อาการช้ำและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ช้ำหรือรอยช้ำเป็นอาการบาดเจ็บที่ปรากฏบนผิวหนังและเป็นอาการที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย  ซึ่งเกิดจากเลือดออกภายในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในชั้นผิวหนังหรืออยู่ลึกลงไปใต้เนื้อเยื่อผิวชั้นบน ในช่วงแรก อาการช้ำจะมีลักษณะเป็นสีม่วงคล้ำ ก่อนที่สีจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในระหว่างการรักษา และผิวจะกลับไปเป็นปกติเมื่อร่างกายดูดซึมเลือดในชั้นผิวหนังกลับเข้าไปตามเดิม

ทั้งนี้การเกิดรอยช้ำอาจแตกต่างกันไปตามอายุ อย่างการที่เด็กเกิดรอยช้ำได้ยากกว่าผู้สูงอายุเพราะเมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดก็จะมีความบอบบางมากขึ้นตามไปด้วย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิดที่ขัดขวางการแข็งตัวของเลือดจนทำให้เลือดออกในผิวหนังหรือเนื้อเยื่อมากขึ้นได้ ดังนั้น การรู้ถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ การปฐมพยาบาลและการรักษาเมื่อเกิดรอยช้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

Bruised,Knee,Of,Asia,Woman,,Selective,Focus

สาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการช้ำ

โดยทั่วไป อาการช้ำมักเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนในบริเวณผิวหนัง มักพบได้มากในผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ อย่างนักกีฬา หรือเกิดขึ้นจากการฉีกขาดขนาดเล็กของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง อีกทั้งรอยช้ำยังอาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ข้อเท้าแพลง มีภาวะกล้ามเนื้อฉีก และการใช้ยาหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ เช่น ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด (Blood Thinners) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือน้ำมันปลา เป็นต้น

รอยช้ำยังอาจปรากฏขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาทิ ร่างกายอาจกระแทกกับสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นขอบประตู ขอบเตียง หรือเก้าอี้ และยังพบได้ในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติโดยเฉพาะผู้ที่มีรอยช้ำร่วมกับการมีเลือดออกตามไรฟันหรือเลือดกำเดาไหลได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเกิดรอยช้ำ ควรทำอย่างไร

รอยช้ำมักหายไปเองภายในเวลาไม่นาน แต่รอยช้ำมักมาพร้อมกับอาการเจ็บและบวม โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากที่สุดในช่วง 1–2 วันแรกหลังได้รับบาดเจ็บ และสีของอาการช้ำที่ปรากฏจะเปลี่ยนไปตามเวลา ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลที่จะช่วยลดรอยช้ำและบรรเทาอาการเจ็บที่อาจเกิดขึ้นนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ประคบน้ำแข็งในบริเวณที่ช้ำเป็นเวลาประมาณ 15 นาทีทุก ๆ 1 ชั่วโมง โดยควรห่อน้ำแข็งด้วยผ้าสะอาดเพื่อให้ไม่น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ซึ่งนอกจากการประคบน้ำแข็งจะช่วยหยุดเลือดที่ไหลอยู่ใต้ผิวหนังแล้ว ยังช่วยลดอาการอักเสบและบวมได้อีกด้วยหลังประคบภายใน 24 ชั่วโมงแรก
  • วางแผ่นประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการตึงบริเวณกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาปวดได้ ใช้ประคบหลังจาก 24 ชั่วโมงแรก
  • ยกอวัยวะในบริเวณที่มีรอยช้ำให้สูงขึ้นกว่าหัวใจ เพื่อให้เลือดในบริเวณดังกล่าวไหลกลับเข้าสู่หัวใจ
  • พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการใช้ร่างกายหรือกล้ามเนื้อมากเกินไปโดยเฉพาะในบริเวณที่ช้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
  • หากมีอาการปวดหรือบวม สามารถใช้ยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ อย่างไอบูโพรเฟน เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

นอกจากนี้อาการช้ำยังอาจบรรเทาได้เร็วยิ่งขึ้นด้วยวิธีอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจำเป็นการทาว่านหางจระเข้สดในบริเวณที่ช้ำ ใช้ครีม เจล เซรั่มหรือการใช้อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวิตามินซี กินผักและผลไม้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะสับปะรด เพราะมีสารโบรมีเลน (Bromelain) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการและลดการอักเสบได้

รอยช้ำและอาการที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีรอยช้ำควรไปพบแพทย์หากรู้สึกเจ็บ ปวด หรือบวมอย่างรุนแรงในบริเวณที่ช้ำหรือมีอาการเจ็บติดต่อกันมากกว่า 3 วันหลังได้รับอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เกิดรอยช้ำบ่อย อาการช้ำไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2 สัปดาห์ มีอาการช้ำพร้อมอาการปวดหรือมีรอยช้ำขนาดใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัวหรือเป็นผู้ที่เกิดการช้ำง่าย เคยมีภาวะเลือดออกอย่างรุนแรงหรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการร้ายแรงอื่น ๆ ได้ เข่น ภาวะการเกิดลิ่มเลือดหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเลือด เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากรู้สึกปวดแน่นตึงมากในบริเวณที่ช้ำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีรอยช้ำขนาดใหญ่และปวดอย่างรุนแรง เพราะอาจเป็นอาการของภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome) ที่อาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันการเกิดรอยช้ำสามารถทำได้ด้วยการเก็บของให้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันการสะดุดสิ่งของบนพื้นล้ม จัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในห้องอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเดินชนหรือกระแทก เปิดไฟหรือใช้ไฟฉายหากต้องเดินในที่แคบหรือที่ที่ไม่สามารถเดินได้อย่างสะดวก สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะร่างกาย หรือกินวิตามินต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดรอยช้ำตามร่างกายได้