Clotrimazole (โคลไตรมาโซล)
โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาการติดเชื้อราตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ปาก และช่องคลอด รวมไปถึงรักษาโรคกลาก โรคน้ำกัดเท้า หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Clotrimazole มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Clotrimazole
กลุ่มยา | ยาต้านเชื้อรา |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการติดเชื้อรา |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | สำหรับยาชนิดยาเหน็บและยาทา Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไปสำหรับยาชนิดยาอม Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ตัวยาสามารถปนมากับน้ำนมได้หรือไม่ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรจึงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยาอม ยาหยอดหู ยาทาเฉพาะที่ ยาเหน็บช่องคลอด |
คำเตือนในการใช้ยา Clotrimazole
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ที่ต้องใช้ยา Clotrimazole ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาต้านเชื้อรา กลุ่มเอโซล เช่น ยาไอตราโคนาโซล และคีโตโคนาโซล รวมไปถึงหากมีประวัติแพ้ยาชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังป่วยหรือเคยป่วยเป็นโรคตับ โรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ภาวะเอดส์ หรือติดสุรา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากการใช้ยา Clotrimazole ในเด็กวัยนี้
- กรณีที่ใช้ยารูปแบบยาทาเฉพาะที่ ต้องระมัดระวังอย่าให้ยาเข้าตา
ปริมาณการใช้ยา Clotrimazole
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Clotrimazole ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
เชื้อราในช่องคลอด
ตัวอย่างการใช้ยา Clotrimazole เพื่อรักษาภาวะเชื้อราในช่องคลอด ได้แก่
- ผู้ใหญ่ หากใช้ยาชนิดเหน็บช่องคลอด ให้สอดยาในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7 วัน หรืออาจจะเป็นยาในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 3 วัน หรืออาจจะเป็นยาในปริมาณ 500 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว
- เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี หากใช้ยาชนิดเหน็บช่องคลอด ให้สอดยาในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 7 วัน หรืออาจจะเป็นยาในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 3 วัน หรืออาจจะเป็นยาในปริมาณ 500 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ สำหรับการใช้ยาในเด็ก ควรอ่านฉลากยาถึงคำแนะนำที่มากับผลิตภัณฑ์ หรือปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีใช้ที่เหมาะสมก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา
ยาเหน็บช่องคลอดที่ใช้อาจจะมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับช่วยเหน็บยามาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ยาสามารถใช้ยาได้ถูกสุขลักษณะ สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ยาควรอ่านวิธีการใช้ให้ถูกต้องก่อนใช้
ทั้งนี้ สำหรับการรักษาเชื้อราในช่องคลอด ยา Clotrimazole ก็มีในรูปแบบยาทาด้วยเช่นกัน โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
- เด็กที่อายุมากกว่า 16 ปี และผู้ใหญ่ ใช้ยาครีม Clotrimazole ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ในปริมาณ 5 กรัมภายในช่องคลอดเพียงครั้งเดียว แต่หากเป็นความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ให้ผู้ใช้ยาทายาบริเวณปากช่องคลอด วันละ 2–3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
เชื้อราที่ผิวหนัง
ตัวอย่างการใช้ยา Clotrimazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่
- ผู้ใหญ่ ใช้ยาแบบครีมหรือโลชั่นความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ วันละ 2–3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2–4 สัปดาห์
เชื้อราในช่องปาก
ตัวอย่างการใช้ยา Clotrimazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราในช่องปาก ได้แก่
- ผู้ใหญ่ ใช้ยาอมที่มีปริมาณยา Clotrimazole 10 มิลลิกรัม โดยอมยาวันละ 5 ครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน หรือหากผู้ป่วยกำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ให้อมยาวันละ 3 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
หูชั้นนอกอักเสบจากเชื้อรา
ตัวอย่างการใช้ยา Clotrimazole เพื่อรักษาหูชั้นนอกอักเสบจากเชื้อรา ได้แก่
- ผู้ใหญ่ ใช้ยา Clotrimazole ชนิดยาน้ำสารละลายความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ หยดหรือทาบริเวณที่เกิดอาการ
การใช้ยา Clotrimazole
ผู้ใช้ยา Clotrimazole ควรใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่เพิ่มหรือลดปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน และที่สำคัญควรใช้ยานี้ให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
ในกรณีใช้ยาชนิดยาเหน็บหรือยาสอดช่องคลอด หากเป็นไปได้ ให้ใช้ยาในช่วงก่อนนอน เนื่องจากตัวยาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมาก โดยระหว่างนอนหลับผู้ป่วยอาจใส่ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันยาซึมเปื้อนเสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อป้องกันยาจากการถูกรบกวนในการทำงาน รวมถึงไม่ควรสวนล้างช่องคลอดโดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์
ในกรณีที่ใช้ยา Clotrimazole ชนิดยาอม ควรปล่อยให้ยาละลายในปากช้า ๆ โดยไม่เคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด ซึ่งโดยปกติอาจใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ในกรณีใช้ยา Clotrimazole ชนิดยาทา ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการรักษาให้สะอาดและแห้ง จากนั้นค่อย ๆ ทายาลงเฉพาะบริเวณที่มีอาการให้ตัวยาซึมจนหมด และล้างมือให้สะอาดหลังจากทายาเสร็จแล้ว
หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น ความร้อน และหากยาหมดอายุให้ทิ้งยาทันที
ปฏิกิริยาระหว่างยา Clotrimazole กับยาอื่น
ผู้ที่ใช้ยา Clotrimazole ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ อยู่ รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ และยาปฏิชีวนะใด ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงใด ๆ จากการใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Clotrimazole
การใช้ยา Clotrimazole อาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เกิดรอยแดงตามผิวหนัง คันผิวหนัง แสบร้อนผิวหนัง และเกิดแผลพุพอง ซึ่งผู้ใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเกิดอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
แต่หากผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ ผู้ใช้ยาควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน หรืออาเจียน
- มีไข้
- มีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากช่องคลอด
- มีอาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ลมพิษ ใบหน้าบวม ลิ้นบวม และริมฝีปากบวม