Inner child เป็นคำศัพท์ในเชิงจิตวิทยาที่อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในตัวของเรา นักจิตวิทยาเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตของเราตั้งแต่วัยเด็กเป็นสิ่งที่หลอมรวมเป็นเราในปัจจุบัน เพราะทุกการเติบโตในแต่ละช่วงอายุไม่ได้เป็นเพียงอดีตที่ผ่านไป แต่มีความสำคัญต่อชีวิตของเราเหมือนกับการปะติดส่วนเล็ก ๆ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นตัวตนของเราในวันนี้
Inner Child สำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นตัวแทนของความอ่อนเยาว์ มีพลัง สนุกสนาน และเต็มไปด้วยความหวัง แต่บางคนที่ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายในวัยเด็กอาจเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลในใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น บทความนี้จึงจะชวนมาทำความเข้าใจและกลับไปเยียวยาแผลใจในวัยเด็กไปด้วยกัน
Inner Child ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ
จากสถิติระหว่างปี พ.ศ. 2561–2562 พบว่าเด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงเฉลี่ยวันละ 5 คน และหากนับเฉพาะกรณีความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 3 คนต่อวัน โดยรูปแบบที่พบมากที่สุดคือพ่อและแม่เป็นผู้กระทำ
นอกจากนี้ เด็กหลายคนอาจเคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจในรูปแบบอื่น เช่น การไม่ได้รับความเอาใจใส่จากครอบครัว การถูกกลั่นแกล้ง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการสูญเสียคนในครอบครัวอย่างกะทันหัน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักสร้างบาดแผลในใจที่ติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กและวัยรุ่นที่เผชิญกับเหตุการณ์ทารุณกรรมมักไม่ได้รับการตรวจและเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กหลายคนเติบโตมาพร้อมความหลังฝังใจ และพยายามซ่อนบาดแผลไว้จนถึงปัจจุบัน เพื่อป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวดเมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้น อย่างไรก็ตาม การซ่อนบาดแผลในใจอาจช่วยให้เราลืมความเจ็บปวดได้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้บาดแผลนั้นหายไปอย่างถาวร
หากปล่อยให้ตัวเองมีบาดแผลในใจโดยไม่ได้รับการเยียวยา อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยอาจทำให้เกิดโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรค PTSD หรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง การใช้สารเสพติด และในบางรายอาจมีความคิดทำร้ายตัวเองได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กมักมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย
เทคนิคเยียวยา Inner Child
การเยียวยา Inner Child เป็นการดูแลด้านที่เปราะบางหรือเจ็บปวดภายในจิตใจที่หลายคนหลงลืมไป ซึ่งการเยียวยาบาดแผลในใจนั้นอาจต้องใช้เวลา แต่สามารถเริ่มได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- นึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในวัยเด็ก เพราะเด็กเป็นวัยที่สามารถเล่นสนุกได้โดยไม่มีเรื่องให้กังวลมากเท่าผู้ใหญ่ เช่น ดูรูปภาพสมัยเด็ก เล่นเกมที่เคยชอบ และกินไอศกรีมปลอบใจในวันที่รู้สึกไม่ดี หากรู้สึกว่าการนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในวัยเด็กเป็นเรื่องยาก อาจทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในครอบครัว ซึ่งอาจช่วยให้เรากลับมามีความสุขและมีพลังได้อีกครั้ง
- สำรวจบาดแผลในใจของตัวเอง โดยอาจถามความรู้สึกของตัวเอง เขียนจดหมาย หรือเล่าเรื่องราวในวัยเด็กตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยให้เราได้ทบทวนเหตุการณ์และความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายในใจ และเขียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องเหล่านั้น วิธีการนี้จะทำให้เราเห็นข้อดีจากเรื่องราวร้าย ๆ แล้วหันมาชื่นชมและเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง
- ฝึกสมาธิและฝึกการหายใจ เป็นวิธีที่ทำให้เราจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกและความรู้สึกภายในใจ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกด้วย
- เปิดใจเยียวยาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการเยียวยา Inner Child ต้องใช้ระยะเวลา จึงควรหมั่นสำรวจความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ และรับมือกับความรู้สึกนั้นด้วยความรักและเมตตาต่อตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ปรึกษานักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้รับฟังและแนะนำวิธีเยียวยาบาดแผลในจิตใจ อย่างการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) และวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
Inner Child เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการสร้างตัวตนของเราในปัจจุบัน บาดแผลในใจเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหายไปและทุกครั้งที่นึกถึงความทรงจำเหล่านั้นก็มักสร้างความเจ็บปวดให้กับเราได้ไม่ต่างจากตอนที่เป็นเด็ก การเผชิญหน้ากับประสบการณ์อันเลวร้ายและยอมรับการรักษาเยียวยาด้วยวิธีที่เหมาะสม จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น หากไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำปรึกษาและรักษาต่อไป