ไตอักเสบ

ความหมาย ไตอักเสบ

ไตอักเสบ (Glomerulonephritis) คือภาวะการอักเสบของกลุ่มเลือดฝอยของไต (Glomeruli) ซึ่งปกติจะทำหน้าที่กรองของเหลวส่วนเกินหรือของเสียที่ปะปนมาในกระแสเลือดให้กลายเป็นปัสสาวะ ไตอักเสบอาจเป็นภาวะโรคที่เกิดขึ้นเอง แต่ในบางกรณีอาจเป็นผลพวงมาจากโรคชนิดอื่น อาทิ โรคพุ่มพวง โรคเบาหวาน ซึ่งไตอักเสบแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Glomerulonephritis) และไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic Glomerulonephritis) ไตอักเสบบางชนิดก่อให้เกิดโรคไตวายได้ในที่สุด ทั้งนี้กระบวนการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน

ไตอักเสบ

อาการของไตอักเสบ

ผู้ป่วยอาจทราบว่าเป็นโรคไตอักเสบได้ทั้งจากผลการตรวจปัสสาวะ หรืออาการที่แสดงออกทางร่างกาย โดยสัญญาณบ่งชี้อาการอักเสบของไต ได้แก่

  • การปนเปื้อนของเซลล์เม็ดเลือดแดงในน้ำปัสสาวะ (Hematuria) จนกลายเป็นสีชมพู หรือสีโคล่า
  • เกิดอาการบวมน้ำที่บริเวณใบหน้า มือ เท้า หรือท้อง
  • มีความดันเลือดสูง
  • ปัสสาวะเป็นฟองเนื่องจากมีโปรตีนส่วนเกินปนออกมาในปัสสาวะ
  • อาการที่ปรากฏตามร่างกาย เช่น อ่อนล้า เหนื่อย เพลีย ปวดข้อ เป็นผื่นคัน หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

สาเหตุของไตอักเสบ

ไตอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ อาจเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ หรือบางครั้งอาจไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยบางประการที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในหน่วยไตได้ มีดังนี้

การอักเสบที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการติดเชื้อ

ภาวะไตอักเสบเกิดขึ้นจากการอักเสบหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากการฟื้นตัวของอาการเจ็บคอ หรือการติดเชื้อของผิวหนัง (Impetigo) จากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างโปรตีนต่อต้านเชื้อโรคในร่างกาย (Antibody) จำนวนมาก ซึ่งสามารถเข้าไปในหน่วยไตและก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสมักจะเกิดขึ้นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

นอกจากการติดเชื้อประเภทแรกแล้ว ภาวะไตอักเสบอาจเกิดได้ผ่านการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ (Bacterial Endocarditis) กล่าวคือ การแพร่เชื้อของแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจ จะยิ่งอันตรายหากเป็นโรคหัวใจประเภทอื่นร่วมด้วย เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือหัวใจพิการ เป็นต้น แม้ว่าที่มาที่ไปของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองโรคนี้จะยังไม่ชัดเจน แต่ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคไตอักเสบได้

ท้ายที่สุดภาวะไตอักเสบยังเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ (Viral Infections) ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บี หรือไวรัสตับอักเสบ ซี

การอักเสบจากโรคทางภูมิคุ้มกัน

โรคเกี่ยวกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบได้ อาทิ โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง โดยการติดเชื้อเรื้อรังจากการแพ้ภูมิตัวเองจะส่งผลต่ออวัยวะในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง กระแสเลือด ข้อกระดูก ไต หัวใจ หรือปอด เป็นต้น นอกจากนี้ หากระบบภูมิคุ้มทำงานหนักผิดปกติอย่างโรคกู๊ดพาสเจอร์ (Goodpasture’s Syndrome) ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องปอดและก่อให้เกิดไตอักเสบได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีที่พบว่าปัสสาวะมีเลือดปะปนออกมาด้วย อาจเป็นอาการของโรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ (IgA Nephropathy) ซึ่งเป็นผลจากการสะสมของแอนติบอดี้ชนิดไอจีเอ (IgA) ในหน่วยไต ทั้งนี้ การพัฒนาโรคของไตอักเสบชนิดไอจีเออาจใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยจะไม่แสดงอาการใด ๆ  

การอักเสบจากกลุ่มโรคหลอดเลือดอักเสบ

ไตอักเสบเกิดจากโรคหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดอักเสบโพลีอาเทอร์ไรติส (Polyarteritis) ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางทั่วทั้งร่างกายอักเสบ เช่น บริเวณหัวใจ ไต และลำไส้
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ (Granulomatosis with Polyangiitis) ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางในบริเวณปอด ทางเดินหายใจตอนบน รวมไปถึงไตนั้นมีการอักเสบ

การอักเสบจากปัจจัยโรคอื่น ๆ

นอกเหนือไปจากปัจจัยหลักทั้ง 3 ประการที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบของไตแล้ว ยังมีปัจจัยเสริมอื่นที่อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของไต อาทิ โรคความดันเลือดสูง ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานของไต ทั้งนี้ในทางกลับกันภาวะไตอักเสบยังก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง ส่งผลต่อการควบคุมปริมาณโซเดียมภายในร่างกาย

การอักเสบของไตยังเกิดได้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งชะลออาการได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้เป็นปกติ อีกทั้งโรคไตอักเสบยังเกิดขึ้นได้จากภาวะอื่น ๆ เช่น ฟอคัล เซกเม็นทอล โกลเมอรูโลสเคลโรซิส (Focal Segmental Glomerulosclerosis) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือเป็นผลมาจากโรคชนิดอื่นก็ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคไตอักเสบมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคมะเร็งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma) มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia) หรือมะเร็งปอดอีกด้วย

การวินิจฉัยไตอักเสบ

การตรวจวินิจฉัยโรคไตอักเสบมักจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะ โดยการวินิจฉัยประกอบด้วย 3 วิธีหลัก คือ

  • การตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำผลตรวจของผู้ป่วยซึ่งแสดงจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ปะปนมากับน้ำปัสสาวะมาหาความผิดปกติของหน่วยไต ในขณะเดียวกัน อาจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวในผลตรวจได้เช่นกัน
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจระดับของเสียที่ปะปนมากับเลือด เช่น การตรวจหาค่าระดับครีเอตินิน (Creatinine) หรือการตรวจหาค่าระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือด (Blood Urea Nitrogen: BUN) โดยผลเลือดของผู้ป่วยสามารถระบุได้ว่าเกิดการคั่งของของเสียในร่างกายหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของไตอักเสบชนิดต่าง ๆเช่น ตรวจดูร่องรอยการติดเชื้อในร่างกาย หรือตรวจเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • การวินิจฉัยผ่านการเจาะเก็บเนื้อเยื่อไต (Kidney Biopsy) แพทย์จะใช้เครื่องมือเข็มตัดเอาชิ้นเนื้อเยื่อไตมาส่องตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของการอักเสบที่แน่ชัด ทั้งนี้วิธีการวินิจฉัยด้วยการเจาะเนื้อเยื่อนี้ใช้ยืนยันผลการตรวจได้อย่างชัดเจนมากที่สุด

การรักษาไตอักเสบ

เนื่องจากโรคไตอักเสบเกิดจากหลากหลายเหตุปัจจัย เช่นในกรณีการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสในลำคอที่ส่งผลให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาที่ต้นเหตุเพราะในกรณีนี้อาจหายเองได้ การรักษาผู้ป่วยโรคไตอักเสบมักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยไตอักเสบที่เป็นผลจากการติดเชื้อทางระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคความดันโลหิตสูง เพราะเหตุนี้วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตอักเสบจึงแตกต่างกันไปในแต่ละกรณีปัจจัยก่อโรค

การรักษาดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น

ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ซึ่งช่วยในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ งดอาหารรสเค็ม หรืองดเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมจำนวนมาก

ในขณะเดียวกันผู้ที่สูบบุหรี่ควรงดหรือเลิกบุหรี่ เพราะว่าการงดสูบบุหรี่ช่วยชะลอการเติบโตของโรคที่เกิดจากการอักเสบของไตได้ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจด้วย

การรักษาในระดับที่รุนแรง

การรักษาด้วยการใช้ยาในกลุ่มยากดภูมิต้านทาน

วิธีการใช้ยากดภูมิต้านทาน (Immunosuppressants) สำหรับการอักเสบที่เป็นผลจากโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การใช้ยากดภูมิต้านทานจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ทำงานหนักเกินไป อย่างไรก็ตามการใช้ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยควบคุมปริมาณยาและดูแลอย่างใกล้ชิด

การรักษาด้วยยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ซึ่งจัดเป็นยาในกลุ่มยากดภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง ใช้ในปริมาณน้อยเพื่อรักษาโรคไตอักเสบได้ แม้ว่ายาชนิดนี้จะนิยมใช้ในปริมาณมากเพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิดด้วยก็ตาม

การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อใช้ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยปกติแพทย์จะสั่งลดปริมาณยาลง หรือให้ผู้ป่วยเลิกใช้ยาเมื่อไตเริ่มได้รับการฟื้นฟูระยะหนึ่งแล้ว

การรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานชนิดอื่น ๆ เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ทาโครลิมัส (Tacrolimus)  อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) และริทูซิแมบ (Rituximab)

การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส หรือการรักษาตามอาการส่วนตัว เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic) ในการรักษาอาการบวมน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากการสะสมของเหลวในร่างกาย

การรักษาความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการอักเสบของไตรักษาได้ด้วยยาที่มีสรรพคุณควบคุมความดันเลือด ไปจนถึงลดปริมาณโปรตีนที่ขับออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะ เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่มเอซีอีอินฮิเบเตอร์ (Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitors) หรือยาลดความดันโลหิตกลุ่มเออาร์บี (Angiotensin Receptor Blockers) โดยแพทย์มักให้ผู้ป่วยใช้ยาลดความดันนี้ถึงแม้ว่าระดับความดันเลือดจะยังไม่สูงมาก เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อไตให้น้อยลง

การรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง

ผู้ป่วยโรคไตอักเสบจะได้รับการแนะนำให้ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพราะหากมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้  แพทย์มักนิยมให้ยาลดไขมันกลุ่มสตาติน (Statins) ในการควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล

การรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง

น้ำเหลือง (Plasma) คือของเหลวที่อยู่ในเลือด ประกอบด้วยโปรตีนหลายชนิด อย่างเช่น สารภูมิต้านทานซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้น การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasma Exchange) จึงเป็นวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่ง กระบวนการแยกน้ำเหลืองออกจากเลือดของผู้ป่วย ทำได้โดยหลังจากที่น้ำเหลืองถูกแยกออกไปโดยผ่านการใช้เครื่องมือพิเศษแล้ว จะใส่สารทดแทนน้ำเหลืองเข้าไปแทน ก่อนส่งเลือดกลับเข้าร่างกายของผู้ป่วยในภายหลัง

การรักษาโรคไตเรื้อรังและโรคไตวาย

ในกรณีที่อาการไตอักเสบรุนแรงจนถึงขนาดไตวาย ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือด (Kidney Dialysis) ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดของเหลวและของเสียสะสมที่อยู่ในเลือดก่อนจะส่งกลับคืนสู่ร่างกายของผู้ป่วย หรืออีกวิธีหนึ่งคือการปลูกถ่ายไตใหม่ (Kidney Transplant) เป็นการผ่าตัดศัลยกรรมแทนที่ไตเดิมด้วยอวัยวะไตบริจาค

การใช้วัคซีน

เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตอักเสบมักมีภูมิต้านทานต่ำทำให้อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะแทรกซ้อน หรือการอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อหวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบสำหรับผู้ป่วยโรคไตอักเสบที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งนี้ วัคซีนอาจประกอบด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Seasonal Flu Influenza Vaccine) หรือวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumonia Influenza Vaccine)

ภาวะแทรกซ้อนของไตอักเสบ

เนื่องจากการอักเสบของไตสร้างความเสียหายต่อการทำงานของหน่วยไต ส่งผลให้เกิดของเหลวส่วนเกิน หรือของเสียซึ่งจะเข้าไปสะสมอยู่ตามอวัยวะส่วนอื่น ๆ ภายในร่างกาย ในบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น

  • กลายเป็นโรคไตเรื้อรัง ไตของผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถการกรองของเสียต่าง ๆ ซึ่งหากประสิทธิภาพในการกรองของเสียลดลงเหลือน้อยกว่า 10% ก่อให้เกิดโรคไตวายขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรับการรักษาได้ด้วยการฟอกเลือด หรือการปลูกถ่ายไตใหม่
  • ไตวายเฉียบพลัน เกิดขึ้นจากหน่วยไตทำงานผิดปกติจนเกิดการสะสมของเสียส่วนเกินในกระแสเลือดอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้โดยการฟอกเลือด
  • โปรตีนรั่วในปัสสาวะ เกิดจากการขับโปรตีนจำนวนมากมากับปัสสาวะจนเกิดการสูญเสียโปรตีนในกระแสเลือด พบได้จากอาการบวมน้ำซึ่งมักจะปรากฏที่บริเวณเปลือกตา ท้อง หรือเท้า และมักเกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง ความเสียหายในระบบไต อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ

การป้องกันไตอักเสบ

โรคไตอักเสบเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถป้องกันได้ เช่น การควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการงดสูบบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงในการอักเสบของไตได้ นอกจากนี้ การควบคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคเบาหวานซึ่งกระตุ้นให้ใตทำงานผิดปกติก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันสำหรับผู้ป่วย การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี  หรือไวรัสตับอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหลายประการที่ก่อให้เกิดโรคไตอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ไตอักเสบที่เกิดขึ้นจากกรรมพันธ์ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสในลำคอหรือผิวหนัง แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสไม่ให้ติดต่อไปยังบุคคลรอบข้าง แต่ยาชนิดดังกล่าวก็ไม่สามารถหยุดการพัฒนาของโรคไตอักเสบในผู้ป่วยได้