ฟอกไตอย่างปลอดภัย

ฟอกไต (Hemodialysis) คือวิธีการหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือไตวายเฉียบพลันจากสาเหตุต่าง ๆ โดยจุดประสงค์ที่ทำการฟอกไตก็เพื่อกรองและกำจัดของเสียที่สะสมอยู่ในเลือดออกไป และช่วยให้สมดุลในร่างกายของผู้ป่วยโรคไตอยู่ในภาวะที่ใกล้เคียงปกติที่สุดในขณะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองของเสียได้อีกต่อไป

ไตเป็นอวัยวะทำหน้าที่กรองสารอาหารต่าง ๆ จากเลือดกลับไปให้ร่างกายใช้ แล้วขับของเสียจากเลือดออกมาในรูปแบบปัสสาวะ หากไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติก็จะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคไตจึงต้องได้รับการฟอกไตเพื่อกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

ฟอกไต

การฟอกไตคืออะไร

การฟอกไตเป็นเพียงวิธีการรักษาเพื่อบำบัดในผู้ป่วยที่ไตสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติใกล้เคียงกับคนปกติ ปัจจุบันมีการฟอกไตที่นิยมใช้อยู่ 2 วิธี ได้แก่

1. การฟอกไตด้วยการใช้ไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม

2. การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการฟอกเลือดภายในร่างกายโดยใช้เนื้อเยื่อที่บริเวณช่องท้องร่วมกับน้ำยาฟอกไตทางช่องท้อง

อย่างไรก็ตาม การฟอกไตก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพยุงอาการของโรคไตวายเรื้อรังเท่านั้น และต้องทำควบคู่กับการรักษาโดยการใช้ยาเพื่อควบคุมปริมาณสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อรอการปลูกถ่ายไตในอนาคต ซึ่งการฟอกไตไม่จำเป็นต้องใช้เพียงวิธีเดียวเสมอไป โดยเมื่อแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยฟอกไต ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีในการฟอกไตได้ และอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น

เหตุผลที่ต้องฟอกไต 

โดยปกติแล้วไตที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันไม่ให้ของเหลว และของเสียที่อยู่ในเลือดตกค้างอยู่ในร่างกาย อีกทั้งยังช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต และระดับสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย อาทิ เกลือโซเดียมและโพแทสเซียมให้อยู่ในระดับปกติ รวมถึงกระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น

หากไตสูญเสียความสามารถในการทำงานอันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ ก็จำเป็นจะต้องนำการฟอกไตเข้ามาช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานต่อไปได้ตามปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการฟอกไตก็จะทำให้เกลือและของเสียในร่างกายสะสมอยู่ในเลือดและกลายเป็นพิษต่อร่างกาย ทั้งนี้การฟอกไตมักจะต้องทำร่วมกับการรักษาโรคไตด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ การฟอกไตยังถูกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาเกินขนาดหรือได้รับสารพิษที่เป็นอันตราย โดยการฟอกไตในกรณีนี้จะใช้เพื่อกำจัดสารพิษที่อยู่ภายในร่างกาย ซึ่งจะช่วยทำให้ความรุนแรงของอาการลดลง

ข้อห้ามในการฟอกไต

แม้การฟอกไตจะเป็นวิธีหนึ่งที่จำเป็นต่อผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต แต่การฟอกไตก็ไม่เหมาะสำหรับทุกคน เนื่องจากผลข้างเคียงของการฟอกไตอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตยิ่งมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากการฟอกไตเป็นวิธีการที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ประโยชน์มากกว่า

ทั้งนี้ ข้อห้ามในการฟอกไตจะแตกต่างกันไปตามวิธีการฟอกไต โดยการฟอกไตด้วยไตเทียมส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับเส้นฟอกเลือด (Vascular Access) ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่แพทย์ได้ทำการผ่าตัดเพื่อใช้สำหรับการต่อเข้ากับเครื่องไตเทียม หากเส้นดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะไม่ทำการฟอกไตโดยเด็ดขาด 

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการแพ้การฟอกไตด้วยไตเทียมอย่างรุนแรงก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคไต มีระบบไหลเวียนเลือดที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ก็อาจทำการฟอกไตได้ แต่ต้องเป็นไปตามการแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

ส่วนการฟอกไตทางช่องท้อง ผู้ที่มีผนังช่องท้องอ่อนแอ หรือมีความผิดปกติที่ผนังช่องท้อง ก็จะไม่สามารถทำได้ ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดช่องท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับปอด ระบบลำไส้ หรือแม้แต่มีปัญหาถุงน้ำในไต การฟอกไตทางช่องท้องก็อาจเป็นไปได้ยาก และจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น

ขั้นตอนการฟอกไต

การฟอกไตเป็นการจำลองการฟอกเลือดโดยใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์พิเศษเพื่อกรองสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย

ซึ่งวิธีการฟอกไตทั้ง 2 วิธีมีขั้นตอนที่แตกต่างกันดังนี้

1. การฟอกไตด้วยการใช้ไตเทียม

การฟอกไตด้วยการใช้ไตเทียมเป็นวิธีการที่นิยม โดยเป็นการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม เพื่อกำจัดของเสียหรือสารเคมีที่อยู่ในเลือด และเพื่อให้เลือดสามารถไหลเข้าเครื่องไตเทียมได้

ก่อนทำการฟอกไตครั้งแรก แพทย์จะทำการผ่าตัดสร้างเส้นฟอกเลือด เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนระหว่างเครื่องไตเทียมและร่างกายของผู้ป่วยได้ เส้นฟอกเลือดจะช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนเข้าสู่เครื่องได้มากขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้เลือดสามารถได้รับการกรองและสะอาดมากขึ้น

เส้นฟอกเลือดที่ใช้ในการฟอกไตจะถูกออกแบบให้สามารถรองรับการฟอกไตในระยะยาวได้ โดยเส้นฟอกเลือดมี 3 ประเภทคือ

  • เส้นฟอกเลือดจากเส้นเลือดของผู้ป่วย ทำโดยการผ่าตัดเชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและเลือดดำเข้าด้วยกันให้กลายเป็นบริเวณหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่บริเวณแขน
  • เส้นฟอกเลือดจากเส้นเลือดเทียม เป็นการนำเอาเส้นเลือดเทียมใส่เชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่บริเวณแขน
  • เส้นฟอกเลือดที่คอ เป็นการนำท่อพลาสติกใส่ไว้ที่เส้นเลือดดำใหญ่บริเวณคอ หรือบริเวณขาหนีบ วิธีนี้จะเป็นเพียงการสร้างช่องทางในการฟอกไตเพียงชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟอกไต ผู้เชี่ยวชาญจะนำเข็ม 2 เล่ม ใส่เข้าไปในเส้นฟอกเลือด แล้วปิดเทปเพื่อยืดให้สายอยู่กับที่บริเวณแขน เข็มเล่มหนึ่งจะคอยส่งเลือดเข้าเครื่องไตเทียมเพื่อทำการกรอง โดยภายในไตเทียมจะประกอบด้วยตัวกรองและน้ำยาฟอกไต ซึ่งเมื่อตัวกรองได้กรองของเสียงออกจากเลือดแล้ว เลือดก็จะผ่านการฟอกด้วยน้ำยาฟอกไต ก่อนที่เลือดจะถูกส่งกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเข็มอีกเล่ม

ทั้งนี้ ในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการฟอกไต ผู้ป่วยจะถูกจัดให้นั่งบนโซฟาหรือเตียงคนไข้ โดยในขณะที่ฟอกไตนั้นสามารถทำกิจกรรมเบา ๆ ได้ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือจะนอนหลับก็ได้ โดยระยะเวลาในการฟอกไตจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเสียในเลือด โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณครั้งละ 3-5 ชั่วโมง และต้องทำซ้ำประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 

โดยการฟอกไตจะต้องทำภายในสถานพยาบาล รวมทั้งมีการควบคุมดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทว่าหากการฟอกไตของผู้ป่วยเริ่มกินเวลานาน และต้องฟอกบ่อยขึ้น แพทย์อาจมีการแนะนำให้ทำการฟอกไตทางหน้าท้องเพื่อความสะดวกต่อผู้ป่วย

2. การฟอกไตทางช่องท้อง

การฟอกไตผ่านทางผนังช่องท้อง เป็นวิธีการฟอกไตที่สะดวก เนื่องจากในขณะที่ฟอกผู้ป่วยโรคไตสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยก่อนที่จะเริ่มทำการฟอกไตด้วยวิธีนี้ แพทย์จะต้องทำการสอดท่อเข้าไปที่บริเวณช่องท้องแล้วค้างไว้เพื่อใช้ในการเติมน้ำยาฟอกไตและปล่อยน้ำฟอกไตทิ้งเมื่อฟอกไตเสร็จแล้ว

การฟอกไตทางช่องท้องจะเริ่มจากการนำน้ำยาฟอกไตใส่เข้าไปทางท่อด้านหนึ่ง ให้น้ำยาฟอกไตเข้าไปอยู่ในบริเวณช่องท้อง จากนั้นจึงปล่อยให้ระบบไหลเวียนเลือดค่อย ๆ ผลักของเสียและน้ำส่วนเกินในร่างกายออกมาอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง เมื่อครบตามเวลาแล้วจึงปล่อยน้ำยาที่ใช้แล้วออกมาทางปลายของท่อที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งเพื่อเข้าสู่ถุงที่ต่อออกจากบริเวณหน้าท้องต่อไป 

การฟอกไตวิธีนี้จะต้องทำซ้ำวันละ 3-4 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งจะกินเวลา 4-6 ชั่วโมง และสามารถทำก่อนนอนเพื่อให้กระบวนการฟอกไตทางหน้าท้องเป็นไปได้ในขณะนอนหลับอีกด้วย

การเตรียมตัวก่อนฟอกไต

เมื่อมีการสรุปแล้วว่าผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการฟอกไต ผู้ป่วยจะเข้าสู่กระบวนการการเตรียมตัวสำหรับการฟอกไตครั้งแรก นั่นก็คือการผ่าตัดสร้างช่องทางในการฟอกไต ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดสร้างเส้นฟอกเลือดในผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม หรือจะเป็นการสอดท่อเข้าไปภายในผนังช่องท้องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฟอกไตทางช่องท้อง 

โดยอาจจะต้องรอให้แผลจากการผ่าตัดหายดีก่อนจึงจะสามารถเริ่มฟอกไตได้ โดยในขณะพักฟื้นแผลผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้การฟอกไตทางช่องท้องอย่างถูกวิธีเพื่อที่เมื่อเริ่มฟอกไตผ่านทางช่องท้องได้แล้วจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในระหว่างเตรียมตัวสำหรับการฟอกไตในระยะยาวทั้ง 2 วิธี แพทย์อาจทำการฟอกไตผ่านทางบริเวณคอซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้สำหรับการฟอกไตแบบชั่วคราวจนกว่าแพทย์จะเห็นว่าสามารถฟอกไตผ่านช่องทางที่สร้างไว้ได้

นอกจากนี้ ยังควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย เพื่อให้ไม่รู้สึกขณะที่ทำการฟอกไต และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฟอกไต

การดูแลหลังการฟอกไต

หลังจากกรรมวิธีในการฟอกไตเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วยไตเทียมสามารถไปพักผ่อนที่บ้านได้ทันที และกลับมาสถานพยาบาลอีกครั้งเพื่อฟอกไตและตรวจติดตามผลตามนัดของแพทย์

ส่วนผู้ที่ต้องฟอกไตผ่านทางช่องท้อง เมื่อนำน้ำยาฟอกไตที่ใช้แล้วออกจากร่างกาย ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แล้วจึงค่อยกลับมาฟอกไตซ้ำตามเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ และควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงระหว่างที่ต้องทำการรักษาด้วยการฟอกไต ผู้ป่วยจำเป็นจำต้องดูแลสุขภาพด้วยการจำกัดการรับประทานอาหารและการดื่มของเหลวอย่างเคร่งครัด สำหรับการฟอกไตด้วยไตเทียม ผู้ป่วยจะต้องจำกัดการดื่มของเหลวให้เหลือไม่เกินวันละ 1,000–1,500 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับรูปร่างและน้ำหนักตัว 

รวมทั้งควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสอย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินไป เนื่องจากสารเหล่านี้อาจส่งผลกระทบทำให้การฟอกไตไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ก็ยังสามารถทำการฟอกไตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการจำกัดอาหารบางชนิดอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้

การฟอกไตทั้ง 2 วิธีต่างมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากการฟอกไตเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทดแทนการทำงานของไตที่สูญเสียไปเท่านั้น โดยผลข้างเคียงเบื้องต้นที่พบได้ทั่วไปในผู้ที่ต้องฟอกไตก็คือ อาการอ่อนเพลีย ผู้ที่ต้องฟอกไตติดต่อกันในระยะยาวอาจมีอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียเรื้อรัง 

ซึ่งอาการอ่อนเพลียนี้มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดมาจากการสูญเสียการทำงานของไต ผลกระทบจากการฟอกไต การจำกัดอาหารที่มีความเกี่ยวข้องกับการฟอกไต หรือเกิดจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยเอง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียจากการฟอกไตจำเป็นจะต้องปรึกษาโภชนากรเพื่อปรับเปลี่ยนอาหารให้ผู้ป่วยมีเรี่ยวแรงมากขึ้น

นอกจากนี้การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเหมาะสม ก็ยังช่วยให้มีเรี่ยวแรงได้มากขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต ได้แก่ การปั่นจักรยาน การวิ่งเหยาะ เดินออกกำลังกาย หรือว่ายน้ำ แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มออกกำลังเพื่อจะที่ผู้ป่วยจะได้มีการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับสุขภาพที่สุด

ผลข้างเคียงจากการฟอกไต

การฟอกไตในแต่ละวิธียังส่งผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. ผลข้างเคียงจากการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม 

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายหรือรู้สึกวิงเวียนศีรษะ และอาจมีอาการตะคริวเกิดขึ้นในระหว่างการฟอกไตได้ สาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับของเหลวในร่างกายที่เกิดขึ้นในระหว่างการรักษา และนอกเหนือจากนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ทั้งเป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย เช่น

  • การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อบริเวณเส้นเลือดที่ใช้ฟอก เยื่อหัวใจอักเสบ กระดูกอักเสบ 
  • จากเส้นที่ใช้ฟอกเลือด เส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดอุดตัน เส้นฟอกเลือดอุดตัน เป็นต้น
  • ภาวะหัวใจผิดปกติ ที่เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะฟองอากาศในหลอดเลือดดำ
  • อาการไข้ เนื่องจากการติดเชื้อที่เส้นฟอกเลือด
  • อาการแพ้อย่างรุนแรง จากน้ำยาที่ใช้ในการฟอกไต
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก จากสารเฮพาริน (Heparin) ที่ใช้ในการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม
  • การเสียสมดุลของปริมาณของเสียในร่างกาย จนทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ปวดหัว ตัวสั่น หรือเข้าสู่ภาวะโคม่า
  • ปัญหาสุขภาพจิต ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า 

2. ผลข้างเคียงจากการฟอกไตทางช่องท้อง

วิธีการฟอกไตชนิดนี้มักจะส่งผลโดยตรงต่อบริเวณช่องท้องที่ใช้ในการฟอกของเสียออกจากร่างกาย และอาจส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย เช่น

  • ปัญหาที่เยื่อบุช่องท้อง เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือเยื่อบุช่องท้องแข็งตัว
  • ปัญหาเนื่องมาจากท่อที่ใช้ในการฟอกไต ได้แก่ การติดเชื้อ การอุดตัน ท่อฟอกเลือดโค้งงอทำให้การฟอกเลือดเป็นไปได้ช้าลง
  • มีปัญหาระบบขับถ่าย อาทิ ท้องผูก บวมน้ำ
  • ปัญหาสุขภาพจิต ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
  • มีอาการไส้เลื่อน ที่ขาหนีบ สะดือ หรือบริเวณแผลผ่าตัด
  • น้ำตาลในเลือดสูง 
  • น้ำหนักขึ้น
  • ปวดหลัง
  • ภาวะขาดสารอาหาร

ดังนั้นหากผู้ป่วยมีความรู้สึกผิดปกติหลังจากการฟอกไตและถึงแม้จะพักผ่อนแล้วยังไม่หาย ควรรีบกลับไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้หาทางรับมือและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต