ดูดไขมัน ทำอย่างไร อันตรายหรือไม่

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นกระบวนการศัลยกรรมเพื่อความงามที่ใช้เทคนิคในการดูดไขมันส่วนเกินในชั้นใต้ผิวหนังออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเฉพาะจุด ซึ่งเป็นจุดที่ลดไขมันได้ยากแม้ว่าจะควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว เช่น หน้าท้อง สะโพก ต้นขา ก้น แขน หรือคอ

ดูดไขมัน

โดยทั่วไปการดูดไขมันมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือวิธีแบบดั้งเดิมโดยการใช้การดมยาสลบ และวิธีปัจจุบัน โดยการดูดไขมันด้วยเทคนิค Tumescent หรือการใส่ยาชาและน้ำเกลือที่เนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งการดูดไขมันเทคนิค Tumescent นั้นถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1987 โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังจากแคลิฟอร์เนีย และกลายเป็นวิธีการดูดไขมันวิธีหลักโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจนถึงทุกวันนี้

ขั้นตอนการดูดไขมัน

การศัลยกรรมดูดไขมัน เป็นการดูดเอาไขมันที่ไม่ต้องการในบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายออกด้วยท่อขนาดเล็กและอุปกรณ์สุญญากาศ โดยจะทำการดูดไขมันบริเวณที่ต้องการออก ขั้นตอนหลัก ๆ ของการดูดไขมัน ได้แก่

  • ฉีดสารละลายน้ำเกลือ (Saline) ซึ่งประกอบด้วยยาชาและอะดรีนาลีนเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมันเพื่อช่วยระงับความรู้สึกและลดการเสียเลือด ข้อดีของการดูดไขมันด้วยเทคนิคนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ช่วยให้สามารถเอาไขมันออกมาได้ง่าย และช่วยลดความรู้สึกไม่สบายต่าง ๆ หลังขั้นตอนการดูดไขมัน นอกจากนั้นยังช่วยลดรอยช้ำและบวม
  • แพทย์จะใส่ท่อขนาดเล็กลงในเนื้อเยื่อไขมัน และใช้อุปกรณ์สุญญากาศดูดไขมันในบริเวณที่ต้องการ
    และหลังจากทำเสร็จแล้ว แพทย์จะใช้ผ้าพันแผลพันรอบบริเวณที่ดูดไขมันเพื่อช่วยลดอาการบวมและทำให้แผลหายได้ง่ายยิ่งขึ้น

การดูดไขมัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูปร่างและน้ำหนักตัวที่ปกติและต้องการจะมีสัดส่วนที่ดีขึ้นหรือต้องการที่จะมีสัดส่วนในแบบที่ต้องการ และมีบริเวณที่มีการสะสมของไขมันที่กำจัดได้ยากแม้จะมีการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารแล้วก็ตาม ซึ่งการดูดไขมันไม้ได้เป็นการรักษาโรคอ้วน

ผู้ที่จะทำการดูดไขมันควรได้รับการพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ดังต่อไปนี้

  • มีความคาดหวังที่เป็นไปตามความเป็นจริง และมีน้ำหนักตัวเกินเล็กน้อยจนถึงปานกลาง
  • มีความเข้าใจว่า การดูดไขมันไม่ได้ทำเพื่อการลดน้ำหนัก แต่การดูแลสุขภาพหรือการรักษาสมดุลของการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพื่อผลลัพธ์ที่ดีหลังจากการดูดไขมัน
  • มีความพยายามในการกำจัดไขมันส่วนเกินจากการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายหรือเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก
  • ผิวกระชับ ยืดหยุ่น และมีสุขภาพกายและใจที่เป็นปกติดี
  • มีรูปร่างที่มีไขมันไปสะสมและทำให้เกิดความไม่สมส่วนของร่างกายอย่างเห็นได้ชัด

เทคนิคการดูดไขมัน

ผู้ที่เข้ารับการดูดไขมันอาจไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยจะใช้ระยะเวลาของขั้นตอนการดูดไขมันประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทของการดูดไขมัน และหลังทำเสร็จอาจต้องสังเกตอาการอีกประมาณ 1 ชั่วโมง และควรทราบตั้งแต่ในเบื้องต้นก่อนว่า หลังจากการดูดไขมันเรียบร้อยแล้ว อาจจะมีน้ำไหลซึมออกจากแผลได้ นอกจากนั้น บริเวณที่ดูดไขมันอาจจะเกิดอาการช้ำ บวม และมีความเจ็บปวดหลังการดูดไขมัน แต่จะเป็นเพียงไม่กี่สัปดาห์

การเตรียมความพร้อมก่อนการดูดไขมัน

ก่อนจะทำการดูดไขมัน ต้องมีการปรึกษาพูดคุยกับศัลยแพทย์ถึงความคาดหวังและเป้าหมายของการศัลยกรรมดูดไขมัน มีการตรวจสอบประวัติและตรวจสอบทางการแพทย์ต่าง ๆ และบอกกับศัลยแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา การใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือมีการใช้สมุนไพรชนิดใดหรือไม่

ศัลยแพทย์ของจะแนะนำให้หยุดใช้ยาบางชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ก่อนการเข้ารับการดูดไขมันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วย อาจเป็นข้อห้ามในการดูดไขมัน

ข้อห้ามในการดูดไขมัน

การดูดไขมันเป็นหนึ่งในกระบวนการผ่าตัดที่มาพร้อมกับความเสี่ยง ซึ่งผู้เข้ารับการดูดไขมันต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี โดยที่อย่างน้อยต้องมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีผิวหนังที่เด้งกระชับ ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้น แพทย์จะไม่แนะนำให้ดูดไขมัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การไหลเวียนโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การดูแลตัวเองหลังการดูดไขมัน

การดูดไขมันนั้นมีผลถาวรสำหรับไขมันที่ดูดออกไปแล้ว อย่างไรก็ตามก็สามารถมีไขมันเพิ่มมาได้ใหม่ หรือมีน้ำหนักเพิ่มได้อีก หากไม่ดูแลการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายที่ดี หากต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ต้องควบคุมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อไป หลังจากขั้นตอนการดูดไขมันเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์อาจให้สวมใส่ชุดบีบกระชับสัดส่วนเป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน เพื่อช่วยในการควบคุมอาการบวมที่เกิดขึ้น และอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในบางราย

ผลข้างเคียงของการดูดไขมัน

หลังจากการดูดไขมันเสร็จสิ้นเรียบร้อยจะเกิดสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เช่น

  • มีการบวมและช้ำ ซึ่งอาจเป็นนานถึง 6 เดือน
  • มีอาการชา ซึ่งจะหายไปเองภายใน 6-8 สัปดาห์
  • อาจมีรอยแผลเป็น
  • เกิดการอักเสบในบริเวณที่รับการรักษา
  • มีการสะสมของของเหลว เป็นถุงใต้ผิวหนัง

ในบางรายอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ผิดพลาด ดังต่อไปนี้

  • หลังจากการดูดไขมันแล้วเป็นก้อนไม่สม่ำเสมอ
  • การเปลี่ยนแปลงของสีผิวในพื้นที่ที่ได้รับการรักษา
  • ห้อเลือด
  • เกิดอาการชาเป็นระยะเวลาหลายเดือน
  • อาจสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายในระหว่างขั้นตอนการดูดไขมัน เช่น เข็มหรือท่อแทงทะลุลำไส้
  • ภาวะไขมันหรือลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
  • ปอดบวมน้ำ หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

นอกจากนั้น ขั้นตอนการรักษาอาจทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น มีเลือดออกมาก เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เกิดการติดเชื้อ หรือมีอาการแพ้ยาชา

ระยะเวลาในการพักฟื้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เข้ารับการดูดไขมันจะสามารถกลับมาทำงานได้ภายในไม่กี่วัน และสามารถกลับมาทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ แต่ระยะเวลาจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล