Hemolytic Uremic Syndrome

ความหมาย Hemolytic Uremic Syndrome

Hemolytic Uremic Syndrome (HUS) หรือกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดขนาดเล็กในไตได้รับความเสียหายหรือเกิดการอักเสบจนอาจเป็นเหตุให้เกิดลิ่มเลือดภายในเส้นเลือด ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายวันโดยอาจมีเลือดเจือปนหรือไม่มี ปวดท้อง อาเจียน เลือดออกผิดปกติ มีอาการไตวายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

Hemolytic Uremic Syndrome พบได้มากในเด็กเล็ก แต่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อชนิดอื่น การใช้ยาบางชนิด การตั้งครรภ์ โรคมะเร็งหรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง เป็นต้น

Hemolytic Uremic Syndrome

อาการของ Hemolytic Uremic Syndrome

ผู้ป่วย Hemolytic Uremic Syndrome จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่อาการมักจะเริ่มจากท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน ปวดท้อง เป็นเหน็บชา มีอาการท้องอืด อาเจียน และมีไข้ จากนั้นอาจแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเลือด เนื่องจากกลุ่มอาการดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่เส้นเลือดในร่างกายและส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง โดยอาการที่อาจพบได้มีดังนี้  

  • อาการซีด ทั้งบริเวณผิวหนัง แก้มหรือเปลือกตาล่างด้านใน 
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง 
  • หายใจไม่อิ่ม 
  • ผิวช้ำง่ายหรือมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • เลือดออกผิดปกติ อย่างมีเลือดออกบริเวณจมูกหรือปาก 
  • ปัสสาวะน้อยลงหรือมีเลือดเจือปน 
  • มีอาการบวมน้ำบริเวณขา เข่า เท้า 
  • อาการอื่น ๆ เช่น บวมบริเวณหน้า มือ หรือทั้งร่างกาย รู้สึกมึนงง มีอาการชัก หรือมีอาการโรคหลอดเลือดสมอง และมีความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมาหลังจากท้องเสียหลายวัน เช่น ขับปัสสาวะได้น้อยลง มีอาการบวม อ่อนเพลียอย่างรุนแรง เกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดไหลผิดปกติ และไม่ปัสสาวะภายในเวลา 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของ Hemolytic Uremic Syndrome

กลุ่มอาการ HUS ในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ซึ่งเป็นแบคทีเรียกลุ่มหนึงที่พบได้ทั่วไปในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ ส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่เชื้ออีโคไลบางชนิดสามารถก่อโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น การรับประทานเนื้อดิบ ผักหรือผลไม้สดที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาด น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ รวมไปถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ โดยเป็นการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดชิเจลลา (Shigella dysenteriae) และชนิดซาลโมเนลลา ไทฟิ (Salmonella typhi) ก็อาจเป็นสาเหตุของ Hemolytic Uremic Syndrome ได้เช่นกัน 

ในกรณีของผู้ใหญ่ที่มีอาการในกลุ่ม HUS อาจอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากการติดเชื้ออีโคไล เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกไค เชื้อเอชไอวี หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ การใช้ยาควินิน การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง การใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ การใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาต้านเกล็ดเลือด อีกทั้งอาจพบภาวะ Hemolytic Uremic Syndrome เป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง และผู้ที่มีอาการไตอักเสบ

นอกจากนี้ การสัมผัสเชื้ออีโคไลอาจเกิดจากการว่ายน้ำในสระหรือบึงที่มีอุจจาระเจือปน หรือการสัมผัสบุคคลที่ติดเชื้อ ซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นหากเป็นเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มียีนกลายพันธุ์บางชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการ HUS 

การวินิจฉัย Hemolytic Uremic Syndrome

แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีกลุ่มอาการ Hemolytic Uremic Syndrome เมื่อมีภาวะซีดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำและไตวาย โดยจะใช้การตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยตรวจนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่อาจต่ำกว่าปกติ  หรือตรวจการทำงานของไตจากค่าของเสียในเลือด หากพบค่าของเสียในเลือดสูงผิดปกติก็อาจบอกถึงการทำงานของไตที่ลดลง จึงอาจช่วยในการวินิจฉัยอาการ HUS ได้ 
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจวัดปริมาณโปรตีนและเลือดที่ปนมาในปัสสาวะ รวมถึงการติดเชื้อต่าง ๆ
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจหาการผลิตสารพิษของอีโคไลและตรวจหาแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุสาเหตุของอาการได้อย่างชัดเจน

หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้จากผลการทดสอบในข้างต้น แพทย์อาจสั่งให้มีการทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างการส่งตรวจชิ้นเนื้อไต 

การรักษา Hemolytic Uremic Syndrome

แพทย์จะรักษาผู้ป่วย Hemolytic Uremic Syndrome ตามอาการของแต่ละคนด้วยวิธีต่อไปนี้

การให้เลือดและเกล็ดเลือด 

เนื่องจากผู้ป่วย Hemolytic Uremic Syndrome จะมีอาการของภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้มีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ผิวเหลือง หรือปัสสาวะมีสีเข้ม จึงอาจต้องได้รับการให้เลือดหรือเกล็ดเลือด โดยการให้เลือดจะช่วยให้อาการจากภาวะโลหิตจางดีขึ้น ส่วนการให้เกล็ดเลือดจะช่วยลดภาวะเลือดออกง่ายและทำให้การแข็งตัวของเลือดกลับเป็นปกติในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกหรือเกิดรอยช้ำง่าย

การใช้ยา

แพทย์อาจจ่ายยารักษาอาการความดันโลหิตสูง ป้องกันหรือชะลอการเกิดความเสียหายต่อไต หากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ของยีนแต่กำเนิด แพทย์อาจจ่ายยาเอคิวลิซูแมบ (Eculizumab) เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายของเส้นเลือดเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบเสียก่อน เนื่องจากภาวะนี้เป็นผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดได้จากการใช้ยาเอคิวลิซูแมบ  

การฟอกไต

แพทย์จะฟอกไตเฉพาะในผู้ป่วย Hemolytic Uremic Syndrome ที่มีอาการรุนแรง เพื่อช่วยกรองของเสียและของเหลวที่มากผิดปกติภายในเลือด โดยปกติการรักษาด้วยวิธีนี้จะทำชั่วคราวหรือจนกว่าไตของผู้ป่วยจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ ยกเว้นไตของผู้ป่วยได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฟอกไตในระยะยาว

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasma Exchange)

น้ำเหลืองหรือพลาสมาเป็นส่วนประกอบของเลือดที่ช่วยให้เลือดและเกล็ดเลือดสามารถหมุนเวียนได้ โดยเป็นการใช้เครื่องมือในการคัดแยกน้ำเหลืองเดิมออกจากเลือดและทดแทนด้วยน้ำเหลืองใหม่ก่อนจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

การรักษาระดับของเหลวในร่างกายด้วยของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) หากผู้ป่วยรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลงติดต่อเป็นเวลานาน หรือในกรณีที่ผู้ป่วย Hemolytic Uremic Syndrome ได้รับความเสียหายบริเวณไตอย่างรุนแรง แพทย์อาจทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของ Hemolytic Uremic Syndrome

ผู้ป่วยในกลุ่มอาการ Hemolytic Uremic Syndrome อาจมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือด มีภาวะการทำลายของเม็ดเลือดแดงก่อนอายุขัย ไตวาย ความดันโลหิตสูง ปัญหาด้านระบบประสาทและการทำงานของระบบขับถ่าย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น 

ในกรณีของผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสติสัมปชัญญะ มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมอง ชัก มีภาวะไตวายระยะสุดท้าย หรืออาจอยู่ในภาวะโคม่า หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายด้วยอาจต้องทำการฟอกไตจนกว่าไตจะสามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่หากไตไม่สามารถฟื้นฟูได้ก็อาจต้องทำการปลูกถ่ายไตเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถขับของเสียออกได้

การป้องกัน Hemolytic Uremic Syndrome

Hemolytic Uremic Syndrome มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์ดิบ อาหารหรือแหล่งน้ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์นม น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมที่ไม่ผ่านการทำลายเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ 
  • ทำความสะอาดเครื่องครัวหรืออุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารอยู่เสมอ
  • แยกการเก็บเนื้อสัตว์ดิบออกจากอาหารพร้อมทาน และแช่เนื้อในชั้นล่างสุดของตู้เพื่อป้องกันการหยดของเลือดหรือของเหลวอื่น ๆ จากเนื้อดิบ
  • ไม่นำอุปกรณ์ทำครัวและภาชนะที่สัมผัสเนื้อดิบมาใช้กับผักผลไม้หรืออาหารที่ปรุงสุกแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในน้ำที่ไม่สะอาดหรือการว่ายน้ำขณะที่มีอาการท้องเสีย
  • ล้างมืออย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการสัมผัสกับสัตว์หรือสิ่งสกปรก