ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง (Hyperparathyroidism)

ความหมาย ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง (Hyperparathyroidism)

Hyperparathyroidism หรือ ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ที่อยู่บริเวณคอผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย สับสน เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้มักส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงและสูญเสียแคลเซียมในกระดูก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดอาการป่วยอื่น ๆ ที่ร้ายแรงตามมาได้

1905 Hyperparathyroidism rs

อาการของฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

ผู้ป่วย Hyperparathyroidism บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย ความอยากอาหารลดลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องผูก หรือมีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

แต่ในกรณีที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • เซื่องซึม
  • มีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติและมีสีเข้ม วิงเวียน อ่อนเพลีย ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง เป็นต้น
  • มีอาการสับสน
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • ปวดกระดูกและข้อต่อ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูง

สาเหตุของฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

ต่อมพาราไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมาเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย เมื่อมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมามากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มการปล่อยแคลเซียมออกด้วยการสลายกระดูกและเพิ่มปริมาณการดูดซึมแคลเซียมที่ไตและลำไส้ จึงส่งผลให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น แต่หากมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ร่างกายก็จะลดการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ลง เมื่อปริมาณแคลเซียมอยู่ในระดับสมดุลแล้ว ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ก็จะกลับมามีระดับปกติ

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ก็ถูกปล่อยออกมามากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ และส่งผลให้ระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำได้ โดย Hyperparathyroidism แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงแบบปฐมภูมิ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งของต่อมพาราไทรอยด์ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์โต และมะเร็งของต่อมพาราไทรอยด์ที่พบได้น้อยมาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น เป็นสตรีในวัยหมดประจำเดือน มีโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ต่อมพาราไทรอยด์โตอย่างโรคเนื้องอกต่อมไร้ท่อ เคยมีภาวะพร่องแคลเซียมและวิตามินดี ได้รับการรักษาโรคมะเร็งโดยการฉายรังสี หรือใช้ยากลุ่มลิเทียมที่มักใช้ในการรักษาโรคไบโพลาร์ เป็นต้น
  • ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงแบบทุติยภูมิ เกิดจากระดับแคลเซียมต่ำลงผิดปกติเนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยการสูญเสียแคลเซียม อย่างภาวะพร่องแคลเซียมจากปัญหาการดูดซึมที่ระบบทางเดินอาหารหรือขาดวิตามินดีซึ่งมีหน้าที่ช่วยดูดซึมแคลเซียม และโรคไตวายเรื้อรังอันเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิด Hyperparathyroidism ประเภทนี้ โดยเมื่อไตเสื่อมประสิทธิภาพจะส่งผลให้ระดับแคลเซียมและวิตามินดีลดลง
  • ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงแบบตติยภูมิ เกิดจากการที่ต่อมพาราไทรอยด์ยังคงผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์อยู่แม้ระดับแคลเซียมจะกลับสู่สภาวะสมดุลแล้วก็ตาม โดย Hyperparathyroidism ประเภทนี้มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคไต   

การวินิจฉัยฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

โดยปกติแพทย์จะวินิจฉัยภาวะ Hyperparathyroidism ได้จากการตรวจเลือด โดยจะตรวจหาปริมาณฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ระดับแคลเซียม และระดับฟอสเฟต หากพบว่ามีแคลเซียมสูง แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบว่าเกิดจากภาวะนี้จริงหรือไม่ ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก
โดยนิยมใช้เครื่องตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกแบบ DXA Scan เพื่อวัดปริมาณแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ในกระดูก

การตรวจปัสสาวะ
เป็นการเก็บตัวอย่างปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของไตและปริมาณแคลเซียมที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุความรุนแรงของอาการ Hyperparathyroidism แต่หากผลชี้ว่ามีปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะต่ำ ผู้ป่วยก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

การตรวจภาพถ่าย
แพทย์อาจตรวจร่างกายด้วยภาพถ่าย เช่น การเอกซ์เรย์ การอัลตราซาวด์ หรือการทำซีทีสแกน เป็นต้น เพื่อตรวจสอบช่องท้อง กระดูกสันหลัง และตรวจหาความผิดปกติของไต ทั้งยังช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตอีกด้วย

การรักษาฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากไม่มีอาการรุนแรง มีปริมาณแคลเซียมสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ไตยังทำงานเป็นปกติ ไม่เกิดก้อนนิ่วในไต และความหนาแน่นของกระดูกยังอยู่ในระดับปกติ แต่แพทย์อาจนัดตรวจติดตามอาการเพื่อวัดปริมาณแคลเซียมในเลือดและตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันอาการแย่ลงกว่าเดิม เช่น ดื่มน้ำให้มาก ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หมั่นหาข้อมูลปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีในอาหารที่ควรรับประทาน เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

การใช้ยา ยาที่ใช้ในการรักษา Hyperparathyroidism มีดังนี้

  • ยากลุ่มแคลซิมิเมติคส์ อย่างยาซินาแคลเซต ซึ่งจะช่วยยับยั้งการผลิตและการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ แต่ยานี้อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย คลื่นไส้ และติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ ช่วยป้องกันการสูญเสียแคลเซียมในกระดูกและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนจากภาวะ Hyperparathyroidism แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างความดันโลหิตต่ำ มีไข้ และอาเจียน
  • ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยรักษาภาวะขาดแคลเซียมในกระดูกของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการของโรคกระดูกพรุน แต่วิธีนี้ไม่อาจรักษาภาวะหรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ได้ และหากใช้ในระยะยาวก็อาจเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งและลิ่มเลือด อีกทั้งอาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการปวดเต้านม วิงเวียน และปวดศีรษะด้วย
  • วิตามินดีและแคลเซียมเสริม สำหรับผู้ป่วยที่ขาดแคลเซียมและวิตามินดี อย่างผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิตามินดีและแคลเซียมเสริมร่วมกับการใช้ยาและการฟอกไต  

การผ่าตัด

มักใช้กันมากในผู้ป่วยประเภทปฐมภูมิ โดยแพทย์จะผ่าตัดนำต่อมเนื้องอกออกไป หากเกิดความผิดปกติกับต่อมพาราไทรอยด์ทั้ง 4 ต่อม แพทย์อาจนำออกไปเพียง 3 ต่อม และบางครั้งอาจตัดต่อมที่ 4 ออกไปบางส่วนด้วย หากแผลผ่าตัดที่คอมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยอาจกลับไปพักฟื้นที่บ้านหลังการผ่าตัดได้ทันที แต่การผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงทำให้เส้นประสาทในการควบคุมสายเสียงถูกทำลาย และทำให้มีระดับแคลเซียมต่ำในระยะยาวได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการรักษาเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงภาวะขาดแคลเซียมของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กได้     

ภาวะแทรกซ้อนของฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

จากการมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงแต่มีระดับแคลเซียมในกระดูกต่ำ อาจทำให้ผู้ป่วยภาวะนี้เกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งส่งผลให้กระดูกเปราะบางและแตกหักได้ง่าย ทั้งยังอาจส่งผลให้มีระดับแคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นและก่อตัวเป็นก้อนนิ่วภายในไต ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดที่ทางเดินปัสสาวะได้

นอกจากนี้ ภาวะ Hyperparathyroidism ยังอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงในทารกแรกเกิด การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือตับอ่อนอักเสบ และหากมีระดับแคลเซียมที่สูงเกินไปก็อาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน จนทำให้หมดสติ เข้าสู่ภาวะโคม่า และมีความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก   

การป้องกันฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง

ภาวะ Hyperparathyroidism เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • สตรีวัยหมดประจำเดือนควรเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณแคลเซียมในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อต่อมพาราไทรอยด์ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยก่อนตัดสินใจมีบุตร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ต่อไป
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงการฉายรังสี หากไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคมะเร็ง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยสังเกตจากปัสสาวะที่ใส ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตได้  
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้กระดูกแข็งแรง โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อตนเองมากที่สุด
  • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้กระดูกพรุนมากขึ้น และยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงอื่น ๆ ด้วย
  • หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้ระดับแคลเซียมสูงขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะหรือยาลิเทียม เป็นต้น หากต้องใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเป็นยาตัวอื่นที่เหมาะสมต่อร่างกายแทน