
เด็ก ใช้ในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

โรคเชื้อราในปาก
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคเชื้อราในปาก

ผู้ใหญ่ รับประทานยา Miconazole สูตร 20 มิลลิกรัม/กรัม แบบเจล ปริมาณ 2.5 มิลลิลิตร 4 ครั้ง/วัน ทายาบริเวณแผลและอมไว้ในช่องปากสักครู่แล้วจึงกลืนยาลงไป โดยรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะหายไป สำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ให้ใช้ยาเม็ดปริมาณ 50 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน อมไว้บริเวณกระพุ้งแก้ม โดยใช้ยาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 14 วัน
เด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป รับประทานยา Miconazole สูตร 20 มิลลิกรัม/กรัม แบบเจล ปริมาณ 2.5 มิลลิลิตร 4 ครั้ง/วัน ทายาบริเวณแผลและอมไว้ในช่องปากสักครู่แล้วจึงกลืนยาลงไป โดยรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
เด็กอายุ 4-24 เดือน รับประทานยา Miconazole สูตร 20 มิลลิกรัม/กรัม แบบเจล ปริมาณ 1.25 มิลลิลิตร 4 ครั้ง/วัน

โรคเชื้อราในลำไส้
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคเชื้อราในลำไส้

ผู้ใหญ่ รับประทาน Miconazole สูตร 20 มิลลิกรัม/กรัม แบบเจล ปริมาณ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน 4 ครั้ง/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 250 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน โดยรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะหายไป
เด็ก ใช้ในปริมาณเท่ากันกับผู้ใหญ่

โรคเชื้อราในช่องคลอด
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดhttps://www.pobpad.com/เชื้อราในช่องคลอด

ผู้ใหญ่
ยาทา อาจใช้ยาแบบครีมความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 5 กรัม ทาภายในช่องคลอดก่อนนอน 1 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 10-14 วัน หรือทา 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน
ยาเหน็บ อาจใช้ยาเหน็บตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาเหน็บช่องคลอด ปริมาณ 100 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 7 หรือ 14 วัน
  • ใช้ยาเหน็บช่องคลอด ปริมาณ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน
  • ใช้ยาเหน็บช่องคลอด ปริมาณ 200 หรือ 400 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 วัน
  • ใช้ยาเหน็บช่องคลอด ปริมาณ 1,200 มิลลิกรัม รักษาเพียงครั้งเดียว

การใช้ยา Miconazole

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยา Miconazole ชนิดทาผิวหนังบริเวณที่มีบาดแผลฉีกขาด
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใช้ยา ยกเว้นหากใช้ยาทาบริเวณมือก็ไม่ต้องล้างยาออก
  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทายาให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ห้ามปกปิดผิวหนังบริเวณที่ใช้ยาหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ แต่อาจใช้ผ้าพันแผลเพื่อป้องกันผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้าได้
  • ใช้ยาให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว เพราะหากใช้ยาไม่ครบกำหนดหรือข้ามการใช้ยาไป อาจเสี่ยงต่อการดื้อยาต้านเชื้อรา
  • ผู้ป่วยน้ำกัดเท้าควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการติดเชื้อยังไม่หายไป และมีอาการแย่ลงใน 2 หรือ 4 สัปดาห์
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดอาการที่ร้ายแรงอย่างหมดสติหรือหายใจลำบากได้
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็ก และปิดหลอดยาให้สนิทหลังการใช้งาน รวมถึงปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Miconazole

โดยปกติ ยา Micomazole มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการคัน ผิวบาง ผิวแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการรุนแรงดังต่อไปนี้

  • แพ้ยาอย่างรุนแรง แม้พบได้น้อยแต่อาจทำให้มีอาการรุนแรง เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมโดยเฉพาะที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น
  • ผิวไหม้ หรือปวดแสบปวดร้อน
  • แผลเปิดและมีของเหลวไหลออกมา
  • ผิวหนังพองอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังแตกเป็นแผ่น
  • ผิวหนังแดง บวม เกิดการระคายเคือง และรู้สึกเจ็บเมื่อกด
  • มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง

แม้การใช้ยา Miconazole อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงได้น้อย แต่หากยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปากแห้ง เจ็บลิ้น ปวดฟัน เหงือกแดงและบวม การรับรสเปลี่ยนแปลงไป คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดศีรษะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ แต่หากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทันที