อาการบวมน้ำ

ความหมาย อาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำ (Edema) เป็นภาวะที่มีน้ำหรือน้ำเหลืองสะสมคั่งค้างอยู่ภายในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกายในปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการบวม ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดขึ้นบริเวณมือ แขน ขา ข้อเท้า และเท้า ส่วนสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น อาการเจ็บป่วย การใช้ยาบางชนิด หรืออาหารการกินบางอย่าง เป็นต้น

อาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำ

นอกจากอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • ผิวหนังตึงและมีความมันวาว
  • ผิวหนังเป็นรอยบุ๋มหากถูกกดหรือจิ้มค้างไว้ประมาณ 5 วินาที
  • ช่วงท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบวมและโป่ง โดยเฉพาะบริเวณขาและแขน
  • ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการเดินหากเกิดอาการบวมบริเวณขา
  • เคลื่อนไหวข้อเท้าหรือข้อมือได้อย่างจำกัด
  • กรณีที่ปอดบวมน้ำ อาจทำให้เกิดอาการไอหรือมีปัญหาในการหายใจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการขาบวม และรู้สึกปวดต่อเนื่องจากการนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานอย่างการโดยสารเครื่องบินเป็นระยะทางไกล แต่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบสัญญาณของอาการปอดบวมน้ำ เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก เป็นต้น

สาเหตุของอาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำเกิดจากการมีของเหลวรั่วไหลออกมาจากเส้นเลือดขนาดเล็กในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ บริเวณนั้นบวมขึ้น และไม่ได้เป็นภาวะทางกรรมพันธุ์ แต่อาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยแต่ละสาเหตุก็อาจส่งผลให้อาการรุนแรงแตกต่างกันไป

โดยอาการบวมน้ำอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

อาการเจ็บป่วย เช่น

  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือโรคเกี่ยวกับไทรอยด์
  • ต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ
  • เส้นเลือดขอด หลอดเลือดดำที่ขาได้รับความเสียหาย หรือไม่แข็งแรง
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะขาดโปรตีนอย่างรุนแรง หรือขาดโปรตีนเป็นเวลานาน
  • อาการแพ้อย่างรุนแรง
  • โรคไต
  • โรคตับ เช่น ตับแข็ง เป็นต้น
  • ภาวะหัวใจวาย

การใช้ยาบางชนิด เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาแก้อักเสบ หรือ NSAIDs
  • ยาเอสโตรเจน
  • ยาสเตียรอยด์
  • ยารักษาความดันโลหิตสูง
  • ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด เช่น ยาไทอะโซลิดีนไดโอน เป็นต้น

สาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • การนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน
  • การรับประทานอาหารรสเค็มจัด
  • การตั้งครรภ์
  • อาการก่อนมีประจำเดือน หรือการเปลี่ยนเเปลงของฮอร์โมน
  • การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • โรคเท้าช้าง
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง

การวินิจฉัยอาการบวมน้ำ

แพทย์อาจวินิจฉัยอาการบวมน้ำในเบื้องต้นด้วยการกดหรือจิ้มบริเวณผิวหนังที่ปรากฏอาการบวมนาน 15 วินาที และสังเกตรอยบุ๋มในบริเวณดังกล่าว โดยพิจารณาร่วมกับประวัติทางการแพทย์ อาการอื่น ๆ และการตรวจระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้แพทย์ทราบถึงสาเหตุของอาการบวมน้ำได้ ซึ่งในบางกรณี แพทย์อาจทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอ็มอาร์ไอ ตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

การรักษาอาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำควรได้รับการรักษาตามสาเหตุ ซึ่งหากอาการบวมที่ปรากฏนั้นไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยก็อาจบรรเทาอาการดังกล่าวได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารรสเค็มจัด เพราะเกลืออาจช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย และทำให้อาการบวมน้ำแย่ลงได้
  • เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ และเพิ่มการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขา เพื่อให้ร่างกายได้ปั๊มของเหลวส่วนเกินกลับสู่หัวใจ
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดอาการบวมจากการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
  • ดูแลผิวบริเวณที่มีอาการบวมให้สะอาดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบริเวณเท้า เพราะอาจติดเชื้อได้หากผิวแห้ง แตก หรือได้รับบาดเจ็บอย่างรอยข่วนและรอยบาด
  • ยืดเหยียดอวัยวะบริเวณที่มีอาการบวมให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน หรืออาจทำตอนก่อนนอนก็ได้
  • นวดเพื่อให้แรงกดช่วยกระจายของเหลวส่วนเกินออกจากบริเวณดังกล่าว หรือเข้ารับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม
  • สวมถุงน่องหรือถุงมือกระชับทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการกักเก็บของเหลวไว้ในเนื้อเยื่อ
  • รับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่นภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะอาจช่วยลดความดันโลหิต และบรรเทาอาการบวมน้ำที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหลอดเลือดดำและเส้นเลือดขอด

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบรรเทาอาการบวมน้ำด้วยตนเองทุกครั้ง และหากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาการบวมน้ำเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากอาการเป็นผลมาจากการใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาดังกล่าว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการบวมน้ำ

หากเกิดอาการบวมน้ำแล้วปล่อยไว้โดยไม่รักษา ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • มีอาการบวมและรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น
  • ข้อติดแข็ง
  • เดินลำบาก
  • ผิวหนังตึงจนทำให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว
  • การไหลเวียนโลหิตลดลง และความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดง เส้นเลือด ข้อต่อ หรือกล้ามเนื้อลดลง
  • เกิดแผลเป็นบริเวณช่องว่างระหว่างเนื้อเยื่อ
  • เกิดการติดเชื้อบริเวณที่บวม และเป็นแผลพุพองที่ผิวหนังมากขึ้น

การป้องกันอาการบวมน้ำ

การป้องกันอาการบวมน้ำทำได้เพียงบางสาเหตุเท่านั้น หากอาการบวมน้ำเกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็มจัด อาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือรับประทานอาหารที่มีรสเค็มให้น้อยลง และหากอาการบวมน้ำเกิดจากการเจ็บป่วยก็อาจป้องกันได้ไม่เต็มที่ แต่อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาโรคและอาการที่เกิดขึ้น