เชื้อราในช่องคลอดและขาหนีบ รักษาอย่างไรให้หายขาด

การติดเชื้อราในช่องคลอดและเชื้อราที่ขาหนีบมักสร้างความอึดอัด อาการคันและระคายเคืองอย่างมาก อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพเมื่อต้องออกไปพบปะผู้คน การติดเชื้อราในจุดซ่อนเร้นจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยปกติสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราร่วมกับการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ

กล่าวกันว่า ผู้หญิงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์อาจต้องเผชิญหน้ากับเชื้อราในช่องคลอดสักครั้ง ซึ่งปัญหานี้มักเกิดจากเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida) ที่อยู่ภายในช่องคลอดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนทำสภาวะในช่องคลอดเสียสมดุล โดยเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ การตั้งครรภ์ โรคเบาหวานที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือทำฮอร์โมนบำบัด เป็นต้น

เชื้อราในช่องคลอด

ในขณะที่เชื้อราที่ขาหนีบหรือที่เรียกกันว่า สังคัง เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่มักอาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่หากผิวหนังบริเวณขาหนีบมีความอับชื้นสูงขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีเหงื่อออกมาก คนที่มีน้ำหนักตัวมาก และคนที่ชอบใส่เสื้อผ้ารัดแน่นหรือเปียกชื้น เชื้อราอาจจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดการติดเชื้อราตามมา มักพบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สัญญาณเตือนเมื่อติดเชื้อราในช่องคลอดและขาหนีบ

ปกติแล้ว เชื้อราในช่องคลอดและเชื้อราที่ขาหนีบนั้นอาจมีอาการที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป โดยอาจลองสังเกตอาการเบื้องต้นจากรายละเอียดด้านล่าง

เชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดอาจก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง เช่น อาการคัน ระคายเคืองที่ปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด รู้สึกแสบร้อนหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ บริเวณปากช่องคลอดบวมแดง ตกขาวผิดปกติโดยอาจเป็นก้อนสีขาวข้นคล้ายนมข้นหวานหรือโยเกิร์ต หรืออาจเป็นน้ำใส ไม่มีกลิ่น แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการแสดงออกมาเลยก็ได้ 

เชื้อราที่ขาหนีบ

อาการหลักของโรคนี้คือ เกิดผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือพระจันทร์เสี้ยว มีขอบนูนชัดเจน ผิวอาจลอก แตก เป็นสะเก็ด หรือเป็นขุย ร่วมกับอาการคันอย่างต่อเนื่อง รู้สึกแสบร้อน และผิวหนังเปลี่ยนสี มักพบบริเวณขาหนีบและต้นขาด้านใน ซึ่งผื่นอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณโดยรอบอย่างหน้าท้องหรือก้น หากผู้ป่วยออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่สูญเสียเหงื่อมากอาจทำให้อาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

แม้ว่าอาการส่วนใหญ่ของการติดเชื้อราทั้ง 2 โรคจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เชื้อราในช่องคลอดจะก่อให้เกิดอาการคันที่ปากช่องคลอดหรือในช่องคลอดร่วมกับมีตกขาวผิดปกติเป็นหลัก ส่วนเชื้อราที่ขาหนีบจะก่อให้เกิดผื่นแดงและคันตามผิวหนังบริเวณขาหนีบและต้นขา ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อราโดยตรงหรือเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อได้อีกด้วย

ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อราในช่องคลอดและขาหนีบ

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการเข่าข่ายเชื้อราในช่องคลอดและเชื้อราที่ขาหนีบควรไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากอาการของการติดเชื้อราอาจคล้ายกับอาการของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงอย่างการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยารักษาที่ตรงกับสาเหตุจึงจะหายดี

ยาต้านเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยามีหลายรูปแบบ เช่น ครีมทา ยาเหน็บช่องคลอด โลชั่น หรือสเปรย์ โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกรและฉลากที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ยาอย่างเคร่งครัด ซึ่งตัวอย่างของยาต้านเชื้อรามีดังนี้ 

  • ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
    ยาชนิดนี้จัดจำหน่ายในรูปแบบยาครีมและยาเหน็บช่องคลอด ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้อย่างครอบคลุม จึงช่วยรักษาและป้องกันการติดเชื้อราหลายประเภท เช่น เชื้อราในช่องคลอด เชื้อราที่ขาหนีบ เชื้อราที่เท้า โรคกลาก เป็นต้น ยาโคลไตรมาโซลจะสามารถรักษาเชื้อราในช่องคลอดในเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เพียงทายาครีมในบริเวณที่ติดเชื้อบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง โดยควรใช้ยาในช่วงเวลาก่อนนอน ติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการใช้ยาเหน็บที่ช่องคลอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเชื้อราในช่องคลอดให้ดียิ่งขึ้นได้ ส่วนการรักษาเชื้อราที่ขาหนีบสามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยทายาบนผิวหนังที่ติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์

    นอกจากนี้ ในบางผลิตภัณฑ์อาจนำยาโคลไตรมาโซลไปผสมกับตัวยาอื่นเพื่อให้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบร่วมด้วย ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกหรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาโคลไตรมาโซลชนิดทาภายนอกเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและทารกในครรภ์ ผู้ป่วยควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาตามที่ระบุไว้บนฉลากยาแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ยาไมโคนาโซล (Miconazole)
    เป็นยาที่ใช้รักษาเชื้อราในช่องคลอด สามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราต้นเหตุการติดเชื้อ ช่วยลดอาการคัน แสบร้อน และตกขาวที่ผิดปกติให้กับผู้ป่วยได้ มีจำหน่ายในรูปแบบยาครีมและยาเหน็บเช่นเดียวกันกับยาโคลไตรมาโซล
  • ยาบูโตโคนาโซล (Butoconazole)
    ยาบูโตโคนาโซลเป็นยาครีมสำหรับทาในช่องคลอดที่ช่วยรักษาเชื้อราในช่องคลอด ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้  โดยผู้ป่วยจะใช้ยาเพียงวันละ 1 ครั้ง แต่อาจต้องใช้อุปกรณ์ที่มากับรรจุภัณฑ์ยาในการสอดยาครีมเข้าสู่ช่องคลอดด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังควรดูแลตัวเองโดยการปรับพฤติกรรมตนเองร่วมด้วย เช่น การสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป เปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในทุกวัน หมั่นทำความสะอาดผิวหนังที่อับชื้นด้วยน้ำและสบู่ ทำผิวหนังแห้งสนิทอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เป็นต้น แต่หากการใช้ยาและการดูแลตนเองข้างต้นใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หรือพบความผิดปกติอื่นใด ควรกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและขอคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมต่อไป