ผู้ชายมีนม (Gynecomastia)

ความหมาย ผู้ชายมีนม (Gynecomastia)

Gynecomastia หรือภาวะผู้ชายมีนม เป็นอาการที่เนื้อเยื่อเต้านมของผู้ชายเกิดการขยายตัว ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเกิดจากการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมลักษณะความเป็นหญิงที่มากเกินไป หรืออยู่ในระดับที่ไม่สมดุลกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ควบคุมลักษณะความเป็นชาย ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงนัก แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บที่เต้านมหรือรู้สึกอายได้ และหากเป็นไม่หายอาจต้องใช้ยารักษาหรือเข้ารับการผ่าตัด

อาการของภาวะผู้ชายมีนม

ผู้ชายที่มีภาวะ Gynecomastia อาจมีเต้านมโตทั้งสองข้างหรือเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจรู้สึกเจ็บเต้านมเมื่อสัมผัสโดนและรู้สึกไวต่อสิ่งกระตุ้น แต่มักไม่มีอาการเจ็บที่รุนแรง นอกจากนี้ อาจมีอาการคันที่หัวนมหรือหัวนมแข็งด้วย

1881 Gynecomastia rs

สาเหตุของภาวะผู้ชายมีนม

ภาวะนี้มักเกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งควบคุมลักษณะความเป็นหญิงไม่สมดุลกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งควบคุมลักษณะความเป็นชาย โดยฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เพียงแต่คนเราจะมีฮอร์โมนของเพศตรงข้ามน้อยกว่า และเมื่อผู้ชายมีฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนในร่างกายสูงมากเกินไปหรือไม่สมดุลกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จึงทำให้เกิดภาวะ Gynecomastia ขึ้น

โดยความผิดปกติดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เองในช่วงวัยต่อไปนี้

  • วัยแรกเกิด เนื่องจากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนขณะอยู่ในครรภ์แม่ โดยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ชายวัยแรกเกิดมีหน้าอกโต ซึ่งอาการมักหายไปหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์
  • วัยแตกหนุ่ม อาการมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 12-14 ปี เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายของผู้ชายมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาการมักหายไปหลังจากช่วงเริ่มแตกหนุ่มประมาณ 6-24 เดือน
  • วัยกลางคน ช่วงอายุที่พบได้บ่อย คือ ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 50-80 ปี

นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น

การใช้ยาบางชนิด เช่น

  • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น ยาฟิแนสเทอไรด์ที่ใช้รักษาอาการต่อมลูกหมากโต รวมถึงการให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนในการยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
  • ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างยาไซเมทิดีน และยาโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ที่ใช้บรรเทาอาการกรดไหลย้อน
  • ยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ เช่น ยาคีโตโคนาโซลที่ใช้รักษาเชื้อรา และเมโทรนิดาโซลที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
  • ยาลดความดันโลหิต เช่น ยาเมทิลโดปา ยากลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยากลุ่มเอซีอีอินฮีบิเตอร์ เป็นต้น
  • ยาคลายกังวัลอย่างยาไดอะซีแพม และยาต้านเศร้ากลุ่มไตไซคลิก
  • ยาอื่น ๆ เช่น ยาอนาบอลิกแอนโดรจีนิกสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาฮอร์โมนเพศชายแบบสังเคราะห์ ยาดิจิท็อกซิน ยาต้านเอชไอวีสูตรฮาร์ท หรือการใช้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น

โรคและภาวะเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยบางอย่างอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงต่ำเกินไป หรือมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป เช่น โรคอ้วน ภาวะขาดสารอาหาร โรคตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง ไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกบางชนิด อย่างเนื้องอกบริเวณลูกอัณฑะ เนื้องอกต่อมหมวกไต หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ กลุ่มอาการชีแฮน อาการบาดเจ็บหรือติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์เพศชาย เป็นต้น

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่าสมุนไพรอย่างน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ หรือน้ำมันสกัดจากต้นชาที่เป็นส่วนผสมในสบู่ ยาสระผม โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ อาจทำให้เกิดภาวะ Gynecomastia อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่าสมุนไพรเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดภาวะนี้ได้จริง ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติดก็อาจมีผลต่อการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เช่น การใช้แอมเฟตามีน กัญชา เฮโรอีน หรือเมทาโดน เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะผู้ชายมีนม

ในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพและประวัติการใช้ยา รวมถึงสอบถามว่าคนในครอบครัวมีอาการหรือภาวะของโรคใดบ้าง จากนั้นแพทย์อาจตรวจดูความผิดปกติที่เนื้อเยื่อบริเวณเต้านม ตรวจท้อง และตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงอาจตรวจเลือดและตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เต้านมโตขึ้น แต่หากยังไม่ทราบผลการตรวจที่ชัดเจน แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การทำ CT Scan ซึ่งเป็นการตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ การทำ MRI Scan ซึ่งเป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การอัลตราซาวด์ลูกอัณฑะ หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ เป็นต้น

การรักษาภาวะผู้ชายมีนม

หากสังเกตพบว่าเต้านมของตนโตขึ้น ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยอาการของ Gynecomastia อาจหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ในหลาย ๆ กรณี แพทย์จึงมักนัดให้ผู้ป่วยมาตรวจติดตามอาการเป็นระยะ เพื่อดูว่าเต้านมยุบลงหรือไม่

ในส่วนของการรักษา หากเต้านมโตเนื่องจากการใช้ยา แพทย์อาจสั่งให้หยุดใช้ยาชนิดนั้นหรือให้ใช้ยาชนิดอื่นแทน แต่หากภาวะ Gynecomastia เกิดจากอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ หรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

การใช้ยา
ยาที่อาจนำมาใช้ในการรักษา คือ

  • ยาฮอร์โมนทดแทน ซึ่งใช้ได้ผลดีกับผู้สูงอายุที่มีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ
  • กลุ่มยาเซิร์ม อย่างทาม็อกซิเฟน ซึ่งช่วยลดขนาดเต้านมที่โตขึ้นได้ แต่ยาชนิดนี้ไม่สามารถกำจัดเนื้อเยื่อเต้านมที่โตขึ้นออกไปทั้งหมดได้ มักใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดหรือมีอาการรุนแรง รวมถึงอาจใช้ยาโคลมิฟีนในการรักษาด้วย แต่จะใช้ติดต่อกันเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
  • ยาดานาซอล ซึ่งเป็นการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อช่วยลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้รักษาเท่าวิธีอื่น ๆ

การผ่าตัด
ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ผู้ป่วยมีอาการปวดที่เต้านมอย่างรุนแรง มีอาการกดเจ็บที่เต้านม หรือรู้สึกอายที่เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อเต้านมส่วนเกินออกไป โดยการผ่าตัดอาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดดูดไขมัน เป็นการผ่าตัดเพื่อดูดเอาไขมันที่เต้านมออกมา แต่ไม่ใช่การดูดเอาเนื้อเยื่อที่ต่อมเต้านมออกไป
  • การผ่าตัดเนื้อเยื่อเต้านม เป็นการผ่าตัดเอาต่อมเนื้อเยื่อที่เต้านมออกไป โดยแพทย์จะทำรอยกรีดที่ผิวหนังเพียงเล็กน้อยและใช้การส่องกล้องควบคู่ไปด้วย ทำให้มีแผลขนาดเล็กเท่านั้นและใช้เวลาไม่นานในการพักฟื้น วิธีนี้อาจนำมาใช้หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เป็นแบบไม่หายขาด หรือในกรณีที่ใช้ยารักษาสภาพเต้านมให้กลับเป็นปกติแล้วไม่ได้ผล

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะผู้ชายมีนม

แม้ส่วนใหญ่อาการเต้านมโตในผู้ชายจะหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ผู้ป่วยก็อาจมีอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอายเมื่อมีเต้านมโตขึ้นอย่างเด่นชัด จนต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่มีการเปิดหน้าอก เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องล็อกเกอร์ การว่ายน้ำ การอาบน้ำในที่สาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน จนเกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือมีอาการซึมเศร้าได้
  • แผลเป็น หากผู้ป่วยมีอาการเต้านมโตเป็นเวลานานกว่า 1 ปีขึ้นไป อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมาได้ ซึ่งอาจต้องผ่าตัดเพื่อนำแผลเป็นออกไป

การป้องกันภาวะผู้ชายมีนม

การหลีกเลี่ยงปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Gynecomastia ได้

  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติบริเวณเต้านมของตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นปัจจัยทำให้เต้านมโตขึ้นได้
  • หากกำลังใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะนี้ อาจปรึกษาแพทย์ว่าสามารถใช้ยาชนิดอื่นแทนได้หรือไม่
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ

หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือสารบางชนิดอย่างสเตียรอยด์และเอนโดรเจน